'กสทช.' เข้มเรียกสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล 9 ช่อง รับทราบปัญหาปมเสนอข่าวเยาว 14 ปี กราดยิง เข้าข่ายละเมิดจริยธรรมสื่อ-กฎหมายคุ้มครองเด็ก ขึ้นซีจี บอกชื่อจริง ที่อยู่ ข้อมูลส่วนตัว น้ำเสียงผู้ประกาศบางรายสร้างความเกลียดชัง เตรียมสรุปเรื่อง-คำชี้แจง เสนอคณะอนุฯ ผังเนื้อหารายการพิจารณาอีกครั้ง
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 คณะอนุกรรมการผังและเนื้อหารายการ สำนักงาน กสทช. เรียกตัวแทนผู้รับใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล 9 สถานี เข้ารับทราบปัญหากรณีการนำเสนอข่าวเยาวชน อายุ 14 ปี กราดยิงที่ห้างสยามพารากอน ซึ่งมีเนื้อหาที่เข้าข่ายละเมิดจริยธรรมและกฎหมาย แบ่งเป็น
1. กรณีเข้าข่ายเผยแพร่ทางสื่อมวลชนซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก อันอาจไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2556 คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) , 9 MCOT HD (ช่อง 30) มีการบอกชื่อจริงและบ้านเลขที่ของเด็ก
2. กรณีเข้าข่ายเผยแพร่ทางสื่อมวลชนซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก อันอาจไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2566 และฝ่าฝืนเงื่อนไขการอนุญาต ด้านจริยธรรมวิชาชีพของสื่อ ตามข้อ 14 (10) ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 คือ 8 (ช่อง 27) มีการขึ้นข้อความ ซีจี ชื่อจริงเด็ก ผู้ประกาศพูดชื่อจริงเด็ก เสนอภาพบัตรนักเรียนโดยมีชื่อเล่นของเด็ก น้ำเสียงผู้ประกาศบางรายมีลักษณะสร้างความเกลียดชัง, บอกแหล่งซื้อปืน Blank gun มีการอธิบายวิธีการใช้การดัดแปลง ราคา , นำเสนอคลิปการยิงปืนบ่อย, ภาพโรงศพแบบบอกเลข (เด็ด) และภาพศพ (โมเสส) เป็นต้น
3. กรณีเข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขการอนุญาตด้านจริยธรรมวิชาชีพของสื่อ ตามข้อ 14 (10) ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 คือ อมรินทร์ ทีวี เอชดี (AMRIN TV HD) เสนอภาพศพ (เบลอแบบเห็น) นำเสนอบ่อย, ใช้คลิปเด็กคนอื่นมาประกอบข่าว, รูป Passport ผู้เสียชีวิตชาวจีน (เบลอแค่ตาแต่เห็นข้อมูล) , บอกแหล่งซื้อปืน Blank gun มีการอธิบายวิธีการใช้การดัดแปลง ราคา และนำเสนอคลิปการยิงปืนบ่อย, นำคลิปจากโซเชียลมีเดียมานำเสนอ เป็นคลิปคนหลบในห้องน้ำ ซึ่งมีคนโดนยิงกำลังหายใจโรยริน (มีเสียง), น้ำเสียงผู้ประกาศบางรายมีลักษณะสร้างความเกลียดชัง, จ่อไมค์สัมภาษณ์ญาตผู้เสียชีวิตขณะร้องไห้ หลายราย, มีภาพบัตรประชาชน (เบลอหน้าเด็กและเลขบัตรประชาชน แต่เห็นวันเกิด), นำเสนอข้อมูลผลการเรียน, ใช้ภาพศพชาวเมียนมาและชาวจีนเป็น Background ในการนำเสนอข่าว (โมเสส) , อธิบายวิธีการขั้นตอนมากเกินไป มี Infographic เปิดภาพกระเป๋าเป้เด็ก
4. กรณีเข้าข่ายเป็นการนำเสนอในลักษณะที่ไม่เหมาะสม คือ ไทยรัฐทีวี (ช่อง 32) Nation TV (ช่อง 22) เวิร์คพอยท์ ทีวี (ช่อง 23), ONE (ช่อง 31) , GMM25 (ช่อง 25) อาทิ ผู้ประกาศชวนให้คนดู search คำว่า Blank gun ใน Youtube พร้อมกัน "จะรู้ว่ามีอยู่เต็มไปหมด" ขึ้นข้อความ CG ว่า "เด็ก 14 ป่วยจิต - ติดเกม - พกปืน แจ้ง 5 ข้อหา ส่งศาลเยาวชน" Background ประกอบข่าวใช้คำว่าที่ไม่เหมาะสมว่า "ป่วยจิต" และบอกว่าค้นบ้านเด็กย่านบางแค
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเรียกตัวแทนผู้รับใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล 9 สถานี เข้ารับทราบปัญหากรณีการนำเสนอข่าวเยาวชน อายุ 14 ปี กราดยิงที่ห้างสยามพารากอนดังกล่าว ยังไม่ได้มีการลงมติเรื่องบทลงโทษ เป็นเพียงการหารือในรายละเอียดถึงปัญหาการนำเสนอข่าวของแต่ละช่องว่า มีการตรวจสอบพบข้อมูลอะไรบ้าง และรับฟังคำชี้แจงเป็นทางการ ขั้นตอนจากนี้เจ้าหน้าที่ต้องรวบรวมข้อมูลและคำชี้แจงเสนอให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการผังและเนื้อหารายการพิจารณาเป็นทางการอีกครั้ง