‘รองประธาน จ.ส.ท.’ ชี้คำวินิจฉัย ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ปมอำนาจ ‘บริหารงานบุคคล-แต่งตั้ง-โยกย้าย’ พนักงานโรงรับจำนำท้องถิ่น เป็นเพียงคำแนะนำ-ไม่ใช่ข้อผูกพัน ยืนยัน ‘จ.ส.ท.’ มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่เหมือนเดิม
...........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อบ.296/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อบ. 2/2566 ลงวันที่ 5 ม.ค.2566 โดยคดีดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า แม้ว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ได้กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจเกี่ยวกับการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
แต่อำนาจหน้าที่ดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของ รมว.มหาดไทย ในการบริหารงานของกระทรวง และในการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจ รมว.มหาดไทย ในการกำกับดูแลการบริหารงานบุคคลในสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การที่ รมว.มหาดไทย ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานกิจการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546 โดยไม่มีกฎหมายในระดับ พ.ร.บ.ให้อำนาจไว้ จึงเป็นการใช้อำนาจกำกับดูแลนอกเหนือกฎหมายจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ และเกินกว่าที่จำเป็น
ดังนั้น ประธานกรรมการ จ.ส.ท. จึงไม่อาจใช้อำนาจตามข้อ 9 (6) ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานกิจการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546 ออกระเบียบสำนักงาน จ.ส.ท. ว่าด้วยพนักงานสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพนักงานสถานธนานุบาลได้
และเมื่อสถานธนานุบาลเป็นหน่วยงานของเทศบาล ซึ่งเป็นส่วนราชการท้องถิ่นและเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยเทศบัญญัติ เทศบาลย่อมมีอำนาจโดยทั่วไปในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และย่อมมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหารการจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลังของสถานธนานุบาลได้ นั้น (อ่านประกอบ : ‘ศาล ปค.สูงสุด’ชี้‘มท.’ไม่มีอำนาจ‘บริหารบุคคล-แต่งตั้ง-โยกย้าย’พนง.โรงจำนำท้องถิ่น)
ล่าสุด นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในฐานะรองประธานกรรมการจัดการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจในการบริหารงานบุคคลของสถานธนานุบาลของ อปท. (โรงจำนำของท้องถิ่น) ว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเป็นข้อพิพาทเฉพาะบุคคล และศาลไม่ได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ดังนั้น หนังสือสั่งการ จ.ส.ท. เรื่องบริหารงานบุคคล เช่น การแต่งตั้งโยกย้ายผู้จัดการสถานธนานุบาล ผู้ตรวจการสถานธนานุบาลประจำภาค และประจำเขต รวมถึงตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งอาศัยอำนาจตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานกิจการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546 และระเบียบสำนักงาน จ.ส.ท. ว่าด้วยพนักงานสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2551 นั้น จึงไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด
“คดีที่ศาลมีคำพิพากษานั้น เป็นข้อพิพาทเฉพาะบุคคล และศาลไม่ได้มีคำสั่งอย่างอื่น” นายศิริพันธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานกิจการสถานธนานุบาลฯ และระเบียบสำนักงาน จ.ส.ท. ว่าด้วยพนักงานสถานธนานุบาลฯ เป็นการใช้อำนาจกำกับดูแลนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ จะมีผลทำให้คำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ฯที่ออกมาหลังวันที่ 5 ม.ค.2566 เป็นโมฆะหรือไม่
นายศิริพันธ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างนั้น หน่วยที่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาจะต้องมาพิจารณาว่า จะดำเนินการอย่างไรให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลฯ ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการ ดังนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของสถานธนานุบาลของ อปท. ในขณะนี้ จึงยังเป็นอำนาจของสำนักงาน จ.ส.ท. ส่วนในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะต้องมีการหารือกันในรูปองค์คณะก่อน
“คณะผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่กระทรวงมหาดไทย ไปจนกระทั่งคณะกรรมการสถานธนานุบาลฯ และคณะกรรมการโรงรับจำนำของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะต้องนำกรณีมาศึกษาและดำเนินการให้เข้ารูปเข้ารอย และทำให้เป็นไปตามข้อแนะนำของศาล ที่ท่านเห็นจากข้อพิพาท (คดีหมายเลขดำที่ อบ.296/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อบ. 2/2566) นี้ ซึ่งศาลท่านยกให้เห็นเป็นภาพใหญ่ว่า ถ้าจะดูทั้งหมดก็ขอให้ดูให้ครอบคลุมแบบนี้ แต่ไม่ใช่ข้อผูกพัน” นายศิริพันธ์ กล่าว
นายศิริพันธ์ ย้ำด้วยว่า ปัจจุบันระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานกิจการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546 และระเบียบสำนักงาน จ.ส.ท. ว่าด้วยพนักงานสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2551 ยังคงใช้งานได้อยู่ และแม้ว่าจะยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไข แต่ก็ไม่ได้ทำให้ระเบียบฯทั้ง 2 ฉบับ ต้องสูญเสียอำนาจการบังคับใช้ไปแต่อย่างใด
ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนว่าในการแต่งตั้งผู้จัดการสถานธนานุบาล ผู้ตรวจการสถานธนานุบาลประจำภาค และประจำเขต เป็นต้น มีการวิ่งเต้น เพื่อให้ได้ไปประจำในสถานธนานุบาลที่มีสินทรัพย์มากและมีผลกำไรดี นั้น นายศิริพันธ์ กล่าวว่า เรื่องกระบวนการดูแลและบริหารจัดการองค์กรของ จ.ส.ท. นั้น ดำเนินการในรูปคณะกรรมการฯ ในรูปขององค์คณะ จึงยืนยันได้ว่าการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ในสถานธนานุบาลของ อปท. ไม่มีการวิ่งเต้นอย่างแน่นอน
“แน่นอนว่าเรื่องความก้าวหน้าของผู้คนที่เกี่ยวข้อง เช่น คนที่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการก็อยากจะขึ้นเป็นผู้จัดการ ผู้จัดการก็อยากไปเป็นผู้จัดการเขต เป็นผู้จัดการภาค แต่การที่จะไปดำรงตำแหน่งตรงนั้น จะต้องเป็นไปตาม career path (ความก้าวหน้าในสายอาชีพ) การเลื่อนระดับ เลื่อนตำแหน่งหรือไม่ ก็เป็นไปตามวิชาชีพ ในขณะที่การบริหารจัดการก็เป็นไปในรูปองค์คณะ จึงยืนยันว่าไม่มี (การวิ่งเต้น) ไม่มีปรากฏในฝั่งที่ผมรับรู้รับทราบ”
อ่านประกอบ :
‘ศาล ปค.สูงสุด’ชี้‘มท.’ไม่มีอำนาจ‘บริหารบุคคล-แต่งตั้ง-โยกย้าย’พนง.โรงจำนำท้องถิ่น