พลิกคำวินิจฉัย ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ระบุ ‘มหาดไทย’ ไม่มีอำนาจ ‘บริหารงานบุคคล-แต่งตั้ง-โยกย้าย’ พนักงานโรงจำนำท้องถิ่น เหตุเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่ ‘พ.ร.บ.’ กำหนด
..................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อบ.296/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อบ. 2/2566 ลงวันที่ 5 ม.ค.2566 ซึ่งเป็นคดีที่ นาย ส. (ผู้ฟ้องคดี) ยื่นฟ้องประธานกรรมการจัดการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานกรรมการ จ.ส.ท โดยตำแหน่ง) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2)
ในคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง กรณี นาย ส. ซึ่งเป็นพนักงานของสถานธนานุบาล (โรงจำนำ) ของเทศบาลเมืองแห่งหนึ่ง ถูกลงโทษไล่ออกจากการเป็นพนักงาน ตามคำสั่งประธานกรรมการ จ.ส.ท. เนื่องจากกระทำผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามระเบียบสำนักงาน จ.ส.ท. ว่าด้วยพนักงานสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2551
แต่นาย ส.ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของประธานกรรมการ จ.ส.ท. ตามมติของคณะกรรมการจัดการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (คณะกรรมการ จ.ส.ท.) เนื่องจากเห็นว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งนำไปสู่การออกคำสั่งไล่ออก นั้น ไม่ได้ดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่กฎหมาย คือ ระเบียบสำนักงาน จ.ส.ท. ว่าด้วยพนักงานสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2551 กำหนดไว้ จึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง
ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุด พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นเพิกถอนคำสั่งสำนักงาน จ.ส.ท. ที่ 120/2555 ลงวันที่ 5 ก.ย.2555 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดี (นาย ส.) ออกจากการเป็นพนักงานสถานธนานุบาล ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2555 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่ง
โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่า ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาลงโทษผู้ฟ้องคดีใหม่ ให้ถูกต้องตามฐานความผิดและคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ผู้ฟ้องคดีพึงได้รับในระหว่างที่ออกจากการเป็นพนักงานสถานธนานุบาลแก่ผู้ฟ้องคดี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้
@ศาลฯวินิจฉัย‘มท.’ไม่มีอำนาจบริหารงานบุคคล‘โรงจำนำท้องถิ่น’
อย่างไรก็ดี ในการวินิจฉัยคดีดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยตอนหนึ่ง ว่า แม้ว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 และ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545 ได้กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจเกี่ยวกับการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่อำนาจหน้าที่ดังกล่าว เป็นอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของ รมว.มหาดไทย ในการบริหารงานของกระทรวง และในการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเท่านั้น
แต่ไม่ได้ให้อำนาจ รมว.มหาดไทย ในการกำกับดูแลการบริหารงานบุคคลในสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การที่ รมว.มหาดไทย ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานกิจการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546 โดยไม่มีกฎหมายในระดับ พ.ร.บ.ให้อำนาจไว้ จึงเป็นการใช้อำนาจกำกับดูแลนอกเหนือกฎหมายจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ และเกินกว่าที่จำเป็น
ดังนั้น ประธานกรรมการ จ.ส.ท. จึงไม่อาจใช้อำนาจตามข้อ 9 (6) ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานกิจการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546 ออกระเบียบสำนักงาน จ.ส.ท. ว่าด้วยพนักงานสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพนักงานสถานธนานุบาลได้
และเมื่อสถานธนานุบาลเป็นหน่วยงานของเทศบาล ซึ่งเป็นส่วนราชการท้องถิ่นและเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยเทศบัญญัติ เทศบาลย่อมมีอำนาจโดยทั่วไปในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และย่อมมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหารการจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลังของสถานธนานุบาลได้
“…จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว การกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำเท่าที่จำเป็นและเท่าที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยการกำกับดูแลต้องมีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้งและต้องดำเนินการภายในขอบเขตของกฎหมายนั้นด้วย
ซึ่งคำว่ากฎหมาย ตามความหมายของรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2542 ว่า หมายถึงกฎหมายที่ออกโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งโดยทั่วไปได้แก่พระราชบัญญัติหรือกฎหมายอื่นที่มีค่าบังคับเทียบเท่าพระราชบัญญัติเท่านั้น
เมื่อคดีนี้นายกเทศมนตรีเมือง... และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงผู้ฟ้องคดี และออกคำสั่งลงโทษไถ่ผู้ฟ้องคดีออกจากการเป็นพนักงานสถานธนานุบาล ตามลำดับ โดยอาศัยอำนาจตามระเบียบสำนักงาน จ.ส.ท. ว่าด้วยพนักงานสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2551 ที่ออกตามความในข้อ 9 (6) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานกิจการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546
แต่โดยที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ที่บัญญัติให้กระทรวงหนึ่งให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย และมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2545
ที่กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อันเป็นบทบัญญัติที่กำหนดอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการบริหารงานของกระทรวงและในการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเท่านั้น
โดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในการกำกับดูแลการบริหารงานบุคคลในสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้มีอำนาจออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานกิจการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546 ได้
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว โดยไม่มีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ จึงเป็นการใช้อำนาจกำกับดูแลนอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้และเกินกว่าที่จำเป็น ตามมาตรา 283 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมาตรา 282 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ประธานกรรมการจัดการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงไม่อาจอาศัยอำนาจตามความในข้อ 9 (6) ของระเบียบเดียวกัน ออกระเบียบสำนักงาน จ.ส.ท. ว่าด้วยพนักงานสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2551 อันเป็นระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล ซึ่งมีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพนักงานสถานธนานุบาลได้
เมื่อสถานธนานุบาลเป็นหน่วยงานของเทศบาล ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยเทศบัญญัติ อันเป็นบริการสาธารณะที่จัดทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 เทศบาลเมือง... ย่อมมีอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น
และย่อมมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหารการจัดบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง ของสถานธนานุบาลได้ตามมาตรา 283 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2559
และโดยที่นายกเทศมนตรี เป็นผู้ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาลและเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและลูกจ้าง ตามมาตรา 53 และมาตรา 48 สัตตรส แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 ประกอบกับระเบียบสำนักงาน จ.ส.ท. ว่าด้วยพนักงานสถานธนานุบาล พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นระเบียบที่ใช้บังคับอยู่ก่อนที่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานกิจการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2546 จะใช้บังคับ
ข้อ 5 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การบรรจุบุคคลเข้าเป็นพนักงานสถานธนานุบาลจะกระทำได้โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีสถานธนานุบาล ทั้งคดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาจ้างกับเทศบาลเมือง... นายกเทศมนตรีเมือง... จึงเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดีและมีอำนาจในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงผู้ฟ้องคดี ตามข้อ 54 ของระเบียบเดียวกัน
ดังนั้น คำสั่งเทศบาลเมือง... ที่ 1137/2554 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ซึ่งออกโดย นายกเทศมนตรีเมือง... ที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้ฟ้องคดี จึงเป็นการออกคำสั่งโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแล้ว อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองฟังขึ้น (ประธานกรรมการ จ.ส.ท.) กับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น)” ส่วนหนึ่งของคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อบ.296/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อบ. 2/2566 ลงวันที่ 5 ม.ค.2566 ระบุ
@วงในเผยมีการ‘วิ่งเต้น’ เพื่อย้ายเข้าไปดูแล‘โรงจำนำ’กำไรดี
แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการจัดการสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สำนักงาน จ.ส.ท.) ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลสถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ) ของท้องถิ่นทั่วประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) จำนวน 238 แห่ง โดยมีพนักงานของสถานธนานุบาลประมาณ 1,500 คน ขณะที่ สำนักงาน จ.ส.ท. มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประมาณ 30 คน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยว่า จ.ส.ท. ไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลบริหารงานบุคคลในสถานธนานุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้ง โยกย้าย และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน นั้น ที่ผ่านมามีข้อครหาว่า ในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ตรวจการสถานธานุบาลประจำภาค ผู้ตรวจการสถานธนานุบาลประจำเขต และผู้จัดการสถานธนานุบาล มีเรื่องการวิ่งเต้น เพื่อให้ได้ย้ายไปสถานธนานุบาลขนาดใหญ่ที่มีผลกำไรดี
“การบริหารงานบุคคลในปัจจุบัน ในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ตรวจการสถานธนานุบาลประจำภาค ผู้ตรวจการสถานธนานุบาลประจำเขต ผู้จัดการสถานธนานุบาล มีข้อครหาในเรื่องการวิ่งเต้น การให้ผลประโยชน์ เพื่อให้ตนเองได้ย้ายไปสถานธนานุบาลขนาดใหญ่ที่มีผลกำไรดี มีปริมาณทรัพย์รับจำนำมาก (สต็อค) อีกทั้งไม่คำนึงถึงเรื่องอาวุโส ซึ่งเป็นการบั่นทอนกำลังใจของบุคลากรที่ไม่ได้วิ่งเต้น
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ท่านรัฐมนตรีว่าการฯ หรือรัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ควรเข้ามาจัดการแก้ไขให้เป็นเรื่องเป็นราว ขณะเดียวกัน ที่มาในการจัดตั้งสำนักงาน จ.ส.ท. นั้น ไม่ถูกต้องมาตั้งแต่แรก และยังไม่เคยมีการแก้ไข จึงอยากให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาจัดการเรื่องนี้ด้วย” แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา