‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษากลับยกฟ้อง คดีร้องเพิกถอนใบอนุญาต-EIA ‘โรงงานเหล็กเส้น-ท่าเทียบเรือฯ-โรงไฟฟ้า’ จ.ระยอง
.................................
เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.435/2548 คดีหมายเลขแดงที่ อ.702/2566 โดยศาลฯกลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ยกฟ้องในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและประชาชนในจังหวัดระยอง ยื่นฟ้องขอเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และใบอนุญาตการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมต่างๆในพื้นที่มาบตาพุด อ.บ้านฉาง จ.ระยอง
เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การดำเนินการโครงการผลิตเหล็กเส้นของบริษัท เหล็กทรัพย์ตะวันออก จำกัด นั้น ไม่เข้าลักษณะเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ระบุในเอกสารแทบท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ พ.ศ.2553 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนรายงาน EIA และไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยการปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด
และเมื่อในขณะยื่นฟ้องคดีนี้ เจ้าของโครงการยังมิได้ยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบโลหกรรมต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำพื้นที่ จึงไม่มีวัตถุแห่งคดีที่ศาลปกครองจำเป็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของใบอนุญาตโครงการแต่อย่างใด
ส่วนการดำเนินโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าเหลวของบริษัท เอเชีย เทอร์มินัล จำกัด นั้น ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด บริษัท เอเชีย เทอร์มินัล จำกัด ได้ทำหนังสือลงวันที่ 30 มิ.ย.2560 ขอยกเลิกการดำเนินโครงการดังกล่าว และคณะกรรมการผู้ชำนาญการชุดใหม่ที่ทำหน้าที่แทนคณะกรรมการชำนาญการชุดเดิม ได้มีมติเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2560 ยกเลิกโครงการดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้า T.N.P 2 อุตสาหกรรม 2 แห่ง ของบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ 2 จำกัด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ‘โครงการไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม’ นั้น จากข้อเท็จจริง แม้ว่าโครงการนี้จะเสนอโครงการใหม่หลังจากวันที่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม แต่เมื่อในขณะที่ผู้ประกอบการเสนอรายงาน EIA ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณา ยังไม่มีการประกาศกำหนดว่า
โครงการหรือกิจกรรมใดจะถือว่าเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ดังนั้น โครงการดังกล่าสจึงเป็นเพียงโครงการฯที่ต้องจัดทำรายงาน EIA ตามกฎหมายซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้นกำหนดไว้เท่านั้น เมื่อผู้ประกอบการได้จัดทำรายงาน EIA และผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการชำนาญการแล้ว
และแม้ว่าต่อมาจะมีการออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เรื่อง กำหนดประเภท ขนาดแ และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯ พ.ศ.2553 ก็ตาม แต่โครงการดังกล่าว เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื่อเพลิงหลัก และน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรองฉุกเฉิน โดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 121.61 เมกะวัตต์ จึงไม่เข้าลักษณะโครงการฯตามประกาศฯดังกล่าว
ดังนั้น กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนรายงาน EIA เพื่อนำโครงการดังกล่าวกลับไปดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และไม่อาจว่าผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรแต่อย่างใด
“การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าร่วมกันหรือแทนกัน มีคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโครงการผลิตเหล็กเส้นของบริษัท เหล็กทรัพย์ตะวันออก จำกัด โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าเหลวของบริษัท เอเชีย เทอร์มินัล จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้า T.N.P 2 อุตสาหกรรม 2 แห่ง ของบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ 2 จำกัด ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
โดยมีคำสั่งภายใน 30 วัน นับแต่วันคดีถึงที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการทั้ง 3 รายดำเนินการให้แล้วเสร็จ และนำมาประกอบการขออนุญาตประกอบกิจการ ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วยพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้ยกฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสามสิบห้า” คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขดำที่ อ.435/2548 คดีหมายเลขแดงที่ อ.702/2566 ระบุ
คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับพวกรวม 9 คน ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA และออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง จ.ระยอง รวม 9 โครงการ โดยไม่มีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้อง
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้า ร่วมกันหรือแทนกันมีคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโครงการผลิตเหล็กเส้นของบริษัท เหล็กทรัพย์ตะวันออก จำกัด ,โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าเหลวของบริษัท เอเชียเทอร์มินัล จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้า T.N.P 2 อุตสาหกรรม 2 แห่ง ของบริษัท เนชั่น แนลเพาเวอร์ 2 จำกัด ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยมีคำสั่งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการทั้ง 3 ราย ดำเนินการให้แล้วเสร็จ และนำมาประกอบการขออนุญาตประกอบกิจการ
เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โครงการหรือกิจกรรมที่พิพาทในคดีนี้มีจำนวน 3 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าร่วมกันหรือแทนกัน ไม่ออกคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการทั้ง 3 โครงการดังกล่าว ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ต่อศาลปกครองสูงสุด ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นดังกล่าว
อ่านประกอบ :
‘ศาล ปค.สูงสุด’นัดชี้ขาดคดีเพิกถอนใบอนุญาตฯ‘รง.เหล็กเส้น-ท่าเทียบเรือ-โรงไฟฟ้า’ จ.ระยอง