‘ศาลปกครองสูงสุด’ นัดตัดสิน คดี ‘สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน-พวก’ ฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตฯ ‘โรงงานผลิตเหล็กเส้น-ท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าเหลว-โรงไฟฟ้า’ จ.ระยอง เหตุดำเนินการตาม ม.67 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ปี 60 28 ก.ย.นี้
..........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในวันที่ 28 ก.ย.2566 เวลา 14.00 น. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำ ที่ 422/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 663/2558 ระหว่าง สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 กับพวกรวม 35 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กับพวกรวม 9 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 1 กับพวกรวม 9 คน ให้ความเห็นชอบรายงานการประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง จ.ระยอง โดยไม่มีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้อง
ทั้งนี้ ศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้า ร่วมกันหรือแทนกันมีคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโครงการผลิตเหล็กเส้นของบริษัท เหล็กทรัพย์ตะวันออก จำกัด โครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าเหลวของบริษัท เอเชียเทอร์มินัล จำกัด และโครงการโรงไฟฟ้า T.N.P 2 อุตสาหกรรม 2 แห่ง ของบริษัท เนชั่น แนลเพาเวอร์ 2 จำกัด ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยมีคำสั่งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการทั้ง 3 ราย ดำเนินการให้แล้วเสร็จ และนำมาประกอบการขออนุญาตประกอบกิจการ
เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โครงการหรือกิจกรรมที่พิพาทในคดีนี้มีจำนวน 3 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเก้าร่วมกันหรือแทนกัน ไม่ออกคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการทั้ง 3 โครงการดังกล่าว ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ต่อศาลปกครองสูงสุด
@นัดตัดสินคดีเพิกถอนคำสั่ง‘เจ้าท่า’อนุญาตเปลี่ยนวัตถุประสงค์ใช้ท่าเรือ
นอกจากนี้ ในวันที่ 27 ก.ย.2566 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ ส.35/2561 คดีหมายเลขแดงที่ ส.36/2562 ระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ 1 กับพวกรวม 47 คน (ผู้ฟ้องคดี) กับ อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 1 กับพวกรวม 8 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรอียุธยา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 8 คน อนุญาตให้ผู้ประกอบการต่างๆ เข้ามาดำเนินกิจการโรงงานท่าเรือขนส่งสินค้าในท้องที่เขตความรับผิดชอบ แล้วปล่อยปละละเลยให้บริเวณท่าเทียบเรือเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผู้ประกอบการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือเป็นเหตุให้เกิดฝุ่นละออง น้ำเสีย และส่งเสียงดังกระทบกระเทือนต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมเจ้าท่า (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ที่อนุญาตให้บริษัท เอจีอี เทอร์มินอล จำกัด (ผู้ร้องสอด) เปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสได้ จำนวน 2 ท่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2558 ตามใบอนุญาต เลขที่ 007/2555 ลว. 27 มิ.ย.2555 และใบอนุญาตเลขที่ 066/2538 ลว. 27 พ.ย.2538 โดยให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่อนุญาต
เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ี 1 ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ต้องกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานของผู้ร้องสอดให้เป็นไปตามกฎหมาย
หากตรวจสอบพบว่าผู้ร้องสอดมีการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ร้องสอดระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือแก้ไขหรือปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 35 ประกอบกับมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535
แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้เข้าไปตรวจสอบโรงงานของผู้ร้องสอด หรือเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่สงสัยเกี่ยวกับคุณภาพมาตรวจสอบ หรือดำเนินการใดๆตามอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด
อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ี 1 ยังรับในคำให้การว่า การประกอบกิจการของผู้ร้องสอด ไม่ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความเสียหายแก่ประชาชน เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่เคยได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการของผู้ร้องสอด อันแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ี 1 ไม่มีการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ในการกำกับดูแลและติดตามผลการประกอบกิจการของผู้ร้องสอด เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต
ดังนั้น จึงฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 กำหนดให้ต้องปฏิบัติในการกำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ร้องสอด ผู้ถูกฟ้องคดที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบในการเปลี่ยนประเภทการใช้ท่าเทียบเรือตามระเบียบระเบียบกรมเจ้าท่า ว่าด้วยการขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส ได้ พ.ศ.2557
จึงต้องแจ้งให้ผู้ร้องสอดจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่กฎหมายกำหนดก่อน จึงจะพิจารณาอนุญาต แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ี 3 ให้ความเห็นชอบให้ผู้ร้องสอดเปลี่ยนวัตถุประสงค์หรือประเภทการใช้ท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส ให้สามารถใช้เทียบเรือขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอส โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องสอด ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดไม่ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการ อันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายก าหนด จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ถูกฟ้องคดีและผู้ร้องสอด จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด