'ชลน่าน ศรีแก้ว' รมว.สธ. แจงตั้ง 'หมอก้อย' ภรรยา นั่งที่ปรึกษาฯ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน -ผัวเมียกินรวบ สธ.ไม่เกิดขึ้นแน่นอน ดึงช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านสวัสดิการบุคลากรทางการแพทย์-งานประชาสัมพันธ์ เพราะมีประสบการณ์มาก่อน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 66 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีการแต่งตั้ง พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ ภรรยา เป็นคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า อาจจะมีคำถามว่า เหมาะสมหรือไม่ มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เพราะธรรมเนียมปฏิบัติที่ผ่านมา ไม่ว่ายุคสมัยใด ถ้ามีกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารที่ได้อำนาจรัฐมา เช่น รัฐมนตรี ถ้ามีการแต่งตั้งญาติ คนใกล้ชิดมา มักจะถูกเพ่งเล็งว่า จะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ตนก็คำนึงถึงเรื่องนี้พอสมควร ก่อนที่จะแต่งตั้ง พญ.นวลสกุล เป็นที่ปรึกษา แต่มีผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม แล้วจึงตัดสินใจ
นายชลน่าน กล่าวอีกว่า ตนใช้คำว่า ลงทุนในเรื่องนี้ เพราะตำแหน่งคณะที่ปรึกษา ไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการการเมือง ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีเงินเดือน เป็นคณะทำงานที่อาสาเข้ามาทำงานแบบอุทิศตน และงานที่ต้องการปรึกษามีความจำเพาะ โดยเฉพาะ 2 งานที่จะปรึกษาท่านนี้ คือ การสื่อสารด้านสุขภาพ และด้านการเมือง
"คุณหมอก้อยมีประสบการณ์ทำงานเรื่องนี้ ในตำแหน่ง ผอ.กองสารนิเทศปี 2534 มีโอกาสไปทำงานสื่อสาร เช่น เป็นบรรณาธิการ ไปรายการต่างๆ ของทางสื่อ และช่วงที่ตนทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้านในสภา คุณหมอมีผลงานสื่อสารทางการเมืองใน 3 ตำแหน่งนี้ ผลเป็นอย่างไร ตอบยาก แต่ทำให้ตนยืนอยู่ตรงนี้ได้ ในกระแสที่ค่อนข้างไหลบ่าในโซเชียลขณะนี้ ไหลบ่าเรื่องประณามหยามเหยียด เหยียบย่ำ พูดง่ายๆ รถทัวร์ แต่ใช้แนวทางการสื่อสารทางการเมือง สามารถให้ข้อมูล ชี้แจง ตอบโต้ประเด็นการสื่อสารการเมืองได้อย่างดี" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สธ.จริงๆ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำเรื่องนี้ดีอยู่แล้ว แต่การเชื่อมโยงมิติการเมืองเข้าไปอาจได้ไม่เต็มที่นัก ตนเห็นความสำคัญตรงนี้ จึงให้มาเป็นที่ปรึกษา แต่ไม่ได้มาสั่งการข้าราชการ ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน เป็นที่ปรึกษาให้คำที่ปรึกษาผ่านตัวว่าการ และเอาคำที่ปรึกษาไปมอบฝ่ายปฏิบัติ ช่วยกันทำให้สัมฤทธิ์ตามแนวทางที่วางไว้ การสื่อสารหมายถึงการสื่อสารทุกแพลตฟอร์ม ทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อโซเชียล และสื่อบุคคล เพราะวงการสาธารณสุขสื่อบุคคลจำเป็นมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ญาติ และผู้ให้บริการ เป็นหลุมดำของพวกเรา จะทำดีขนาดไหน แต่ถ้ามีสื่อ ซึ่งทุกวันนี้ทุกคนเป็นสื่อ นำข้อเท็จจริงบางส่วนไปเผยแพร่ เป็นภาพลบทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนเข้าใจผิดบ่อยมาก เกิดปัญหาระหว่างคนให้และคนรับบริการ
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า คนรับบริการอาจได้รับบริการที่ไม่ดี ญาติอาจมีโรคเพิ่มขึ้น คือ โรคเครียดกังวลต่างๆ มีอุบัติเหตุ ทะเลาะเบาะแว้งกัน ผู้ให้บริการก็กดดัน บางที่ถึงขั้นลาออก จึงให้คุณหมอก้อยที่มีประสบการณ์สร้างทีมพยาบาลประชาสัมพันธ์ขึ้นมาแล้ว มาช่วยดูว่าจะทำตรงนี้อย่างไร จึงเกิดนโยบายใน Quick Win คือ Care D+ Team ทีมดีต่อใจ เข้าไปทำหน้าที่ตรงนี้ เป็นมุมของการสื่อสาร
นพ.ชลน่าน กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องที่สอง สธ.มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกว่า 5 แสนคน เรื่องขวัญกำลังใจ สภาวะการทำงาน มิติสุขภาพและความเป็นอยู่ สวัสดิภาพ สวัสดิการมีความสำคัญ ท่านมีความคิดมีแนวทางนี้ เคยทำมาอยู่ก็จะใช้ให้เกิดประโยชน์ในการผสมผสานเอาแนวทางวิธีการต่างๆ มาช่วยดูแลบุคลากรด้านการแพทย์และสาธาณสุข เรื่องสวัสดิการต่าง ๆ
"คนที่คอยระแวดระวัง เฝ้าระวังให้ผมบริสุทธิ์ผุดผ่อง คือ คุณหมอก้อย ท่านมีสายตา มีทีมงานคอยเฝ้าระวังคอยดูว่า ผมเองจะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้มากน้อยขนาดไหนอย่างไร ในการทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บุคคลที่จะเข้ามาสัมผัสมาทำงานร่วมกับผม พูดง่ายๆ ต้องกรองพอสมควร ถ้าเราสงสัยไม่มั่นใจ เราจะไม่ค่อยไปยุ่งเกี่ยว พูดง่ายๆ ใครจะเข้ามาหาผมต้องคลีนพอสมควร คนนี้คือคนกรอง เลยมั่นใจว่าในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน สิ่งที่ประชาชนกังวลตรงนี้ สามีภรรยามากินรวบกระทรวงสาธารณสุขจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน จะมีแต่กำไรของพี่น้องประชาชน เรื่องมิติสุขภาพ" นพ.ชลน่าน กล่าว