ป.ป.ช.ขยับสอบปม 2 ธุรกิจ 'กำนันนก' ได้งานสัญญารัฐ 1,300 โครงการ 7 พัน ล. เผยส่งสายสืบลงพื้นที่เก็บข้อมูลแล้ว ดูมีจนท.รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่
เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีการปรากฏข้อมูล บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด และบริษัทรวีกนก ก่อสร้าง จำกัด 2 ธุรกิจก่อสร้างของ นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ ‘กำนันนก’ กำนันตำบลตาก้อง อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ได้ประมูลงานโครงการของรัฐ ตั้งแต่ปี 2558 - ปัจจุบัน จำนวนกว่า 1,300 โครงการ มูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท และมีเบาะแสว่าโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน มีการกระทำผิดเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ว่า ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่สายสืบลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล งานประกวดราคาโครงการต่างๆ แล้ว ว่ามีข้อมูลเป็นอย่างไรบ้าง
"เรื่องนี้ ป.ป.ช.จะเข้าไปดูด้วย เรามีการตรวจสอบข้อมูลหลายทาง แต่ยังบอกอะไรไม่ได้ "นายนิวัติไชยระบุ
เมื่อถามว่า ป.ป.ช. จะเข้าไปดูส่วนไหนบ้าง นายนิวัติไชยกล่าวว่า ก็คงดูข้อมูลทั้งหมด ดูว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ หรือเป็นแค่เรื่องของเอกชน แต่ตอนนี้ยังบอกอะไรมากไม่ได้"
สำหรับการตรวจสอบข้อมูลทางธุรกิจ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด และบริษัทรวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ของ นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ ‘กำนันนก’ นั้น สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลพบไปแล้วว่า เป็นคู่สัญญารับเหมากับหน่วยงานภาครัฐทั้งสิ้น 884 สัญญา วงเงินรวม 4,126,873,893 บาท (4,126.8 ล้าน) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วงปี 2547-2562 ประมาณ 2,215.5 ล้านบาท โดยเฉพาะอบจ. จำนวน 360 สัญญา วงเงิน 1,666,770,383 บาท (1,666.7 ล้าน) อบต.190 สัญญา 452,804,363 บาท (452.8 ล้าน) และ เทศบาล 31 สัญญา วงเงิน 95,961,000 บาท (เฉพาะ อบจ.กับ อบต. วงเงินประมาณ 2,119.5 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลปี 2563-2565
โครงการที่ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด เป็นคู่สัญญากับกรมทางหลวงในช่วงปี 2564 อย่างน้อย 1 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว - บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 7.248 กิโลเมตร งบประมาณ 350 ล้านบาท กระบวนการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง มีผู้รับเอกสาร 32 ราย
ในจำนวนนี้เป็นบริษัทของเครือนักการเมืองระดับชาติอย่างน้อย 3 รายรวมทั้งบริษัทลูกชายรองนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย และมีผู้เสนอราคา 3 ราย บริษัทของนายประวีณชนะประกวดราคา 240 ล้านบาท เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 109.9 ล้านบาท ต่ำกว่าผู้ร่วมเสนอราคา 2 ราย ประมาณ 39 ล้าน และ 70.7 ล้านบาท
ส่วนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นั้น พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ ได้สั่งการให้กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูลฯ) ทำการสืบสวนกรณีบริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด และบริษัทรวีกนก ก่อสร้าง จำกัด แล้ว หลังพบเบาะแสข้อมูลการประมูลโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน มีการกระทำผิดเข้าข่ายความผิด ตาม พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งอยู่ในอำนาจการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ขณะที่ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ “กองคดีฮั้วประมูล” กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ระบุว่า ได้มอบหมายให้นักวิเคราะห์บัญชีดำเนินการตรวจสอบงบดุลของทั้งสองบริษัทดังกล่าวและบัญชีทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งได้รายละเอียดที่เข้าข่ายน่าสงสัย โดยเฉพาะกรณีที่รายได้ไม่สอดคล้องกับงบดุล เพราะเมื่อตรวจสอบธุรกิจของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก พบว่ารายได้ค่อนข้างมีมูลค่าทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งหากดูจากการยื่นงบดุลที่ผ่านมาไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะพบว่าสินทรัพย์ในแต่ละปีมีมูลค่าค่อนข้างสูง จึงหมายความได้ว่าบริษัทของกำนันนกค่อนข้างมีขนาดใหญ่โต ซึ่งมีสินทรัพย์หมุนเวียนตั้งแต่หลัก 100 ล้านบาทขึ้นไป อาทิ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด มีหลักทรัพย์กว่า 100-200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ดีเอสไอก็ตั้งข้อสงสัยด้วยว่าเงินที่ถูกมาจดจัดตั้งบริษัทนั้นมีที่มาอย่างไร ซึ่งก็จะต้องไปสืบค้นขยายผลต่อไปว่าที่มาของเงินมาจากที่ไหน หรืออาจจะมีธุรกิจข้างนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยก็เป็นไปได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบสวน ดีเอสไอจึงต้องตรวจสอบให้ละเอียดและตรวจสอบให้ครบทุกมิติ รวมทั้งจะต้องตรวจสอบการครอบครอง การได้มาของอสังหาริมทรัพย์ และรายการทรัพย์สินอื่นๆด้วย เช่น อาคารที่พัก บ้านพัก รถหรู เป็นต้น
นอกจากนี้ ดีเอสไอยังจะมีการออกหมายเรียกพยานแก่ 65 บริษัท เพื่อให้ทยอยเข้าให้ข้อมูลชี้แจงในวันที่ 18 - 20 ก.ย. ซึ่งบริษัททั้งหมดนี้เคยมีการยื่นซื้อซองใน 2 โครงการ ได้แก่ การประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว - บรรจบทางหลวงหมาย 346 (ปีงบประมาณ 2564) และการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม - ต.ลำลูกบัว (ปีงบประมาณ 2560) แต่ไม่เข้าร่วมในขั้นตอนการประมูล e-bidding ซึ่งเป็นพฤติการณ์ต้องสงสัย หลังจากนั้นดีเอสไอจึงจะเข้าไปตรวจสอบสถานที่ตั้งของบริษัททั้ง 65 แห่ง รวมถึงในการสอบปากคำบริษัทเหล่านี้ในฐานะพยานนั้น จะถามผู้ยื่นซื้อซองว่ามีประสบการณ์เกี่ยวกับการประมูลเหล่านี้ได้อย่างไร มาเกี่ยวข้องได้อย่างไร และระหว่างนั้นเคยถูกข่มขู่คุกคาม บังคับขู่เข็ญไม่ให้เข้ามาในวันประมูล e-bidding หรือไม่
อ่านประกอบ :
- เปิดฐานธุรกิจ 'กำนันนก' คนดังนครปฐม 2 บริษัทรับเหมา รายได้ 746.4 ล.
- 2 บ.รับเหมา ‘กำนันนก’ กวาดงานรัฐ 884 สัญญา 4.1 พันล.! อบจ.-อบต.อื้อ 2,120 ล.
- เจาะโครงการกรมทางหลวง บ.‘กำนันนก’ คว้างาน 240 ล. -บ.ลูกรองนายกฯ ซื้อซองไม่ยื่น
- DSI สั่งสอบ 2 ธุรกิจกำนันนก ได้สัญญา 1,300 โครงการรัฐ มูลค่า 7 พัน ล. ส่อผิด กม.เสนอราคา