‘เศรษฐา-จุลพันธ์’ แจงยิบนโยบายหมื่นบาทดิจิทัล - แก้รัฐธรรมนูญ นายกฯยืนยันไม่เลิกเกณฑ์รัศมี 4 กม. เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วทุกภูมิภาค ชี้ไม่เลิกบัตรสวัสดิการฯ ย้ำแก้รธน.ไม่แตะหมวด 1-2 ด้าน รมช.คลัง ชี้เงินหมื่นดิจิทัลไม่ล้วงมั่ว ไม่แตะกองทุนวายุภักษ์และกองทุนอื่นๆ แต่ขอเวลาดู ยังไม่ชัดเรื่องที่มาของงบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 กันยายน 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เป็นพิเศษ วาระคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560
เมื่อเวลาประมาณ 17.33 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นชี้แจงว่า รัฐบาลยืนยันจะปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แก้หมวด 1 ความมั่นคงของรัฐ และหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ ที่สำคัญจะดำรงไว้ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนนโยบายพักหนี้เกษตรกรนั้น 9 ปีที่ผ่านมาพักหนี้แล้ว 13 ครั้ง ซึ่งตระหนักดีว่า ไม่ใช่การแก้ไขที่ยั่งยืน พรรคเพื่อไทยจึงมีมาตรการหลายอย่างออกมา เช่น เพิ่มรายได้ภายใน 4 ปี ควบคู่กับการพักหนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงฟื้นฟูและทำให้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพ ดังนั้น เชื่อว่า การพักหนี้ของรัฐบาลนี้จะทำประโยชน์มากกว่า 9 ปีที่ผ่านมา
นายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อถึงนโยบายดิจิทัลวอลเลตว่า ตระหนักดีปัญหาชนบทที่มีร้านค้าไม่เพียงพอ จะขอไปดูรายละเอียดอีกครั้ง ส่วนระยะเวลาการใช้งาน 6 เดือน จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก มีบางคนบอกว่าอยากให้ยกเลิกการใช้รัศมี 4 กิโลเมตร คิดว่าเศรษฐกิจภูมิภาคต้องการการกระตุ้น ผู้มีถิ่นฐานใดก็ควรกลับไปใช้ที่นั้น มีเวลา 6 เดือนในการใช้กลับไปหาญาติพี่น้อง เพื่อสถาบันของครอบครัว และบางจังหวัดบางเขตอาจขยาย ต้องดูอีกครั้ง
ส่วนค่าแรงขั้นต่ำนั้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่า สมควรได้รับการปรับโดยเร็ว และตั้งเป้าหมายว่า จะทำให้เศรษฐกิจโตเฉลี่ย 5 %ต่อปี ตลอดระยะเวลา4ปี ทำให้ค่าแรงขึ้น 600บาทต่อวัน และปริญญา 25,000 บาทต่อเดือน ค่าพลังงาน เป็นเรื่องที่ตระหนักดีที่จะต้องลด มั่นใจจะทำให้ต่ำลงอย่างมีนัยยะ อย่างไรก็ดีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังคงมีอยู่ ทั้งนี้ เรื่องความห่วงใยเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญในความโปร่งใสโดยเราจะใช้ระบบดิจิตอลให้มากขึ้น เพื่อลดการทุจริตมิชอบ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นั่งหันข้าง)
@หมื่นดิจิทัลไม่ล้วงงบมั่ว แต่ยังไม่ชัด
ต่อมา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงดิจิทัลวอลเลตเพิ่มเติมว่า แหล่งที่มาของรายได้เงินดิจิตอลจะยึดมั่นกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่แตะต้องสมบัติของชาติ ทั้งกองทุนวายุภักษ์ บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทุนสำรองระหว่างประเทศ กองทุนประกันตน ก็ตาม ส่วนเหล่านี้รัฐบาลทราบวัตถุประสงค์ จะไม่แตะต้องและไม่เคยจะคิด กระบวนที่จะทำสุดท้ายจะชัดเจน ขอเวลาตรวจรายละเอียดโครงการ ไม่ว่าจะเรื่องการใช้เงิน ระยะเวลาในการดำเนินการ กระบวนการที่จะเอางบประมาณมาใช้คืนให้หมดในระยะเวลาที่กำหนด ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะ และไม่กู้เพิ่มแน่นอน ยึดหลักกรอบวินัยการเงินการคลังเป็นหลัก
รมช.คลัง กล่าวต่อว่า มีการพูดกันว่าเม็ดเงินสุดท้ายจะไหลไปที่ทุนใหญ่นั้น ต้องเรียนว่า โครงการเติมเงินผ่านดิจิตอลวอลเลต ไม่มีการเลือกปฏิบัติว่า สุดท้ายแล้วทุนใหญ่หรือว่าร้านสะดวกซื้อจะไม่สามารถเข้าโครงการได้ ด้วยความเคารพ มันเป็นสิทธิของประชาชนและต้องให้ความมั่นใจกับประชาชนในการเลือกกิจกรรมที่จะทำ ทุกบาททุกสตางค์ ด้วยความที่เป็นระบบบล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน สิ่งที่จะยืนยันกับรัฐสภาได้ ว่า ไม่มีเทคโนโลยีใดซึ่งจะมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้เท่ากับเทคโนโลยีบล็อกเชนในปัจจุบัน ยืนยันกับพี่น้องและเพื่อนสมาชิกว่า นโยบายนี้จะเกิดประโยชน์และตรวจสอบได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
อ่านประกอบ