ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำสั่งปลด 'นิพนธ์ บุญญามณี' พ้นตำรงนายก อบจ.สงขลา เหตุไม่พบความผิดแสวงหาประโยชน์ผิดกฎหมาย และให้คุ้มครองจนกว่าศาลปกครองสูงสุด จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาคดีที่นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2
โดยคดีนี้ คดีนี้ผู้ฟ้องคดีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดขณะเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา โดยข้อกล่าวหาผู้ฟ้องคดีในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่มอบอำนาจให้บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ผู้ขายเป็นตัวแทนในการจดทะเบียนรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ ชนิด 10 ล้อ เครื่องยนต์ดีเซล จำนวนสองคัน และละเว้นไม่อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่ารถทั้งสองคัน จำนวน 50,850,000 บาท ให้แก่ผู้ขาย
โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ มีมติโดยเสียงข้างมาก ว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดี มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 (ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด) และมีมูลความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 79 โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะเกิดการกระทำความผิด มาตรา 4 บัญญัติคำนิยามว่า 'ทุจริตต่อหน้าที่' หมายความว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ดังนั้น การทุจริตต่อหน้าที่ตามบทนิยามแห่งกฎหมายดังกล่าวต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
แต่ข้อกล่าวหาของผู้ฟ้องคดีต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นั้น เป็นการกล่าวหาว่าผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือสัญญา ทำให้บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด ได้รับความเสียหาย และภายหลังการไต่สวนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติโดยเสียงข้างมาก ว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่าคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ทำการตรวจรับรถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์แล้ว ผู้ฟ้องคดีในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ผู้ซื้อมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาที่จะต้องอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดผู้ใดเสนอความเห็นให้ผู้ฟ้องคดีไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด หรือได้มีการยกเลิกสัญญาซื้อขายรถทั้งสองคันแต่อย่างใด
การที่ผู้ฟ้องคดีไม่อนุมัติเบิกจ่ายเงินค่าซื้อรถทั้งสองคันจึงเป็นการตัดสินใจของผู้ฟัองคดีโดยลำพัง การไม่เบิกจ่ายเงิน ให้บริษัทจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะเห็นว่าข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติจากการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้การกระทำของผู้ฟ้องคดีเป็นการทุจริตต่อหน้าที่แต่อย่างใด ประกอบกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น มีสองกรณี คือเป็นความผิดที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็มีมติว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดี มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเท่านั้น มิได้มีมติว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายดังกล่าวฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้มีมติว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดีมีมูลทุจริต การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติชี้มูลว่าผู้ฟ้องคดีมีมูลความผิดฐานละเลยไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 79 ซึ่งเป็นความผิดฐานอื่นที่ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1จึงไม่ผูกพันผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ที่จะต้องถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มาเป็นสำนวนการสอบสวนได้
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีหนังสือส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารประกอบเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่กับผู้ฟ้องคดีฐานละเลยไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 79 ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ถือได้ว่าความปรากฎโดยมีหลักฐานตามสมควรต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จงใจทอดทิ้งหรือละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่อันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่หรือประพฤติตนผ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการสอบสวนผู้ฟ้องคดีตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงหากผลการสอบสวนปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาต้องรายงาน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อสั่งให้พันจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 77 ประกอบมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน วิธีการและกระบวนการสอบสวนตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่กลับอาศัยรายงาน เอกสาร และความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แล้วรายงานต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1528/2564 ให้ผู้ฟ้องคดีพันจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2556 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ตามฐานความผิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ชี้มูลความผิด จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น สำหรับข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกรณีอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
นิพนธ์ บุญญามณี
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 103/2563 ที่ชี้มูลความผิดทางวินัยผู้ฟ้องคดี นั้น เห็นว่า มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ชี้มูลความผิดตามนัยมาตรา 98 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เป็นเรื่องภายในระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยเป็นขั้นตอนในการเตรียมการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จะมีคำสั่งตามหน้าที่และอำนาจ แม้ว่ามติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ยังมิได้มีผลทางกฎหมายไปกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีหรือก่อความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรงแก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
มติดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงยังมิใช่คำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี ตามนัยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากมติดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่จะมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต่อศาลปกครอง ตามนัยมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
พิพากษา
พิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1528/2564 ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2564 เรื่อง ให้นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา พ้นจากตำแหน่งในวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2556 ถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2562 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว และให้คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1528/2564 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 มีผลต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ภายหลังที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา นั้น นายนิพนธ์ ได้กล่าวขอบคุณศาลปกครองฯที่คืนความยุติธรรมให้ พร้อมกับยืนยันว่าสิ่งที่ตนได้ทำนั้น ได้ทำตามขั้นตอนระเบียบกฎหมายอย่างถูกต้อง โดยการที่ไม่อนุมัติจ่ายเงินให้กลุ่มผู้ฮั้วประมูล นั้น เป็นการรักษาผลประโยชน์ให้กับทางราชการ และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับแผ่นดิน
อ่านคำพิพากษาฉบับเต็ม https://bit.ly/3ZdoRUt