ดีเอสไอ แถลงความคืบหน้า 3 คดีใหญ่ กรณีทุจริตชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ มีผู้เสียหายนับแสนราย สอบปากคำพยานสำคัญ 10 ปากแล้ว เงินหมุนเวียนพันล้าน ถูกฉ้อโกงเหลือแค่หลักหมื่นเตรียม แจ้งข้อหาฉ้อโกงประชาชน เชิญ ปปง.ร่วมทำคดี -ขบวนการลักลอกนำเข้าสุกร ตรวจค้นเอกชน 11 แห่ง พบหลักฐานเป็นประโยชน์มาก -คดีรถหรู ศาลฯ พิพากษาลงโทษ บอย ยูนิตี้ - พวกแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2566 พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ นางพิชญา ธารากรสันติ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ และ ร้อยตำรวจเอกชาญณรงค์ ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค แถลงข่าวความคืบหน้า 3 คดีสำคัญ คือ 1. กรณีทุจริตและยักยอกทรัพย์ในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด 2. กรณี ขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย 3. กรณีการนำเข้ารถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ร.ต.อ.ชาญณรงค์ แถลงคดีการทุจริตในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ ว่า เนื่องจากคดีนี้ เริ่มต้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 215/2565 ซึ่งการสอบสวนปรากฏว่า พบการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงได้ส่งสำนวนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วส่งสำนวนกลับมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และรับเป็นคดีที่ 56/66 คดีนี้เนื่องจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้มีการเร่งรัดให้มีการสืบสวนสอบสวน เนื่องจากคดีนี้ มีผู้เสียหายที่ปลูกปาล์มจำนวนมาก นับแสนราย เนื่องจากคำว่า ชุมนุมสหกรณ์หมายถึงสหกรณ์หลายสหกรณ์มาร่วมลงทุนกันมาก
จากการสอบสวนในครั้งนี้ทำให้ทราบว่าชุมนุมสหกรณ์ซึ่งมีการลงทุนร่วมกันของหลายสหกรณ์รวมกัน ซึ่งมีสหกรณ์หลักที่ลงทุนร่วมกันจำนวน 13 สหกรณ์ และ มีสมาชิกเกือบ 60,000 ราย 60,000 ครอบครัว จึงมีผู้เสียหายมากถึงแสนราย ได้ลงพื้นที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สอบปากคำพยานสำคัญทั้งหมด 10 ปาก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพยานอย่างดีมาก จากการสอบสวนพยานในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่า ในอดีตก่อนที่จะถูกฉ้อโกง ชุมนุมสหกรณ์มีเงินหมุนเวียนเป็นพันล้านบาท แต่เมื่อถูกฉ้อโกงมีเงินเหลือแค่หลักหมื่น
ส่วนในประเด็นของกลางหลักๆมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่คลองท่อม ต้องการให้คนกลางเป็นผู้ดูแลเนื่องจากรายได้จากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มคลองท่อม เป็นรายได้ของเกษตรกรซึ่งมีช่องทางเรื่องของกลางที่จะต้องปฎิบัติตามประกาศกระทรวงยุติธรรม พนักงานสอบสวนจะประชุมร่วมกันกับ กองกฎหมาย และกองให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ดีเอสไอ ในส่วนของคดีจากการสอบพยานแล้วจะต้องพิจารณาในการแจ้งข้อหาให้ตรงกับพฤติกรรมแห่งคดี ซึ่งเป็น ข้อหาที่ร้ายแรงกว่าก่อนส่ง ป.ป.ช. ต้องประชุมคณะพนักงานสอบสวนก่อนหากที่ประชุมมีมติตรงกันก็จะ แจ้งข้อหาฉ้อโกงประชาชน และเมื่อแจ้งข้อหาฉ้อโกงประชาชนได้ประสาน สำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)แล้วจะเชิญ ปปง.มาร่วมทำคดีนี้
สำหรับกรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมาย นั้น การปฏิบัติการตรวจค้นเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานในคดีพิเศษที่ 59/2566 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการตรวจค้นบริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม และจังหวัดลพบุรี ที่นำเข้าเนื้อสุกรแช่แข็ง จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ บริษัท ขวัญชัย เทคโนโลยี แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด หจก.กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช บริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท อาร์.ที.เอ็น.โอเวอร์ซี จำกัด บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด หจก.สหัสวรรษ ฟูดส์ บริษัท ซี เวิร์ด โฟรเซ่น ฟูด จำกัด บริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท สมายล์ ท็อป เค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และบริษัท เดอะ คิวบ์ โลจิสติกส์ จำกัด ผลการตรวจค้นพบพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดีเป็นอย่างมาก
ส่วนกรณีการนำเข้ารถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย นั้น ผลคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ในคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ กรณีการนำเข้ารถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมายคดีพิเศษดังกล่าวเหตุเกิดในเดือนมิถุนายน 2556 โดยเริ่มจากเหตุการณ์รถยนต์หรูจำนวน 6 คัน ที่บรรทุกจากกรุงเทพมหานคร มีไฟลุกไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ ที่บริเวณอำเภอกลางดง จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ทำการสืบสวนสอบสวนขยายผล จึงได้ทราบว่ามีกรณีการนำรถยนต์หรู เข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษี มีการสำแดงเท็จ โดยสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง สร้างความเสียหายให้กับการจัดเก็บภาษีและระบบเศรษฐกิจของประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้รับกรณีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ และจากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีกลุ่มผู้กระทำความผิดอยู่หลายกลุ่ม โดยกลุ่มของนายอินทระศักดิ์ เตชธีรสิริ หรือ บอย ยูนิตี้ กับพวก เป็นกรณีการนำเข้ารถยนต์โดยหลีกเลี่ยงภาษี สำแดงราคาเท็จ ต่ำกว่าความเป็นจริง และสำแดงรุ่นรถยนต์ไม่ตรง (สำแดงผิดรุ่น) จำนวน 8 คัน มีจำนวนภาษีขาดรวม 217,631,120 บาท