นายอำเภอถลาง ภูเก็ต ออกคำสั่งด่วนจี้ 2 นายกอบต. เทพกระษัตรี - สาคู ตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตกว่า 49 หลัง บริเวณพื้นที่ภูเขาสูงชัน-ราบ รอบสนามบินนานาชาติภายใน 30 วัน หลังได้รับแจ้งข้อมูลลับเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรฯ ต้นต่อปัญหาน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวระดับโลกรุนแรง -ด้านรองอธิบดี DSI มอบคู่มือให้ทหารเรือรักษาป่าบางขนุน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2566 นายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ได้ทำหนังสือถึง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทพกระษัตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สาคู แจ้งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำหน้าที่ปัญหาการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนกว่า 49 หลัง ในบริเวณพื้นที่ภูเขาสูงชันและพื้นที่ราบ รอบสนามบินนานาชาติภูเก็ต พร้อมแจ้งผลการตรวจสอบภายใน 30 วัน
ระบุว่า "ด้วยอำเภอถลาง ได้รับหนังสือจากเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลอาวไทย - อันตามัน ได้รับข้อมูลทางลับจากนักอนุรักษ์พื้นที่ ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่าเกิดปรากฎการณ์น้ำท่วมสนามบินนานาชาติภูเก็ต อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เมื่อปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก อย่างรุนแรง และไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้มาก่อน ซึ่งเครือข่ายได้ตรวจสอบสำรวจพบว่าพื้นที่ สนามบินนานาชาติภูเก็ต รายล้อมภูเขาหลายลูกและพื้นที่ภูเขาสูงชันและพื้นราบมีการก่อสร้างอาคาร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ปี พ.ศ.2522 แก้ไข พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ประการใด มิทราบ
แต่เนื่องจากการละเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้เกิดผลกระทบที่เห็นเป็นประจักษ์โดยกายภาพแล้ว จึงขอแจ้งเบาะแส มายังท่าน เพื่อสั่งการผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่อยู่ภายใต้อำนาจท่าน ดังนี้
1. พบการก่อสร้างในพื้นที่ ม. ตำบลเทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จำนวน 34 หลัง
2. พบการก่อสร้างในพื้นที่ ม. ตำบลสาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จำนวน 15 หลัง
จึงขอให้อำเภอถลางได้ใช้อำนาจสั่งการในฐานะผู้กำกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี และองค์การบริหารส่วนตำบลสาคู ให้บังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไข พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัด เพื่อความผาสุกของประชาชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวยังจังหวัดภูเก็ต และเพื่อภาพลักษณ์เชิงบวกในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อระดับโลก
นายอำเภอถลาง ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนตำบล ตามมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 จึงขอให้องค์การบริหารส่วนตำบลเทพกระษัตรี และองค์การบริหารส่วนตำบลสาคู ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด ผลเป็นประการใดรายงานให้อำเภอถลางทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ (ดูหนังสือประกอบ)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า การส่งหนังสือของ นายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ถึง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทพกระษัตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สาคู แจ้งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำหน้าที่ปัญหาการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนกว่า 49 หลัง ในบริเวณพื้นที่ภูเขาสูงชันและพื้นที่ราบ รอบสนามบินนานาชาติภูเก็ต พร้อมแจ้งผลการตรวจสอบภายใน 30 วัน ดังกล่าว
เกิดขึ้นภายหลังจาก เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566 นายจำรูญ เกิดดำ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน เข้ายื่นหนังสือต่อนายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภอถลาง จ.ภูเก็ต โดยมีนางสาวพิลัยลักษณ์ พลอยมี ปลัดอำเภอปฏิบัติการเป็นผู้รับเรื่อง ในฐานะตัวแทนนายอำเภอที่กำกับดูแลการบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล สาคู และ เทพกษัตรี 2 ตำบล ที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เพื่อให้นายอำเภอสั่งการยัง อบต.ทั้ง 2 แห่ง ให้บังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และแก้ไข พ.ศ.2535
นอกจากนี้ กลุ่มเครือข่าย อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน ยังได้เข้าพบผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 พล.ร.ท. อาภากร อยู่คงแก้ว เพื่อขอให้ดำเนินรักษาสภาพผืนป่าบางขนุน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่กรมป่าไม้ อนุญาตให้กองทัพเรือ ใช้พื้นที่ 3,700 ไร่ ด้วย หลังได้รับข้อมูลทางลับจากนักอนุรักษ์พื้นที่ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่าเกิดปรากฎการณ์น้ำท่วมสนามบินนานาชาติภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างรุนแรง และไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้มาก่อน ซึ่งเครือข่ายได้ตรวจสอบสำรวจพบว่าพื้นที่สนามบินนานาชาติภูเก็ตรายล้อมภูเขาหลายลูก และพื้นที่ภูเขาสูงชันมีการบุกรุกยึดถือครอบครอง ทำลายป่าไม้ ก่อสร้างอาคาร และทราบว่าพื้นที่จำนวนหนึ่งเป็นพื้นที่ ที่กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้กองทัพเรือ ใช้ประโยชน์ (อ่านรายละเอียดข่าวท้ายเรื่อง)
@ รองอธิบดี DSI มอบคู่มือให้ทหารเรือรักษาป่าบางขนุน
ในวันเดียวกัน กองโฆษก กรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พันตำรวจโท อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าหารือและประสานข้อมูลความร่วมมือกับ พลเรือตรี ภุชงค์ รอดนิกร เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 ผู้แทนกองทัพเรือภาค 3 ณ หมวดบินเฉพาะกิจ ทัพเรือ ภาค 3 อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต สืบเนื่องจากกองทัพเรือได้ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับไว้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 59/2564 และทางกองทัพเรือได้มอบหลักฐานเชิงลึกเกี่ยวกับบุคคลที่เข้าข่ายกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 ที่ผ่านมา
โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้นำ “คู่มือแนวทางการรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น” มอบให้แก่ผู้แทนกองทัพเรือภาค 3 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่ใช้เป็นแนวทางในการรวบรวมพยานหลักฐานก่อนที่ จะแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กรณีที่พบการบุกรุกครอบครองโดยมิชอบ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะในเขต ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางธรรมชาติ เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ตลอดจนเร่งรัดดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและพิจารณาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ทั้งขบวนการ รวมถึงบุคคลที่มีส่วนช่วยเหลือ สนับสนุน และผู้มีอิทธิพลที่รับประโยชน์อยู่เบื้องหลัง โดยให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ร.ต.อ.ปิยะ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะดำเนินคดีกับส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดและดำเนินคดีลึกถึงผู้อยู่เบื้องหลังและได้รับผลประโยชน์จากการกระทำความผิด โดยให้ความเป็นธรรมกับทุกส่วน และจะรักษาสมบัติของชาติและประโยขน์สาธารณะไว้ และขอความร่วมมือสื่อมวลชนได้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้ทราบโดยทั่วกันด้วย
“หลังจากที่ผมลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต วันก่อนซึ่งเป็นการติดตามการปฎิบัติหน้าที่ในคลีคลายคดีที่มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ทราบว่า มีผู้เสียผลประโยชน์บางรายขู่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ จึงอยากจะบอกว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดทุกขั้นตอนรวมทั้งผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากการกระทำความผิดด้วย ในส่วนของผู้บุกรุกทำลายป่าบางขนุนนอกจากกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเป็นคดีพิเศษทั้งแปลงแล้ว กรมสอบสวนจะร่วมกับทหารเรือในการรักษาป่าและทรัพยากรธรรมชาติไว้ เพื่อเศรฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้นทุนทางการท่องเที่ยว ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวจึงจำเป็นที่จะต้องรักษาทรัพยากรไว้”
ด้าน พลเรือตรี ภุชงค์ รอดนิกร เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 ผู้แทนกองทัพเรือภาค 3 กล่าวว่า จะเชิญรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมานั่งเป็นประธานในการประชุมกับตัวแทนหน่วยงานที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน จำนวน 7 หน่วยงาน มาทำข้อตกลงร่วมกันในเรื่องแนวเขตและการอนุรักษ์พื้นที่ไว้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
- ป่าบางขนุนถูกทำลายรุนแรง! เครือข่ายอนุรักษ์ฯได้ข้อมูลลับพื้นที่บางส่วนทัพเรือภาค 3 ดูแล
- DSI-ทร.ภาค 3 ลงพื้นที่สอบบ้านตากอากาศรุกป่าสงวนบางขนุน กระทบความปลอดภัยสนามบิน