เครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน ได้ข้อมูลทางลับป่าสงวนแห่งชาติบางขนุนถูกทำลายรุนแรง รวมตัวยื่นหนังสือ นอภ.ถลาง -ผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 บังคับใช้กม.ควบคุมผู้บุกรุกยึดครอง ก่อสร้างอาคารบนที่ภูเขาสูงชัน เผยพื้นที่ผลกระทบบางส่วนอยู่ในความดูแลทัพเรือ หลังกรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้ 3,700 ไร่ ด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 นายจำรูญ เกิดดำ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน เข้ายื่นหนังสือต่อนายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภอถลาง จ.ภูเก็ต โดยมีนางสาวพิลัยลักษณ์ พลอยมี ปลัดอำเภอปฏิบัติการเป็นผู้รับเรื่อง ในฐานะตัวแทนนายอำเภอที่กำกับดูแลการบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล สาคู และ เทพกษัตรี 2 ตำบล ที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เพื่อให้นายอำเภอสั่งการยัง อบต.ทั้ง 2 แห่ง ให้บังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และแก้ไข พ.ศ.2535
หลังจากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานและตัวแทนแต่ละพื้นที่ เครือข่าย อนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน นาย จำรูญ เกิดดำ นายภูวัชร กิ่งทอง นายเชาว์ วิชัยดิษฐ์ นายสิทธิพร กำลังมาก นายอรรพล อรุณโชติ ได้เข้าพบผู้บัญชาการทัพเรือภาค 3 พล.ร.ท. อาภากร อยู่คงแก้ว เพื่อขอให้ดำเนินรักษาสภาพผืนป่าบางขนุน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่กรมป่าไม้ อนุญาตให้กองทัพเรือ ใช้พื้นที่ 3,700 ไร่
นาย จำรูญ เปิดเผยว่า ได้รับข้อมูลทางลับจากนักอนุรักษ์พื้นที่ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่าเกิดปรากฎการณ์น้ำท่วมสนามบินนานาชาติภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกอย่างรุนแรง และไม่เคยเกิดเหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้มาก่อน ซึ่งเครือข่ายได้ตรวจสอบสำรวจพบว่าพื้นที่สนามบินนานาชาติภูเก็ตรายล้อมภูเขาหลายลูก และพื้นที่ภูเขาสูงชันมีการบุกรุกยึดถือครอบครอง ทำลายป่าไม้ ก่อสร้างอาคาร และทราบว่าพื้นที่จำนวนหนึ่งเป็นพื้นที่ ที่กรมป่าไม้ได้อนุญาตให้กองทัพเรือ ใช้ประโยชน์ ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์กับประเทศอย่างยิ่ง
"เครือข่ายฯ ทราบว่า มีการบุกรุกยึดถือครอบครอง และทำลายป่าไม้อย่างรุนแรง ซึ่งถือว่าบุคคลและกลุ่มบุคคลที่บุกรุกยึดถือครอบครองพื้นที่ป่า ทั้งที่กรมป่าไม้ ได้ใช้เงินงบประมาณของประเทศจำนวนมากปลูกปาเต็มพื้นที่ ดังนั้นผู้อ้างการครอบครอง จึงน่าเชื่อว่าเป็นบุคคลและกลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากฐานทรัพยากรเป็นต้นทุนทางด้านการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ การทำลายฐานทรัพยากรของประเทศจึงถือว่าเป็นการทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ และเป็นที่ทราบโดยทั่วกันแล้วว่าปัจจุบันการทำลายป่าไม้เป็นภัยธรรมชาติที่ส่งผลต่อการเกิดสภาวะโลกร้อน" นาย จำรูญระบุ
นายจำรูญ เปิดเผยต่อว่า เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้กองทัพเรือ ปฏิบัติกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่อยู่ในความครอบครอง ดังนี้
1. ขอให้มีการก่อสร้างอาคารบนพื้นที่ราบและทำลายป่าไม้ให้น้อยที่สุดที่จะทำได้ หากจำเป็นที่จะก่อสร้างอาคารบนที่สูงขอให้ใช้พื้นที่ให้น้อยที่สุด
2. อย่าผ่อนปรนกับบุคคล และกลุ่มบุคคลที่ทำการบุกรุกป่าไม้ที่ได้รับอนุญาตของกองทัพเรือ อยู่อาศัยโดยการก่อสร้างอาคารถาวร ในพื้นที่ที่มีความสูง
3. กรณีผู้บุกรุก เข้ามาเก็บผลอาสิน ต้องไม่มีการแผ้วถางเพิ่มเติมแต่อย่างใด และไม่ควรอนุญาตให้ชาวต่างชาติ หรือต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย จะชอบหรือมิชอบก็ตาม เข้าไปเก็บผลอาสินในพื้นที่ที่กองทัพเรือได้รับอนุญาตในการใช้ประโยชน์
4. ขอให้มีการฟื้นฟูปลูกป่าปลูกพันธุ์ไม้ป่าที่เคยมีในประวัติศาสตร์ในพื้นที่ป่าบางขนุน หรือเป็นป่าไม้ดิบชื้นพื้นถิ่นถลางภูเก็ต หรืออนุรักษ์ฟื้นฟูตามโครงการ ป่าดิบขึ้นคืนเกาะ ในพื้นที่ปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ครบ 50 พรรษา ในพื้นที่ปัจจุบัน ที่เป็นที่ตั้งวิทยาลัยเทคนิคถลาง
5. ขอให้กองทัพเรือ หรือตัวแทนร้องทุกข์ต่อหน่วยงานราชการที่บังคับใช้กฎหมายดำเนินคดีกับบุคคลและกลุ่มบุคคลทุกราย ที่ออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน โดยไม่ละเว้นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ไม่ว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นนับถือศาสนาใด และขอให้กรมที่ดิน ใช้มาตรการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกมิชอบทับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน ตามพระราชบัญญัติที่ดิน มาตรา 61
นายจำรูญ กล่าวย้ำว่า "หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากองทัพเรือ และบุคลากรของกองทัพเรือ หรือผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน จะเคร่งครัดต่อการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไว้ควบคู่ไปกับราชอาณาจักรไทย ดังเป้าประสงค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงประกาศไว้เป็นป่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2488 และในเรื่องนี้เห็นการปฎิบัติหน้าที่แบบย่อหย่อนของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องปล่อยให้มีการบุกรุกป่าโดยละเว้นการปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยว และร้องเรียนต่อผู้บริหารหลายครั้ง ไม่มีการแก้ไขจึงได้ถวายฎีกาเรื่องนี้ยังสำนักพระราชวัง"
ขณะที่ พลเรือโทอาภากร กล่าวว่า กองทัพเรือโดยทัพเรือภาค 3 ได้ปฎิบัติตามข้อเสนอแนะของเครื่องอนุรักษ์พื้นที่อ่าวไทย-อันดามัน ทุกข้อแล้ว และยังมีเครือข่ายอื่น ๆ สนับสนุนการปฎิบัติหน้าที่และการเข้าครอบครองพื้นที่ป่าบางขนุน ตามที่กรมป่าไม้อนุญาตให้กองทัพเรือใช้พื้นที่เพื่อความมั่นคงของประเทศ จากฐานข้อมูลทางด้านการข่าวพบว่า พื้นที่ป่าบางขนุน ทั้งแปลงกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับการบุกรุกพื้นที่ทั้งหมดเป็นคดีพิเศษแล้ว ซึ่งกองทัพเรือและทัพเรือภาค 3 จะสนับสนุนการปฎิบัติหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในการปฎิบัติหน้าที่ตามกรอบอำนาจการสอบสวนคดีพิเศษ และจากฐานข้อมูลทางด้านการข่าวยังพบอีกว่าพฤติกรรมของบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ผู้บุกรุกพื้นที่ป่าบางขนุน มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้เพื่อการค้า ซึ่งอาจจะเข้าข่ายมูลฐานการฟองเงิน อาจจะมีมูลความผิดอาญาฟอกเงิน ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
“เรื่องน้ำท่วมบริเวณพื้นที่สนามบินและใกล้เคียงในปีที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องจริงและสภาพการทำลายทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ก็เป็นที่ตื่นตัวของบุคคลโดยทั่วไปอยู่แล้ว ในเรื่องของการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งขณะนี้กองทัพเรือภาคที่ 3 ได้จัดกำหนดการเพื่อการฟื้นฟูสภาพป่าให้เป็นป่าต้นน้ำปลูกพันธ์ไม้ธรรมชาติที่มีอยู่ในป่าบางขนูนในอดีต ในหลายโครงการซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ วันที่ 12 สิงหาคม 2566 นี้ เป็นต้นไป จนกว่าสภาพป่าดิบชื้นเกาะจะกลับมาเยี่ยงอดีตที่ผ่านมา”พลเรือโทอาภากร กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุนทั้งพื้นที่ ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 โดยรับพื้นที่ที่มีการบุกรุกวิทยาลัยเทคนิคถลางและพื้นที่ต่อเนื่องป่าสงวนแห่งชาติป่าบางขนุน เลขคดีที่ 59/2564 และก่อนหน้านี้คณะพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้บุกรุกไปแล้ว จำนวน 9 ราย