สรุปผลโหวตนายกฯ สส.-สว. เทคะแนน 'เศรษฐา ทวีสิน' 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง จ่อนั่งนายกฯคนที่ 30
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) ซึ่งมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม หลังจากที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี และเปิดให้มีการอภิปรายมาตั้งแต่เวลา 11.00 น. นั้น
- ‘เพื่อไทย’ เสนอ ‘เศรษฐา’ ให้สภาฯโหวต ‘ก้าวไกล’ อภิปรายไม่เห็นชอบ
- 'วันนอร์' ไม่รับญัตติ 'โรม' ทบทวนเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ
@482 เสียง สส.-สว.เทให้ 'เศรษฐา'
เมื่อเวลา 17.35 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา สรุปผลการลงคะแนนอย่างเป็นทางการ พบว่า มีสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบนายเศรษฐา ทวีสินเป็นนายกรัฐมนตรีจำนวน 482 เสียง ไม่เห็นชอบ 165 เสียงและงดออกเสียง 81 เสียง และสั่งปิดการประชุมไปในเวลา 17.40 น. โดยวาระต่างๆที่ยังค้างการพิจารณาให้ยกไปในการประชุมครั้งต่อไป
@เสียงผ่านเกิน 374 เสียงเมื่อ 16.50 น.
เมื่อเวลา 15.14 น. นายวันนอร์ได้ให้สมาชิกรัฐสภาแสดงตน เพื่อนับองค์ประชุม ซึ่งปรากฎว่ามีผู้แสดงตนทั้งสิ้น 705 คน และเริ่มให้ลงคะแนนแบบขานตามรายชื่อ โดยตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 159 วรรคท้ายระบุว่า มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และตามบทเฉพาะกาล
ประกอบบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้สมาชิกรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จำนวน 500 คน และ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน รวมสมาชิกทั้งสองสภาเป็นจำนวนทั้งสิ้น 750 คน ดังนั้น ในส่วนของมติให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา จึงต้องได้มติจำนวน 376 เสียงขึ้นไป เพื่อแต่งตั้งบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยการลงคะแนนครั้งนี้ นายเศรษฐาต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 374 เสียงขึ้นไป เพราะมีสมาชิกสภาบางส่วนลาออกไป
จนกระทั่งเวลา 16.50 น. หลังใช้เวลาลงคะแนนกันไปกว่า 1 ชม.ครึ่ง ผลการลงคะแนนปรากฎว่า นายเศรษฐาได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเกินครึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาคือ 374 เสียงแล้ว ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ลงคะแนนให้ถึง 127 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 158 วรรคสอง ระบุว่า 'นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159' หลังจากได้ตัวนายกรัฐมนตรีตามวรรคสองแล้ว ในวรรคสามระบุต่อไปว่า 'ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี' และวรรคสี่ระบุถึงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า 'นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง' โดยให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (มาตรา 158 วรรคสาม) จนถึงวันที่มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง (มาตรา 161 วรรคท้าย ประกอบ มาตรา 170)
ที่มาภาพปก: Facebook เศรษฐา ทวีสิน