เลขา ป.ป.ช. เผยรับคำร้องเตรียมตรวจสอบกรณี 'เศวต ทินกูล อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ' ยื่น ป.ป.ช. ตรวจสอบ สส.-สว.-ประธานสภา เห็นชอบห้ามโหวตนายกซ้ำ ชี้เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายเศวต ทินกูล อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550 ยื่นเอกสารข้อกล่าวหาเพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีกับ สส.และ สว. ที่ออกเสียงเห็นชอบว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภาเป็นญัตติ ซึ่งเป็นการขัดข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 โดยทั้งหมด 395 คน รวมถึง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาที่รู้เห็นเป็นใจให้กระทำการดังกล่าว กับป.ป.ช. มีรายละเอียดดังนี้
เรื่อง ขอกล่าวหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 395 คน และประธานรัฐสภาอีก 1 คน รวมเป็น 396 คน ได้กระทำทุจริตต่อหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามกาทุจริต พ.ศ. 2561
เรียน ประธานคณะกรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ข้อ 1. ข้าพเจ้านายเศวต ทินทูล อดีตสมาชิกสภาว่างรัฐธรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 อยู่บ้านเลขที่ XX หมู่ X ตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน XXXXX XXXXX XX 2 ขอกล่าวหา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาในฐานะสมาชิกรัฐสภา จำนวน 395 คน พร้อมทั้งประธานรัฐสภา 1 คนรวมเป็น 396 คน ได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ โดยเจตนาจงใจ จนเป็นเหตุให้รัฐไทยและประชาชนได้รับความเสียหายร้ายแรง พฤติกรรมกล่าวคือ
ข้อ 2. เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 เวลากลางวัน รัฐสภาไทยได้จัดให้มีการประชุมในวาระเพื่อให้ความเห็นชอบผู้ที่สมควรแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 ประกอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ในหมวดที่ 9 ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ แต่ประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รู้เห็นเป็นใจ ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิวุฒิสภาบางส่วนจำนวนรวมกัน 395 คน ได้กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตามสองมาตราข้างต้นและไม่ได้หยิบยกข้อบังคับประชุมสภาหมวดที่ 9 มาดำเนินการเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบ โดยทุจริตบิดเบือนว่าเป็นญัตติซ้ำ ซึ่งต้องห้ามตามข้อบังคับการประชุมข้อ 41 ของรัฐสภา โดยอ้างความเห็นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อ 151 ซึ่งโดยแท้จริงแล้วการประชุมรัฐสภานอกจากจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราข้างต้นแล้วในการประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องใช้ข้อบังคับประชุมรัฐสภาตามหมวด ที่ 9 เป็นการเฉพาะ และมิใช่ญัตติตามดุลยพินิจของประธานรัฐสภากับพวกที่กระทำทุจริตหน้าที่ หากแต่เป็นวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ข้อ 3. ผลจากข้อ 2. จึงเป็นเหตุให้มีการลงมติจากสมาชิกรัฐสภาตามที่ประธานรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา บิดเบือนและเห็นควรว่าเป็นญัตติ และเป็นญัตติซ้ำจากการเสนอชื่อผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งก่อน ตามข้อบังคับประชุมรัฐสภาข้อ 41 อันมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 อันเป็นกฎหมายสูงสุด
ข้อ 4. ผลการลงมติมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ฐานะสมาซิกรัฐสภา รวมกัน ลงคะแนนให้ความเห็นชอบ และบิดเบือนว่าเป็นมติซ้ำนั้น จึงเป็นเจตนาจงใจ เพื่อทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 4 (6) วรรค 13 รวมกันจำนวน 395 คน และรวมประธานรัฐสภาอีก 1 คน รวมเป็น 396 คน
ข้อ 5. สมาชิกสภาผู้แทนและสมาชิกวุฒิสภาตลอดจนประธานรัฐสภา เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ได้ร่วมกัน ฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 ประกอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในหมวดที่ 9 อันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย โดยร่วมกันมีเจตนาจงใจทุจริตต่อหน้าที่ ตามข้อ 4.
ข้อ 6. การกระทำดังกล่าวข้างต้นของสมาชิกรัฐสภาจำนวน 396 คน เป็นความผิดตามมาตรา 172 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
ข้อ 7. สมาชิกรัฐสภาดังที่กล่าวมาแล้วข้างตันจะเป็นผู้ใดบ้างนั้น เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะต้องดำเนินการตรวจสอบให้ได้ความประจักษ์
ข้อ 8. ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ได้รับความเห็นชอบจากประธานเครือข่ายฯ คือนายวีระ สมความคิด แล้วจึงทำคำร้องฉบับนี้
อาศัยเหตุผลดังนำเรียนต่อท่านข้างตัน ขอท่านได้โปรดรับคำร้อง แล้วไต่สวนคำร้องและวินิจฉัยคำร้อง และนำเรื่องราวส่งพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
นอกจากนี้นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า ตอนนี้จะรับเรื่องไว้ก่อน และดูว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่หรือไม่ แต่ยังไม่เห็นคำร้อง ถ้าเขาร้องมาน่าจะเป็นประเด็นการพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นายนิวัติไชย กล่าวต่อว่า ดังนั้นต้องกลับไปดูคำร้องว่าเขาร้องมาอย่างไร เป็นการลงมติ หรือการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ป.ป.ช. รับมาต้องมาดูว่า กรณีดังกล่าวเป็นอำนาจของประธานสภา อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. หรือไม่หรือเป็นดุลพินิจของทางนั้น