ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ยังไม่สรุปการเสนอ ‘พิธา’ เป็นนายกฯอีกรอบ ขัดข้อบังคับการประชุมหรือไม่ ‘ก้าวไกล’ มองไม่ใช่ญัตติเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ อัดจะเอาข้อบังคับสภามาใหญ่กว่ารธน.ไม่ได้ ด้านฝ่ายรบ.เดิมโต้เข้าข้อบังคับการประชุมแน่ เพราะเป็นญัตติ สุดท้ายใช้ข้อบังคับที่ 151 ปล่อยอภิปราย-ลงมติต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม โดยในระเบียบวาระที่ 5 การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นผู้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้ให้การรับรอง 304 คน ถือว่าเกินกว่าจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่ต้องรับรองอย่างน้อย 50 คน
@ค้านชง ‘พิธา’ โหวตนายกฯรอบ 2 ประท้วงเถียงวุ่น
หลังจากนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นคัดค้านการเสนอชื่อนายพิธา เพราะเห็นว่าขัดกับข้อบังคับข้อที่ 41 ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 จึงทำให้เกิดการประท้วงและโต้เถียงในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง
โดยสมาชิกฝั่งพรรคก้าวไกล อาทิ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นางรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คัดค้านการเสนอประเด็นดังกล่าว โดยระบุในทางเดียวกันว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นขั้นตอนที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 และในการประชุมคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่ายวานนี้ (18 ก.ค. 66) ไม่ได้มีข้อสรุปใดๆที่ให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นการเสนอนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีขัดกับข้อบังคับที่ 41 ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 และการเสนอนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติ ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การนำข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 มาเหนือกว่ารัฐธรรมนูญทำไม่ได้ ซึ่งหลักการตามกฎหมายไม่สามารถนำกฎหมายที่มีศักดิ์น้อยกว่ารัฐธรรมนูญมาหักล้างไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ก็ยังมีการโต้แย้งและถกเถียงกันระหว่าง ส.ส.พรรคก้าวไกล กับส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติและสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อย่างต่อเนื่องถึงวาระการพิจารณานายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีว่าเป็นการเสนอรายชื่อบุคคลซึ่งเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ และญัตติที่ฝ่ายพรรครวมไทยสร้างชาติเสนอขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 และอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญด้วย หรือเป็นการกระทำที่ขัดกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อที่ 41 ว่าเป็นญัตติซ้ำหรือไม่
@ขอใช้ข้อบังคับข้อที่ 151 วินิจฉัยญัตติ
ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีการถกเถียงกันนั้น นายวันนอร์ได้พิจารณารับรองญัตติของนายอัครเดช ซึ่งอ้างว่าเสนอตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อที่ 32 (1) ว่าเป็นญัตติปรึกษาหรือพิจารณาเป็นเรื่องด่วนไม่ต้องเสนอล่วงหน้าหรือเป็นหนังสือ ทำให้มีสมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะจากพรรคก้าวไกลประท้วงประธานรัฐสภา เนื่องจากมองว่า วาระการพิจารณานายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรียังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นญัตติหรือไม่ การที่นายอัครเดชเสนอญัตติซ้อนขึ้นมาชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
จนกระทั่งเวลา 11.49 น. นายวันนอร์วินิจฉัยปัญหาทั้งหมดว่า ขอใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อที่ 151 ให้ตีความญัตติเสนอนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ขัดกับข้อบังคับที่ 41 หรือไม่ ซึ่งข้อที่ 51 ระบุว่า ถ้ามีปัญหาที่จะต้องตีความข้อบังคับนี้ ให้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะวินิจฉัย และเมื่อที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติวินิจฉัยโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเป็นประการใดแล้ว ให้ถือว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นเด็ดขาด
และมีวรรคสองระบุว่า การขอให้ที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัยตามวรรคหนึ่ง อาจกระทำได้โดยประธานขอปรึกษาหรือสมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติโดยมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่า 40 คน
ทั้งนี้ฝั่งที่คัดค้านการเสนอชื่อนายพิธา ประกอบด้วยนายอัครเดชและนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ยืนยันว่า ไม่ได้มีความสงสัยจนถึงขนาดต้องใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อที่ 151 มาพิจารณา แต่ก็ไม่ได้คัดค้านสิ่งที่ประธานรัฐสภาวินิจฉัยแต่อย่างใด
@ส.ว.-ก้าวไกล เถียงกันหลังศาลรธน.สั่งพักงาน 'พิธา'
อย่างไรก็ตาม ช่วง 12.00 น. หลังจากมีข่าวศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากการเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อสารมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้วนั้น
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.พยายามยกมือแล้วกล่าวถึง ข่าวดังกล่าว ทำให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ประท้วงการอภิปรายของนายกิตติศักดิ์ จนโต้เถียงกัน ทำให้ประธานในที่ประชุมปิดไมค์ของทั้งสองคน และให้นายวิโรจน์ใช้สิทธิ์ในการประท้วง โดยนายวิโรจน์กล่าวว่า ระเบียบราชการคงต้องรอหนังสืออย่างเป็นทางการก่อน ไม่ต้องแสดงอาการกระเหี้ยนกระหือรือขนาดนั้น ซึ่งหลังจากประท้วงเสร็จ นายกิตติศักดิ์ได้ออกจากที่ประชุมไป
หลังจากนั้น นายวันนอร์ลงจากบัลลังก์ สลับให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาในฐานะรองประธานรัฐสภา ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแทน ยังมีการถกเถียงถึงการใช้ข้อบังคับที่ 151 อีกครั้ง เพราะมี ส.ส.ฝั่ง 8 พรรคร่วมรัฐบาล เห็นว่า ควรเข้าสู่การลงมติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อที่ 151 ได้แล้ว โดยนายวันนอร์ก่อนลงจากบังลังก์ได้วินิจฉัยไว้แล้ว แต่ฝั่งของฝ่ายที่คัดค้านการเสนอนายพิธาระบุว่า ไม่ได้เห็นด้วยกับการวินิจฉัยของนายวันนอร์ที่ให้ใช้ข้อบังคับที่ 151 ซึ่งจนถึงเวลา 12.46 น. นายพรเพชรได้เปิดให้มีการอภิปรายข้อบังคับข้อที่ 41 ต่อไป ซึ่งหลังประชุมไปแล้วเกือบ 4 ชม. ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาโหวตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับบรรยากาศบริเวณหน้าประตูทางเข้ารัฐสภา มีมวลชนกลุ่มหนึ่งมายืนรวมตัวตะโกนชื่อ 'นายกพิธา' พร้อมชูป้ายให้กำลังใจนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการเสนอชื่อโหวตนายกฯ รอบ 2 สลับกับตะโกนด่าตำรวจและส.ว. พร้อมทุบรั้วประตูทางเข้ารัฐสภา ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าไปพูดคุยเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมหน้าประตูรัฐสภาให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและกลับไปยังพื้นที่ชุมนุมที่กำหนดไว้