'สถาบันที่ปรึกษาสหรัฐฯ' ชี้เป็นลางร้ายส่อเกิดรัฐประหารรอบใหม่ หาก 'พิธา' ชวดโหวตนายกฯรอบสอง เหตุทำให้เสียงของ ปชช.ถูกเพิกเฉย ชี้มีความเป็นไปได้มากที่แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยจะได้รับการยอมรับจาก ส.ว.มากกว่า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวเกี่ยวกับบทวิเคราะห์ในต่างประเทศกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ค.
โดยคณะที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations ) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาของสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์บางส่วนว่าสาเหตุหนึ่งที่นายพิธาไม่ได้รับการเลือกจากสมาชิกวุฒิสภาโดยเฉพาะสายทหารเป็นเพราะความพยายามที่ต้องการจะแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดังนั้นในวันที่ 19 ก.ค.ที่จะมีการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ก็มีแนวโน้มว่านายพิธาจะถูกปฏิเสธอีกครั้งหนึ่ง
อีกทั้งกรณีที่นายพิธาถูกดำเนินคดีในสองคดีซึ่งอาจจะส่งผลทำให้นายพิธาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือถึงขั้นถูกจำคุกนั้น นี่ก็เป็นวิธีสุดคลาสสิกที่ใช้โดยฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตยในประเทศไทย
บทวิเคราะห์ระบุอีกว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะมีการประนีประนอมกับพันธมิตรหลักของพรรคก้าวไกลอย่างพรรคเพื่อไทย เพื่อจะให้เสนอแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งกลุ่มชนชั้นสูงที่ปกครองประเทศนั้นต้องการจะแสดงให้เห็นว่าเสียงของประชาชนยังสำคัญก็จะสนับสนุนแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย ส่งผลทำให้เป็นที่ยอมรับของวุฒิสภาได้มากกว่าแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล อีกทั้งพรรคเพื่อไทยยังเป็นพรรคที่มีความมุ่งมั่นในการปฏิรูปกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและปฏิรูปกองทัพน้อยกว่าพรรคก้าวไกล แม้ก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกลจะได้เคยให้คำมั่นในเรื่องการปฏิรูปกองทัพครั้งใหญ่ก็ตาม
นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาซึ่งทํางานเป็นกลุ่ม 250 คนและสอดคล้องกับพรรคเสียงข้างน้อยในสภาล่างซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารอาชีพ อาจเต็มใจที่จะหานายกรัฐมนตรีที่มีจุดยืนทางฝั่งทหาร ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเสียงข้างน้อย
บทวิเคราะห์ระบุทิ้งท้ายว่า ถ้าหากเหตุการณ์ที่ว่ามานี้เกิดขึ้น นี่ถือว่าเป็นลางร้ายอย่างยิ่ง เพราะว่าเสียงของคนไทยจำนวนมากลงคะแนนเสียงให้กับพรรคก้าวไกล หรือพันธมิตรของพรรคก้าวไกลกำลังถูกเพิกเฉย ซึ่งตอนนี้ก็ไม่อาจจะแน่ใจได้เลยการประท้วงที่รุนแรงอาจจะเกิดขึ้นได้ถ้าหากการลงคะแนนรอบสองยังให้ผลลัพธ์ที่เหมือนเดิม การตอบสนองต่อการประท้วง หรือแม้แต่การตอบสนองอย่างรุนแรงต่อพรรคก้าวไกลที่ต้องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งหมดนี้อาจเป็นข้ออ้างได้สำหรับกองทัพไทยในการก่อรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง
เรียบเรียงจาก:https://www.cfr.org/blog/ominous-signs-thailand-and-potential-violence?utm_source=tw&utm_medium=social_owned