ดีเอสไอแจงคืบหน้ายึดหมูเถื่อน 161 ตู้ เผยตรวจสอบแล้ว 135 ตู้ พบมี 4 ตู้ เครื่องทำความเย็นเสีย ส่งผลทำเนื้อหมูเน่าเสีย ชี้เนื้อหมูทั้งหมด ไม่ผ่านการตรวจโรคจากกรมปศุสัตว์-พฤติกรรมลักลอบนำเข้า เป็นการเลี่ยงภาษีกว่า 460 ล้าน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวความคืบหน้ากรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้มีการตรวจสอบคอนเทนเนอร์บรรจุเนื้อหมูในเขตอารักขาของศุลกากรแหลมฉบัง จำนวน 100 ตู้ จาก 161 ตู้ ซึ่งเนื้อหมูเหล่านี้นำเข้าสู่ประเทศไทยไม่ถูกต้อง ส่งผลทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศเกือบ 500 ล้านบาท (อ่านประกอบ:DSI เปิดคอนเทนเนอร์ หมูเถื่อน 100 ตู้-จ่อดำเนินคดีผู้มีเอี่ยวนำเข้า ความเสียหาย 500 ล.,DSI ร่วมกรมศุลฯ-ปศุสัตว์ ตรวจคอนเทนเนอร์หมูแช่แข็งไร้เจ้าของ 161 ตู้ ชี้ผิดกม.,DSI ตั้ง กก.สอบคดีพิเศษ หมูแช่แข็ง 161 ตู้ถูกยึดที่แหลมฉบัง หวั่นผู้มีอิทธิพลเอี่ยวด้วย)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ดีเอสไอได้ออกเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ระบุใจความว่า ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นคดีพิเศษที่ 59/2566 นั้น หลังจากที่ได้รับเป็นคดีพิเศษแล้ว
กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เร่งดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด โดยได้บูรณาการความร่วมมือกับกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ ทำการเปิดตู้คอนเทนเนอร์ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อตรวจสอบ โดยปัจจุบันได้ดำเนินการตรวจสอบแล้วทั้งหมดจำนวน 135 ตู้ จากทั้งหมดจำนวน 161 ตู้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันนี้ (วันพุธที่ 12 กรกฎาคม 2566) ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีจำนวน 4 ตู้ที่เครื่องทำความเย็นเสีย ทำให้เนื้อสุกรภายในตู้เน่าเสีย
ทั้งนี้ การเปิดตู้เนื้อสุกรแช่แข็งดังกล่าวเป็นการตรวจสอบเพื่อยืนยันจำนวนการนำเข้าและเพื่อตรวจยืนยันว่าผู้ใดเป็นผู้นำเข้าเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี โดยสินค้าประเภทสุกรแช่แข็งจำนวน 161 ตู้ดังกล่าว ได้รับการยืนยันจากกรมปศุสัตว์ว่าเป็นสินค้าที่ไม่ผ่านการตรวจโรคตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ฯ การนำเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจโรคดังกล่าว จึงเป็นการนำเข้าโดยฝ่าฝืน ม.31 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ฯ ซึ่งตามกฎหมาย ในการนำเข้าจะต้องผ่านการตรวจโรคจากกรมปศุสัตว์และต้องสำแดงการนำเข้าให้ถูกประเภท
พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อจำกัดตามมาตรา 244 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฯ และเนื้อสุกรแช่แข็งดังกล่าว ถือเป็นของอันพึงริบตามมาตรา 166 ของกฎหมายดังกล่าวด้วย ซึ่งหากสำแดงถูกต้อง รัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เป็นเงินจำนวนกว่า 460 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจะได้เร่งทำการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอย่างรวดเร็ว รัดกุม รอบคอบ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่นำเข้าชิ้นส่วนหมูเนื้อหมู รวมถึงขยายผลไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระทำความผิด เพื่อเป็นการตัดวงจรความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดต่อสุกรที่เลี้ยงในเมืองไทย และคุ้มครองผู้บริโภค นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์กับผู้เลี้ยงสุกรในเมืองไทยที่ลดคู่แข่งที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกฎหมาย สร้างสมดุลให้กับตลาดค้าเนื้อหมูชิ้นส่วนหมูที่เกษตรกรเลี้ยงกันภายในประเทศ
อ่านประกอบ: