ดีเอสไอลงพื้นที่ตรวจสอบ หมูแช่แข็งเถื่อน 5 ล้านกิโลกรัม-161 ตู้ห้องเย็นคอนเทนเนอร์ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง หลังถูกศุลกากรยึดตั้งแต่ 10 พ.ค. พร้อมออกคำสั่งรับเป็นคดีพิเศษ ตั้งคณะทำงานสอบสวนเหตุเป็นคดีความเสียหายต่อรัฐมูลค่าสูงถึง 460 ล. หวั่นมีผู้มีอิทธิพลเบื้องหลัง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 นี้ ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร รองผู้อำนวยการกองคดีปฎิบัติการคดีพิเศษภาค ในฐานะเลขานุการคดีพิเศษที่ 59/2566 พร้อมคณะประกอบด้วยตัวแทนกรมศุลกากร ตัวแทนกรมปศุสัตว์ ได้ลงพื้นที่สำรวจและสืบสวนพื้นที่จัดเก็บของกลางซึ่งเป็นตู้ห้องเย็นขนส่งทางเรือจำนวน 161 ตู้ ที่เก็บไว้บริเวณในเขตศุลกากรท่าเรือแหลงฉบัง จ.ชลบุรี
ร.ต.อ.ชาญณรงค์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งของ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่รับคดีลักลอบนำเข้าเนื้อหมู เป็นคดีพิเศษ โดยที่อธิบดีมีนโยบายในการช่วยแก้ปัญหาราคา หมูในตลาดเมือง และ เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไป ได้บริโภคหมูสดในประเทศ เพราะในการลักลอบนำเนื้อหมูเข้ามาในราชอาณาจักร น่าจะไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจโรค หรือผ่านขั้นตอนเพื่อการตรวจสอบเนื้อหมูให้สะอาดมีคุณภาพ และอาจจะเกิดโรคระบาดจากเนื้อหมูและอาจจะเป็นอันตรายแก่ประชาชนผู้บริโภคเนื้อหมู “ในเบื้องต้นน่าเชื่อว่าขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูและชิ้นส่วนหมู น่าจะทำเป็นขบวนการและทำกันมาหลายครั้ง และเชื่อว่า ต้องเป็นผู้ที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีต้นทุนในการลงทุนที่สูง แต่เชื่อว่าจะสามารถสืบสวนสอบสวนนำตัวการจริงๆมาลงโทษได้ ตามขบวนการสืบสวนสอบสวนของการสอบสวนคดีพิเศษ”
ขณะที่ พลตำรวจตรีพุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการสอบสวนกลาง ได้มีหนังสือถึง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ลงวันที่ 10 พฤษภาคม2566 และเอกสารประกอบ รวมจำนวน 159 แผ่น
โดยอ้างอิงว่า ด้วย กรมศุลกากร โดย สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง มีหนังสือที่ กค0503/7829 ลงวันที่10 พฤษภาคม 2566 เรื่อง ขอให้ดำเนินคดี มายังกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กรณีสำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการตรวจยึดสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง จำนวน161 ตู้ ซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และจากการตรวจสอบพบว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ กรณีจึงเป็นการนำเข้าโดยฝ่าฝืนมาตรา31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 อันเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อกำกัด ตามมาตรา 244 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560
จากการสอบสวนปรากฎข้อเท็จจริง คือ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ทำการสำรวจของค้างบัญชีเรืออยู่ในอารักขาของศุลกากรเกินกำหนดเวลา 30 วัน จึงได้ออกเอกสารบัญชีของค้างบัญชีเรือ (LIST A) โดยไม่มีใบขนสินค้าอันได้รับรองและไม่ได้เสียอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้น และได้แจ้งไปยังตัวแทนเรือและผู้รับตราส่งตามที่ระบุไว้ในบัญชีเรือ เพื่อให้มีการชำระอากรหรีอวางประกันค่าอากรภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
เมื่อครบกำหนดระยะเวลาไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้มีสิทธิ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จึงได้ดำเนินการออกเอกสารบัญชีของค้างบัญชีเรือ (LIST F) ต่อไป และแจ้งไปยังตัวแทนเรือ แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของ จึงทำการเปีดสำรวจและพบสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง จำนวน161 ตู้ ซึ่งเป็นของควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558
แต่จากการตรวจสอบพบว่าสินค้าดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ กรณีจึงเป็นการนำเข้าโดย ฝ่าฝืนมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อันเป็นความผิดฐานหลีกเสี่ยงข้อจำกัด ตามมาตรา 244 และเป็นของอันพึงต้องริบตามกฎหมายศุลกากร ตามมาตรา166 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งจากการตรวจสอบผลการประเมินราคาสินค้าพบว่า สินค้าทั้งหมดมีมูลค่าราคาของรวมค่าภาษีอากร รวมเป็นเงิน 460,105,949.38 บาท
กรมศุลกากรพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ตามมาตรา 31 แห่ง พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 และเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อกำกัดตามมาตรา244 ประกอบมาตรา166 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำความผิดในคดีนี้ เข้าข่ายเป็นคดีพิเศษ ที่จำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน เป็นพิเศษ ตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ข้อ 13 คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร คดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตาม 244 แห่งพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ. 2560 ไม่ว่าจะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน ที่มีมูลค่าราคาของรวมค่าภาษีอากร ทุกประเภทเข้าด้วยกันแล้วรวมเป็นเงินตั้งแต่สามสิบล้านบาทขึ้นไป จึงขอส่งเอกสารคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายและ เอกสารประกอบมายังท่าน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในชั้นต้นของการรับคดีนี้ปรากฏว่า กองคดีภาษีอากร รับไว้พิจารณา แต่ไม่กล้ารับคดีไว้ เนื่องจากมูลค่าความเสียหายต่อรัฐสูงและอาจจะมีผู้มีอิทธิพลทางด้านการเมืองอยู่เบื้องหลัง พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึง ได้ตั้ง พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และตั้ง ร.ต.อ.ชาญณรงค์ ทับสาร รองผู้อำนวยการกองปฎิบัติการคดีพิเศษภาค เป็นเลขานุการคณะพนักงานสอบสวน โดยมีคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 14 ราย เป็นเจ้าของคดี