ครม.รับทราบความเห็น ‘คลัง-พลังงาน’ ไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ‘ดีเซล’ 5 บาท/ลิตร ยกข้อจำกัด ‘รัฐบาลรักษาการ’ ไม่สามารถอนุมัติเรื่องที่มีผลผูกพันต่อ ‘รัฐบาลในอนาคต’ ได้ มอบ ‘กองทุนน้ำมันฯ’ รับหน้าที่ดูแลราคาต่อ
.......................................
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบแนวทางการดำเนินมาตรภาษีสรรพสามิตเพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาดีเซล โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานได้หารือและมีความเห็นร่วมกัน ว่า การใช้มาตรการทางภาษีเพื่อปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล หลังจากมาตรการฯปรับลดอัตราภาษีฯสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.2566 นั้น เป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดผลผูกพันรัฐบาลในอนาคต
โดย ครม.ที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ไม่อาจกระทำการอันมีผลต่อการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลต่อการสร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดต่อไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯปี 2560 มาตรา 169 (1) ประกอบมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2566 เรื่องแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภา อีกทั้งปัจจุบันสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล ณ โรงกลั่น ในประเทศลดลงตามไปด้วย
ดังนั้น ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลอยู่ในวิสัยที่กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถดำเนินการได้ และเมื่อคำนึงถึงข้อจำกัดด้านรายได้และข้อกฎหมายและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว เห็นสมควรให้ใช้มาตรการของกองทุนน้ำมันที่มีฐานะการเงินดีขึ้นโดยลำดับ ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซล โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดต่อไป
“ภายใต้รัฐบาลรักษาการที่มีข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ เรื่อง การใช้งบประมาณอันจะเป็นการสร้างภาระผูกพันให้รัฐบาลชุดต่อไป ดังนั้น ในเรื่องการใช้มาตรการทางภาษีสรรพสามิตก็จะจบลง ณ วันที่ 20 ก.ค.นี้ ส่วนการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ จะเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯกองทุนน้ำมันที่จะพิจารณาในเรื่องการเข้าไปช่วยเหลือ บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบันได้ลดลงมาเรื่อยๆจนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว อย่างไรก็ตาม นายกฯเน้นย้ำว่า จะยึดมั่นในการปฏิบัติหน้าที่รัฐบาลฯอย่างเต็มที่ เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน” น.ส.รัชดา กล่าว
น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง รายงานว่าการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของรัฐบาล เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร เสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคนั้น ได้ช่วยลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่ผันผวนด้วย
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือน ก.พ.2565 โดยการออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตรวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ ซึ่งทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 1.56 แสนบาท ในขณะที่กฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 34) พ.ศ. 2566 ซึ่งให้ปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ก.ค.2566
รายงานข่าวแจ้งว่า จากประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 9 ก.ค.2566 พบว่ากองทุนฯมีฐานะติดลบอยู่ที่ 52,270 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชี LPG ติดลบ 45,672 ล้านบาท และบัญชีน้ำมันติดลบ 6,598 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
กบน.เคาะตรึงราคา'ก๊าซหุงต้ม' 423 บาท/ถัง อีก 2 เดือน-ล่าสุด'บัญชี LPG'ติดลบ 4.59 หมื่นล.
‘สกนช.’ชี้แจงปม‘ค่าการตลาด’น้ำมันพุ่ง 3 บาท/ลิตร-ยืนยันปฏิบัติตามกรอบ‘กบง.-กบน.’