‘ธาริต’ อดีตอธิบดี DSI แฉปมคดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.เมื่อปี 53 อ้างมีนายทหารใหญ่สั่งหยุดทำคดีนี้ ไม่งั้นปฏิวัติและสั่งเด้งแน่ เผยที่ออกมาพูดตอนนี้เพราะการเมืองเปลี่ยน รับอาจต้องเข้าคุก แต่ยังหวังรัฐบาลใหม่จะออกกฎหมายนิรโทษฯ ด้าน ปชป. สวน ‘อภิสิทธิ์-เทือก’ รอดจากคดีอาญาแล้ว เพราะ ป.ป.ช.สั่งยกคำร้อง อัดกลับทำให้กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งข้อสงสัย ชี้ทำไมไม่เอาที่แถลงมาสู้คดี ก่อนท้าให้เปิดตัวนายพลที่สั่งให้ยุติคดีสลายการชุมนุมมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 8 กรกฎาคม 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI พร้อมด้วยญาติผู้เสียชีวิต 99 ศพในเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ร่วมแถลงข่าว
ก่อนการแถลงนายธาริตเปิดเผยว่า สาเหตุที่ออกมาแถลงในวันนี้ เพราะทราบว่าเวลาของตัวเองเหลือน้อย มีแนวโน้มว่าตัวเองจะเข้าไปอยู่ในเรือนจำ โดยมาเล่าเรื่องราวที่อยู่ในการรับรู้ของตนเอง ไม่เคยบอกเล่าต่อสาธารณชน เท่าที่ได้ยินมาจากหูตนเองว่าหากทำคดี 99 ศพ จะมีการปฏิวัติ ก็เกิดการปฎิวัติขึ้นจริง และย้ายอดีตอธิบดีดีเอสไอ 2 คน
นายธาริต ยอมรับว่า ได้ขอเลื่อน ฟังคำพิพากษาหลายครั้งจริงจากเหตุผล 4 กรณีคือ 1.การส่งหมายศาลไม่ถึงภูมิลำเนาของผู้เสียหาย 2. เหตุผลจากสุขภาพโดย เป็นโควิด 2 ครั้ง เส้นโลหิตตีบ ผ่าตัดไตทั้งสองข้าง 3.มีญาติผู้เสียหายขอเข้าเป็นคู่ความหลายครั้ง และ 4. ได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 ในการปฏิบัติกรณีการชุมนุม และส่งให้ศาลฎีกาดำเนินการ
ยืนยันไม่ได้เกิดจากกรณีหลบเลี่ยงไม่ไปฟังพิพากษา มีความกังวลในการอ่านคำพิพากษาที่จะเกิดขึ้น 2 วัน ซึ่งตนประสงค์ขอศาลฎีกาคืนความเป็นธรรมให้ผู้เสียชีวิต 99 คน และตนเองในฐานะผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเมื่อวานที่ผ่านมา ( 7 ก.ค.) มอบหมายให้ทนายความไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ขอให้ส่งป.อาญามาตรา 200 ให้ศาลวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ก็ไม่มั่นใจว่าศาลฎีกาจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
@อัดกระบวนการยุติธรรมไม่ปกติ
นายธาริต ระบุว่า พร้อมติดคุก ยืนยันเป็นข้าราชการธรรมดา หากจะติดคุกเหมือนคดีโรงพักร้าง13 เดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งจำเป็นต้องเคารพคำวินิจฉัย แต่ไม่อาจทำใจยอมรับได้ ซึ่งการชี้แจงวันนี้เป็นการใช้สิทธิครั้งสุดท้ายให้สาธารณชนได้เข้าใจเหตุการชุมนุม โดยก่อนหน้านี้ตนไม่เคยเปิดเผยหรือให้ข้อมูลต่อศาลโดยอ้างว่าประเทศและสถานการณ์การเมืองไม่เป็นปกติมาตลอด 9 ปี
“การตาย 99 ศพ เป็นสาเหตุของการปฏิวัติ มีการดำเนินคดี 3 คดีกับแกนนำคดีก่อการร้าย ส่วนตัวเห็นว่าดำเนินคดีกับแกนนำเป็นเรื่องปกติ ส่วนการดำเนินคดีกับศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในฐานะผู้ออกคำสั่ง แต่ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยส่วนตัวเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมเตือนภัยไม่ปกติ อัยการสูงสุดได้ฟ้องตามที่ดีเอสไอ มีคนถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ออกคำสั่งศอฉ.แต่ทั้ง 3 ศาลไม่ได้พิจารณาเนื้อหาแต่ไปพิจารณาในประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ให้ส่งกลับมาทำการไต่ส่วนที่ ป.ป.ช.ยอมรับว่าเป็นข้อกังวลหลังศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น” นายธาริตระบุ
@ปูดบิ๊กทหารปฏิวัติ เพราะไม่หยุดดำเนินคดี
นายธาริต กล่าวเพิ่มเติมว่า นายทหารชั้นผู้ใหญ่และเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติได้เรียกรถเข้าไปพบขออย่าดำเนินคดี 99 ศพ พวกอั๊วจะทำการปฏิบัติและพวกลื้อจะถูกย้าย ตนยืนยันว่าจะต้องทำ เพราะศาลสั่งเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการทำหน้าที่ของทหาร และหลังปฏิวัติไม่ถึง 24 ชม.ตนและนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ที่ดำเนินคดีกรณี 99 ศพ ถูกย้าย พร้อมขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่เป็น senior super บอร์ดคณะกก.อิสระ แก้ไขข้อผิดพลาดคืนความยุติ ธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ยืนยันว่าพร้อมจะไปศาลรับรองที่จะติดคุก ถือว่าติดคุกในส่วนเปล่าแต่เป็นจุดแตกหักในการเกิดความยุติธรรม และให้กำลังใจข้าราชการยุคใหม่อย่างย่อท้อในการแสวงหาของยุติธรรม
ส่วนกรณีที่ตนเองกลับคำสารภาพโดยมีเงื่อนไขในคำร้อง ว่าขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อกฎหมายจะรับสารภาพ เพราะมั่นใจว่ามาตรา 157 และมาตรา 200 ในต่างประเทศไม่มีความชัดเจนแน่นอนเป็นหน้าตาที่มีลักษณะกระทบสิทธิ จนท.รัฐอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อการเมืองที่เปลี่ยนตนจะได้รับความยุติธรรม
เมื่อถามว่าการยื่นศาล รธน.นั้นจะเป็นการประวิงเวลาคดีหรือไม่ นายธาริต ปฎิเสธโดยระบุว่าเห็นว่าสถานการณ์ในช่วงนี้ถือว่าดีที่สุดที่จะต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมและเพื่อเป็นการแสวงหาความยุติธรรมให้กับญาติและผู้บาดเจ็บ
@รอลุ้นนิรโทษกรรม
นายธาริต ยอมรับว่ามีความคาดหวังเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมในรัฐบาลชุดใหม่ เพราะมองว่าจะเกิดความสมานฉันท์ทั้งกลุ่มผู้ชุมนุมสีเหลืองและสีแดงที่ผ่านมาขออย่ามองว่าใครจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน พร้อมกันนี้นายธาริตยืนยันว่าตนไม่ใช่คู่ขัดแย้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นการส่วนตัว แต่เป็นการปกป้องสิทธิ์ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นและไม่เกี่ยวข้องกับการที่นายอภิสิทธิ์ถูกเสนอชื่อกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด
ที่มาภาพ-ข่าว: แนวหน้าออนไลน์
@ปชป.สวน ป.ป.ช.ยกคำร้องไปแล้ว
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ออกมาแถลงข่าวว่า หลักการสำคัญในเรื่องนี้ขอย้ำว่าสิ่งที่นายธาริต ออกมาพูด กล่าวหานายอภิสิทธิ์และนายสุเทพนั้น ได้มีการพิสูจน์ความจริงจนสิ้นกระแสความแล้วจากกระบวนการยุติธรรม จากคณะกรรมการ ป.ป.ช.
การพิสูจน์ความจริงผ่านกระบวนการยุติธรรมนั้น เนื่องจากมีการยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ ต่อศาลอาญา ในข้อหาเจตนาฆ่าผู้ชุมนุม สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยต่างๆ สลายการชุมชุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นข้อหาที่ร้ายแรง แต่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง เพราะไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ โดยศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา มีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน
อำนาจการพิจารณาคดีจึงตกไปอยู่กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจโดยตรง โดยผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับฟังเป็นที่ยุติว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผล
“อยู่ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล ตามนัยคำพิพากษาศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553” นายราเมศระบุ
ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ในคดีเลขที่ 1699/2560 “ว่าการกระทำของ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องต้องกัน ยุติด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพราะได้ผ่านการค้นหาความจริงด้วยกระบวนการยุติธรรม
@อัดกลับทำไมไม่เอาที่แถลงไปสู้คดี
นายราเมศกล่าวต่อว่า ที่นายธาริตแถลงมาทั้งหมดทำไมไม่เอาไปสู้คดีในชั้นศาล ทำไมไม่เอาข้อเท็จจริงไปเข้าสู่กระบวนการของศาลในคดีที่เคยสั่งให้ดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ
ที่นายธาริต กล่าวว่า “จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งมีตน เป็นอธิบดีในขณะนั้น จำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อรักษาความยุติธรรม ด้วยการดำเนินคดีต่อผู้ออกคำสั่งให้ทำร้ายประชาชน ในข้อหาตามมาตรา ป.อาญา มาตรา 288 – 289”
ในประเด็นนี้ เคยย้ำมาตลอดเวลาว่า ยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาและคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ว่านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ไม่ได้กระทำความผิดเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมา นายธาริตถูกฟ้องกลับในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสืบเนื่องมาจากการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก ขณะนี้รอฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งนายธาริตเลื่อนฟังคำพิพากษามาหลายครั้ง ทำไมไม่เอาสิ่งที่แถลงเข้าสู่สำนวนคดีที่นายธาริตถูกฟ้อง แล้วต่อมาทำไมถึงต้องให้การรับสารภาพ แสดงว่านายธาริตยอมรับว่าได้ดำเนินกระบวนการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนานสุเทพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะถ้ายืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะรับสารภาพทำไม กลับมากล่าวหาบุคคลอื่น แล้วที่ให้การรับสารภาพต่อศาลคือคำให้การเท็จใช่หรือไม่
นายราเมศ กล่าวต่อว่า ทั้งนายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ ไม่เคยปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ไม่เคยเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมให้กับตนเอง ต่อสู้คดีจากข้อกล่าวหา จนผ่านกระบวนการตรวจสอบการพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรมว่าไม่ได้ทำผิดตามที่กล่าวหา
“นายธาริต ออกมาแถลง คำแถลงเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม บิดเบือนให้สังคมสับสน เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตรงไปตรงมาไม่ต้องกลัวว่าจะถูกดำเนินคดี นายธาริตอย่าพยายามยกเรื่องนี้มาลบล้างการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบในการดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ
คนจริงเขาไปสู้ในศาล ไม่ใช่มาพูดนอกศาลให้ตนเองดูดี ควรเคารพกระบวนการ ยืนกรานต่อสู้ตามหลักกฎหมาย และอย่าอายต่อความจริง ไม่เช่นนั้นเรื่องนี้จะไม่มีข้อยุติและจะนำเหตุการณ์นี้มาบิดเบือนเพื่อทำลายผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา” นายราเมศกล่าวอีกช่วงหนึ่ง
ส่วนประเด็นมีใครเรียกไปสั่งว่า อย่าดำเนินคดี99ศพ นายทหารคนนั้นเป็นใครก็ควรเปิดเผยออกมา เพราะความจริงนายธาริตก็ดำเนินคดีกับทุกคน อย่าพูดให้ตัวเองดูดี คิดอย่างอื่นบ้างก็ได้ อย่าเอาดีใส่ตัวจนเกินจริง
ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์