สพฐ.เผย กทม.ปรับตามระเบียบ ศธ. ชี้เเปิดกว้าง นร.ในสังกัด แต่งชุดอะไรก็ได้นานแล้ว กระจายอำนาจให้ รร.ถกผู้ปกครอง-ใส่ชุดเหมาะสม ล้ำกว่าให้ นร.ใส่ชุดไปรเวต 1 วัน/สัปดาห์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า จากกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกหนังสือถึงสำนักงานเขต จำนวน 2 ฉบับ ว่าด้วยการอนุโลมให้นักเรียน สามารถไว้ทรงผมได้อย่างอิสระ และแต่งกายมาเรียนด้วยชุดอะไรก็ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ลงนามเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 โดย นางวันทรีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัด กทม.
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2566 นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์ได้ขยายความประกาศ 2 ฉบับว่า จะต้องไปคุยกันภายในให้ชัดว่าจะแต่งกายแบบไหนและกำหนดวันใด คาดไม่เกินเปิดเทอม 2 เดือน พ.ย. 2566 จะได้ข้อสรุป
ล่าสุด ทางด้าน นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในส่วนของ กทม.ที่ให้นักเรียนในสังกัดแต่งกายชุดไปรเวตได้ 1 วันนั้น เข้าใจว่าเป็นการปรับตามระเบียบ ศธ.โดยในส่วนของโรงเรียนสังกัด ศธ.ทั้งหมด รวมถึง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เปิดกว้างมากกว่า และล้ำหน้ากว่าการแต่งชุดไปรเวตเพียง 1 วัน ไปนานมากแล้ว
ในส่วนของชุดแต่งกาย ได้กระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา โดยการมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียน สามารถกำหนดเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมมาเรียนร่วมกันได้ รวมถึง การแต่งชุดไปรเวต ก็ให้เป็นอำนาจของโรงเรียนในการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นต่อประชาคมในโรงเรียน ดังนั้น ในส่วนของ สพฐ.จึงไม่จำเป็นต้องปรับแก้ระเบียบเรื่องชุดนักเรียนอีก
นายอัมพรกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ออกเป็นแนวนโยบาย โดยได้กำชับมายังต้นสังกัดให้ดำเนินการให้เป็นไปตาม “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551” ที่ออกตามมาตรา 5-6 ของ พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ซึ่งเปิดช่องให้สถานศึกษาสามารถดำเนินการได้
โดยในระเบียบระบุว่า ให้สถานศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา กำหนดให้รายละเอียดเกี่ยวกับการแต่ง วิธีการ และเงื่อนไขในการแต่งเครื่องแบบนักเรียน สถานศึกษาใดมีความประสงค์จะขอใช้เครื่องแบบเป็นอย่างอื่นนอกจากที่กำหนดในระเบียบนี้
ให้ขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง หรือผู้กำกับดูแลสถานศึกษานั้นแล้วแต่กรณี สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหาร หรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่นๆ แทน เครื่องแบบนักเรียน ตามระเบียบนี้ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงถึงความประหยัด และเหมาะสม ตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ที่ผ่านมา ศธ.ได้มีการผ่อนคลายกฎ ระเบียบต่างๆ ให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการศึกษาได้อย่างคล่องตัว สอดรับกับบริบทของพื้นที่ที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน รวมถึง มีการปรับปรุงกฎ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับนักเรียน ให้มีความยืดหยุ่นขึ้น ไม่บังคับ เช่น เรื่องทรงผมของนักเรียน ได้ยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 แล้วให้สถานศึกษาแต่ละแห่งกำหนดเป็นระเบียบ หรือข้อบังคับของสถานศึกษาแต่ละแห่งเอง โดยการออกระเบียบ หรือข้อบังคับต่างๆ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามหลักการมีส่วนร่วม เช่น นักเรียน คณะกรรมการสภานักเรียน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง หรือผู้แทนผู้ปกครอง ชุมชนท้องถิ่น บุคคล หรือกลุ่มบุคคลอื่นใดที่หัวหน้าสถานศึกษาเห็นสมควร เป็นต้น และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา หรือคณะกรรมการบริหารโรงเรียนก่อนการประกาศใช้
ขณะเดียวกันในช่วงปี 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ยังสั่งการให้ สพฐ.มีหนังสือสั่งการไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ให้สื่อสารซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการแต่งกายเครื่องแบบลูกเสือ และยุวกาชาด โดยให้โรงเรียนดำเนินการอย่างยืดหยุ่น ไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ปกครอง การเรียนวิชาลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด ที่มีเครื่องแบบ ไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบครบชุด แต่ขอให้มีสัญลักษณ์เฉพาะบ่งบอกให้รู้ว่าเด็กได้เรียนวิชาลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด เช่น มีผ้าพันคอผืนเดียว เป็นต้น เพราะเป้าหมายสำคัญของการเรียนวิชานี้อยู่ที่กิจกรรม จิตอาสา การบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคม การเสียสละ มากกว่าการให้ความสำคัญกับชุดยูเครื่องแบบ และขณะนี้สถานศึกษาหลายแห่งก็ได้ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอยู่แล้ว