กทม.ขยายความประกาศ 2 ฉบับที่ออกมาเรื่อง เครื่องแบบนักเรียนและทรงผม มอง 437 โรงเรียนทั้งระดับอนุบาล, ประถม และมัธยม ต้องไปคุยกันภายในให้ชัดว่าจะแต่งกายแบบไหนและกำหนดวันใด คาดไใม่เกินเปิดเทอม 2 เดือน พ.ย. 66 ได้เห็น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 30 มิถุนายน 2566 จากกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกหนังสือถึงสำนักงานเขต จำนวน 2 ฉบับ ว่าด้วยการอนุโลมให้นักเรียน สามารถไว้ทรงผมได้อย่างอิสระ และแต่งกายมาเรียนด้วยชุดอะไรก็ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ลงนามเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 โดย นางวันทรีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกทม.นั้น
ล่าสุด นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า หนังสือทั้ง 2 ฉบับมีจุดมุ่งหมาย 3 ประเด็นคือ 1.สิทธิ เสรีภาพ ขั้นพื้นฐานและสิทธิเด็ก 2. การลดค่าใช้จ่ายของผูั้ปกครอง และ 3. การให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกประกาศในโรงเรียนของตัวเอง โดยประกาศ กทม. ทั้ง 2 ฉบับจะอิงกับประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน 2563 2566 และระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน 2551
ซึ่งในประเด็นทรงผม จะกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องอยู่บนสุขอนามัยที่ดี สะอาดและส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ ไม่ทำให้เกิดความอับอาย รวมไปถึงห้ามดำเนินการใดๆที่จะกระทบกับสิทธิ เสรีภาพทางร่างกายและจิตใจของนักเรียน เช่น การตัดผมที่ทำให้เกิดความอับอาย เป็นต้น
ส่วนเรื่องเครื่องแต่งกาย ได้กำหนดให้โรงเรียนสังกัด กทม.จัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ ที่ไม่เป็นการบังคับอย่างน้อย 1 วัน/สัปดาห์ จะเป็นชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดลูกเสือก็ได้ ซึ่งให้แต่ละโรงเรียนไปคุยปรึกษากันเองว่า จะให้นักเรียนแต่งกายแบบใด
เมื่อถามว่า การให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทแบบเสื้อยืด กางเกงยีนส์ จะอนุญาตให้ทำได้เมื่อไหร่ นายศานนท์ตอบว่า ในภาพรวม 1 วันในแต่ละสัปดาห์มีการแต่งอยู่แล้ว แต่ในรายละเอียดแต่ละโรงเรียนจะต่างกัน บางโรงเรียนอาจกำหนดให้ใส่ผ้าไทยก็ได้ แต่หลังจากนี้ต้องให้เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษา ส่วนจะเริ่มเมื่อไหร่ ก็ต้องรอหลังการประชุมหลังจากนี้ของแต่ละโรงเรียน
เมื่อถามว่า จะให้อิสระเหมือนโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เงยหรือไม่ นายศานนท์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใดคงยาก ตอนนี้ก็เอาอย่างน้อยให้ใส่ไปก่อน 1 วัน ไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมมาก เอาเรื่องสิทธิเสรีภาพ การลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองเข้าไปด้วย จริงๆเรื่องนี้ต้องเอามาถอดบทเรียนกันอีกที
“ผมเคยทำเรื่องเกี่ยวกับการศึกษามาหลายโปรเจ็กต์ โปรเจ็กต์นี้มีเด็กส่งข้อความขอบคุณมามากที่สุด เด็กรู้สึกเลยว่ามันดีกับเขามาก เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของยุคสมัย ถ้าไม่เอามาคุยบนโต๊ะ ไม่เอามาถอดบทเรียน คงเดินต่อไม่ได้ ก็ค่อยๆปรับกันไป เรากำหนดชัดเจนเอาอย่างน้อย 1 วัน ก็ไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงสิ่งที่โรงเรียนทำไวเดิม” นายศานนท์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า การติดตามผลหลังจากนี้ มีขั้นตอนอย่างไร นายศานนท์ระบุว่า โรงเรียนในสังกัด กทม.มีจำนวน 437 โรงเรียน มีทั้งโรงเรียนระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ดังนั้น การวัดผลความสำเร็จของแต่ละระดับชั้น จึงไม่เหมือนกัน หลังจากนี้ จะมีการติดตามและให้ทางโรงเรียนแจ้งผลกลับมา โดยคาดว่าภาคการเรียนหน้า หรือประมาณเดือนพ.ย. 2566 น่าจะชัดเจนและน่าจะได้เห็นการแต่งกายตามประกาศนี้