สหประชาชาติเผยรายงานพบกว่าครึ่งประชากรโลกยังคิดว่า ผู้ชายเป็นผู้นำเหนือกว่าผู้หญิงทั้งการเมืองและธุรกิจ ขณะประเทศไทยพบ ประชากรเกินครึงยังเชื่อผู้ชายเป็นผู้นำทางการเมือง-เศรษฐกิจ ดีกว่าผู้หญิง ขณะ UNDP ชี้ อคติเรื่องชายเหนือกว่าหญิงส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา สหประชาชาติหรือยูเอ็นได้ออกรายงานข่าวเกี่ยวกับปัญหาความเท่าเทียมทางเพศระบุว่ากว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก ยังคงคิดว่าผู้ชายนั้นดีกว่าผู้หญิงในแง่ของการทำหน้าที่เป็นผู้นำทางการเมือง และอีก 40 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าผู้ชายนั้นมีศักยภาพมากกว่าผู้หญิงในการเป็นผู้นำทางธุรกิจ ตามรายงานล่าสุดของโครงการพัฒนาของยูเอ็นหรือที่เรียกกันว่า UNDP ซึ่งระบุลงไปในดัชนีบรรทัดฐานทางสังคมว่าด้วยเรื่องเพศ หรือ GSNI
สำหรับในส่วนของประเทศไทยนั้นมีรายงานระบุว่ามีประชากรในกลุ่มสำรวจในสัดส่วน 68.54 เปอร์เซ็นต์ ยังเชื่อว่าผู้ชายจะเป็นผู้นำทางการเมืองได้ดีกว่าผู้หญิง ในสัดส่วน 33.17 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าผู้ชายจะมีการศึกษาดีกว่าผู้หญิง ในสัดส่วน 56.42 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าผู้ชายเป็นผู้นำในทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าผู้หญิง และในสัดส่วน 81.04 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าผู้ชายมีความสมบูรณ์ทางกายภาพมากกว่าผู้หญิง
“การมีบรรทัดฐานทางสังคมที่บั่นทอนสิทธิสตรีนั้นเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ต่อสังคมในวงกว้าง และลดการขยายตัวของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์” นายเปโดร คอนเซเกา หัวหน้าสํานักงานรายงานการพัฒนามนุษย์ของ UNDP กล่าว
รายงานของ UN ยังได้ระบุอีกว่าประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ผู้ชายจะทุบตีภรรยาได้ ซึ่งรายงานดังกล่าวมาจากการสำรวจของการสำรวจค่านิยมโลก
รายงานระบุต่อว่าอคติเหล่านี้ได้ซ้ำเติมอุปสรรคต่อผู้หญิงที่ต้องเผชิญ ซึ่งแสดงให้เห็น ผ่านการยกเลิกสิทธิสตรีในหลายส่วนของโลกด้วยการเคลื่อนไหวต่อต้านความเท่าเทียมทางเพศที่เพิ่มมากขึ้น และในบางประเทศมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้น
รายงานยังได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาของบทบาทผู้หญิงทั้งในด้านการศึกษาและในด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจ เพราะว่าผู้หญิงนั้นมีทักษะและมีการศึกษามากกว่าเมื่อก่อน อย่างไรก็ตามใน 59 ประเทศที่พบว่าผู้หญิงมีอัตราการศึกษาที่ก้าวหน้ากว่าผู้ชาย ก็ยังคงพบปัญหาช่องว่างในเรื่องของรายได้ทางเพศเนื่องอยู่ที่ 39 เปอร์เซ็นต์ ในแง่ของการที่ผู้ชายหารายได้มากกว่าผู้หญิง
ทาง UNDP ได้ระบุต่อไปว่ารัฐบาลนั้นควรจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในแง่ของการเปลี่ยนบรรทัดฐานทางสังคมในเรื่องเพศ ตั้งแต่การนํานโยบายการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรมาใช้ ซึ่งได้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความรับผิดชอบในการดูแลไปจนถึงการปฏิรูปตลาดแรงงานที่นําไปสู่การเปลี่ยนแปลงความเชื่อเกี่ยวกับผู้หญิงในแรงงาน
"จุดเริ่มต้นที่สําคัญคือการตระหนักถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของแรงงานที่ไม่ได้รับการจ้าง” นางราเควล ลากูนาส ผู้อำนวยการในเรื่องเพศของ UNDP กล่าว