บขส.วืดเปิดให้เช่าที่ดิน ‘สามแยกไฟฉาย-ชลบุรี’ ไร้เอกชนยื่นซองประมูล เตรียมหารือผ่อนปรนเงื่อนไขจูงใจผู้ประกอบการ ส่วนที่ดินสายใต้เก่าย่านปิ่นเกล้า เล็งย้ายวินรถตู้ไปอยู่สายใต้ใหม่ บรมราชชนนี ควบรวมให้ขนส่งสายใต้เหลือที่เดียว คาด 1-2 เดือน ชัดเจน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 มิถุนายน 2566 แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า จากที่บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เผยแพร่ประกาศ 2 ฉบับเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2566 เรื่อง เชิญชวนบุคคลภายนอกเป็นผู้จัดสร้างและบริหารโครงการพัฒนาที่ดิน 2 แปลงคือ บริเวณแยกไฟฉาย กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริเวณจ.ชลบุรี
โดยมีกำหนดยื่นซองข้อเสนอ 29 พ.ค. 2566 เวลา 09.00 - 12.00 น. ที่ห้องประชุม 1 ชั้น 4 บริษัท ขนส่ง จำกัด สำนักงานใหญ่ อาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร)และปิดการขายเอกสารผังการประมูลราคาชุดละ 2,500 บาท ไปเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุด แหล่งข่าวระบุว่า ในกำหนดวันยื่นซองเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทั้ง 2 แปลงไม่มีเอกชนรายใดเข้ามายื่นซองประมูล โดยทางคณะกรรมการคัดเลือกของทั้ง 2 โครงการกำลังหารือถึงการปรับปรุงเงื่อนไขและรูปแบบโครงการอีกครั้ง โดยอาจจะใช้วิธีเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมด้วย คาดว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้จะได้ข้อสรุป
“เบื้องต้น วางเอาไว้ว่า จะให้ทางเอกชนหรือผู้สนใจเข้ามายื่นข้อเสนอที่จะดำเนินการ เพราะคราวที่แล้ว ทางบขส.ออกทีโออาร์ที่อาจจะแข็งไปหน่อย อาจจะปรับให้ยืดหยุ่นกว่านี้ เช่น ระยะเวลาโครงการที่เดิมออกแบบไว้ที่ 30 ปี เอกชนส่วนมากอาจจะเห็นว่าไม่คุ้ม อาจจะเป็น 30+30 หรือไม่ ซึ่งหมายถึงหากหมดอายุสัมปทาน จะเปิดให้เอกชนคู่สัญญาสามารถเจรจาต่อสัญญาออกไปได้สูงสุด 30 ปี เป็นต้น” แหล่งข่าวระบุ
@ชงควบรวมสายใต้ใหม่-สายใต้เก่า 1-2 เดือนนี้ชัด
ขณะที่ความคืบหน้าในการจัดสรรที่ดินบริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) หรือสายใต้เก่า พื้นที่รวม 15 ไร่ มีมูลค่ารวม 396,798,000 บาท เพื่อทำการหารายได้นั้น แหล่งข่าวระบุว่า อยู่ระหว่างรอการควบรวมทั้งสายใต้เก่าและสายใต้ใหม่ (สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ บรมราชชนนี) ปัจจุบัน บขส. ยื่นเรื่องไปที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ซึ่งปัจจุบันสายใต้เก่าเป็นอู่รถตู้ โดยมองว่าไม่ตอบโจทย์การเดินทางของประชาชนและต่อรถยาก จึงมีแนวทางให้ลดเหลือเพียงเป็นจุดจอดสำหรับรถตู้ ส่วนอู่จะย้ายไปที่สายใต้ใหม่ทั้งหมด
ทั้งนี้ การควบรวมทั้งสายใต้เก่าและสายใต้ใหม่ ทาง บขส. ได้เข้าไปหารือกับผู้ประกอบการเจ้าของสายใต้ใหม่แล้ว ซึ่งเห็นชอบกันในเบื้องต้นแล้ว คาดว่าภายใน 1-2 เดือนจะได้ความชัดเจน และหาก ขบ. เห็นชอบก็พร้อมจะเดินหน้าเปิดประมูลทันที และภายในปีนี้ น่าจะนำที่สายใต้เก่ามาเปิดเช่าหารายได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเอกชนเจ้าของพื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ บริเวณ ถ.บรมราชชนนี หรือสายใต้ใหม่ในปัจจุบันนั้นคือ บริษัท สิริโปรเจ็ค คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้รับสัมปทานจากจากบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยมีมูลค่าโครงการรวมงานก่อสร้างและที่ดินประมาณ 2,200 ล้านบาท มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธ.ค. 2550
ที่มาภาพปก: Facebook SC Plaza