เปิด 5 ข้อเสนอ ‘สภาอุตฯ’ ยื่น ‘แคนดิเดตนายกฯ-ก้าวไกล’ ผลักดัน แนะแก้ไฟฟ้าแพง ชงขึ้นค่าจ้างฯตามสภาพ ‘เศรษฐกิจ-สังคม’ ในแต่พื้นที่ พร้อมเสนอยกเว้นภาษี SME ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้าน หากมีกำไรสุทธิไม่เกิน 1 ล้าน ไม่ต้องเสียภาษี
....................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ได้เข้าพบผู้แทนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะด้านนโยบายของภาคอุตสาหกรรมรวม 5 ด้าน พร้อมทั้งรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อกังวลของตัวแทนภาคอุตสาหกรรม นั้น (อ่านประกอบ : ‘พิธา’ ประกาศค่าแรงขึ้นแน่นอน ตัวเลขรอถกพรรคร่วม วางกรอบ 400-450 บ./วัน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการหารือดังกล่าว ส.อ.ท. ได้จัดทำ ‘ข้อเสนอแนะต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม’ เสนอต่อพรรคก้าวไกล ใน 5 ด้าน ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาต้นทุนพลังงาน 2.การแก้ไขปัญหาแรงงาน 3.การส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME 4.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และ5.การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
1.การแก้ปัญหาต้นทุนพลังงาน
การแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าระยะสั้น มาตรการ 100 วัน
สำหรับกรณีที่ประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเกิน 30% แลมีปริมาณไฟฟ้าสำรองตามสัญญาอยู่ที่ 54% ของความต้องการฯ นั้น ส.อ.ท.เห็นว่า ในส่วนของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิม ซึ่งภาครัฐทำไว้กับเอกชนไปแล้วนั้น ควรต้องใช้วิธีการเจรจาในเรื่องเกี่ยวกับค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) และอย่าเร่งทำสัญญาซื้อไฟฟ้าใหม่เข้ามาในระบบ
ขณะเดียวกัน ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ซึ่งส่วนหนึ่งถูกนำมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า นั้น ส.อ.ท.เห็นว่า ควรจะมีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยดังกล่าวให้เหมาะสม ระหว่างโรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งต้องเร่งรัดการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้เป็นไปตามสัญญา
นอกจากนี้ ควรมีการปลดล็อกการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ และสนับสนุนให้มีการติดตั้งไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ เช่น การศึกษาในเรื่อง Net metering (ระบบหักลบกลบหน่วย) และ Net billing (การคำนวณค่าไฟฟ้าแบบคิดแยกระหว่างค่าซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯเข้าสู่บ้าน ค่าไฟฟ้าโซลาร์ที่ประชาชนขายให้การไฟฟ้าฯ แล้วนำค่าไฟฟ้ามาหักลบกัน) การปลดล็อกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) สำหรับการติดตั้งไฟฟ้าโซลาร์เซลล์กำลังไฟฟ้าเกิน 1 เมกะวัตต์ และการลดภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ เป็นต้น
ส.อ.ท.ยังเสนอให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้สินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยมาตรการทางการเงิน เพื่อลดค่าภาระค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติหรือค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) เช่น การออกพันธบัตรรัฐบาล รวมทั้งเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) พลังงาน เพื่อหามาตรการระยะกลางและระยะยาวในด้านพลังงานร่วมกัน
(ที่มา เอกสารแนบประกอบ ‘ข้อเสนอแนะต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม’ ของ ส.อ.ท.)
2.การแก้ไขปัญหาแรงงาน
-ปัญหาผลิตภาพแรงงานต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน และปัญหาต้นทุนต่อหน่วยสินค้าสูง ส.อ.ท. มีข้อเสนอว่า ควรกำหนดให้ผลิตภาพแรงงานเป็นวาระแห่งชาติ (The National Agenda for Labour Productivity) เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงาน สร้างความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง
-ปัญหาการขาดฐานข้อมูล (Big Data) กำลังแรงงาน สำหรับบริหารจัดการ Demand & Supply ส.อ.ท.เสนอว่า รัฐควรพัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data โดยมีหน่วยงานเฉพาะมารับผิดชอบ เพื่อวางแผนพัฒนากำลังคน สร้างความสมดุลด้านกำลังแรงงาน Demand และ Supply แก้ปัญหาการจับคู่อย่างไม่เหมาะสม (Mis-Matching)
-ปัญหาทักษะแรงงานไม่ตรงความต้องการของผู้ประกอบการ และขาดการ Up-skills และ Re-skills ให้สอดคล้อง กับธุรกิจยุคใหม่ (Digital) ทำให้เกิด Mis-Matching ระหว่าง Demand และ Supply ส.อ.ท.เสนอว่า ควรมีการส่งเสริมสนับสนุน Up-skill , Re-skill , Multi-skill และ Future-skill กำลังแรงงาน เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ (Digital) และส่งเสริมการจ่ายค่าจ้าง Pay by Skills
-ปัญหาการขาดการประสานนโยบายระหว่างรัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ในการผลิตบุคคลากรตามความต้องการของตลาดแรงงาน (STEM) ส.อ.ท. เห็นว่า ควรมีการพัฒนากำลังแรงงานให้ตรงความต้องการของ ตลาดแรงงาน โดยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับเอกชน (STEM) เพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ (Digital)
-ปัญหาไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ขาดกำลังคนในเชิงปริมาณ ส.อ.ท. เสนอว่า ควรมีมาตรการจูงใจผู้ประกอบการ ส่งเสริม การจ้างผู้สูงอายุ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี และมาตรการอื่นๆ
-ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว สำหรับงานที่แรงงานไทยไม่ทำ หรือ 3D (Difficult (งานหนัก) Dirty (งานสกปรก) และ Dangerous (งานอันตราย)) ส.อ.ท. เสนอว่า รัฐควรต้องเจรจานำเข้าแรงงานต่างด้าว รวมทั้งลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อแบ่งเบาภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน 3D
-ปัญหา SMEs ที่ใช้กำลังแรงงานเข้มข้นขาดศักยภาพในการนำระบบ Automation มาใช้ทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน ส.อ.ท.เสนอว่า รัฐควรมีนโยบายและงบประมาณ เพื่อส่งเสริมให้ SMEs นำระบบ IT และ Automation มาทดแทนกำลังแรงงานที่ขาดแคลน และสร้างความสามารถในการแข่งขัน
-ด้านการเพิ่มรายได้ให้กับแรงงาน ส.อ.ท.เสนอว่า ภาครัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมให้จ่ายค่าจ้างตาม มาตรฐานฝีมือแรงงานของกระทรวงแรงงาน
-ด้านการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ส.อ.ท. เสนอว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ สร้างความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีแต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP ความเดือดร้อนของลูกจ้าง ความสามารถใน การจ่ายของนายจ้าง และผลิตภาพแรงงาน
3.การส่งเสริมและช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs
ส.อ.ท.มีข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่
(1) การจัดทำ Government Service Catalog for SMEs เชื่อมต่อบริการเพื่อ SME ของประเทศ ‘SMART SMEs ONE’
(2) ต้องมีมาตรการช่วยเหลือ SMEs ด้านสภาพคล่องทางการเงิน มาตรการบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้ การเลื่อนการชำระหนี้ ลดภาระหนี้ และการให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสกลับมาแข่งขันได้อย่างเข้มแข็ง
(3) การจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม และดิจิทัล รวมทั้งสนับสนุนในการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ สามารถรปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม (CBAM) มาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง เป็นต้น
(4) ออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้แก่ SME ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น เพื่อลดภาระด้านต้นทุนในการประกอบการ และจูงใจให้ SME เข้าสู่ระบบภาษี
(5) เสนอให้ขยายฐานการยกเว้นภาษี สำหรับธุรกิจ SME ขนาดเล็ก ที่มีทุนชาระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาท ภายในรอบระยะเวลาบัญชี โดยหากมีกำไรสุทธิไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้ได้รับการยกเว้นภาษี ,หากมีกำไรสุทธิ 1-3 ล้านบาท ให้เก็บภาษีในอัตรา 10% ของกำไรสุทธิ และหากมีกำไรสุทธิมากกว่า 3 ล้านบาท ให้เก็บภาษีในอัตรา 15% ของกำไรสุทธิ
4.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
(1) การยกระดับการขับเคลื่นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพด้านเกษตร อาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้เป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ และประเทศไทยต้องพัฒนาเพื่อเปลี่ยนถ่ายจากอุตสาหกรรมผู้รับจ้างผลิต ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มและมีแบรนด์ของคนไทยเอง ส.อ.ท.เสนอว่า เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าว ควรมีแนวทางดำเนินการ ได้แก่
การพัฒนาและส่งเสริมตลอด Value Chain โดยเน้นพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ อ้อย ยางพารา ปาล์ม มันสำปะหลัง ข้าว ผลไม้ และพืชสมุนไพร โดยมีแนวทาง เช่น ขยาย BCG Model ไปยังภูมิภาคอื่นๆของประเทศ ซึ่งขณะนี้ ส.อ.ท. กำลังพัฒนา BCG model ของอุตสาหกรรมยางพารา ปาล์ม ที่ จ.ชลบุรี และ BCG model ของอุตสาหกรรมน้ำตาล ที่ จ.นครสวรรค์ ตลอดจนการส่งเสริมนวัตกรรม วิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น (HVA) เช่น การสกัดสารจากพืชเพื่อทำยาและเครื่องสำอางหรืออาหารเสริม เป็นต้น
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ให้รองรับและเพียงพอต่อการพัฒนาดังกล่าว และการสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ เทคโนโลยี Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) เทคโนโลยี Green Hydrogen และกลไกการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นธรรม เพื่อลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไปสู่เป้าหมาย Carbon Neutral รวมถึงการส่งเสริมการดำเนินงานของทุกภาคส่วนให้เป็นไปตามแนวทาง ESG (Environment, Social และ Governance) เป็นต้น
(2) ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และมีการเตรียมความพร้อมจัดทำมาตรการรับมือปัญหาภัยแล้งที่มีผลต่อการดำเนินกิจการของ ผู้ประกอบการภาคเอกชน และเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
ระยะเร่งด่วน
ควรควบคุมการปล่อยน้ำจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในอ่างฯ ,เร่งผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ เข้าเก็บในอ่างเก็บน้ำ เช่น ผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เข้ามากักเก็บในอ่างเก็บน้ำบางพระทันทีเมื่อพร้อม ,เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำตามโครงข่ายท่อส่งน้ำ (Water Grid) และเตรียมระบบให้พร้อมก่อนหน้าฝน
ระยะยาว
ควรเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญเพื่อกักเก็บน้ำสำรองให้กับพื้นที่ภาคตะวันออก และในพื้นที่อื่นๆ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดจังหวัดจันทบุรี ควรเร่งรัดกระบวนการขอใช้พื้นที่ป่าอุทยาน เพื่อให้สามารถ ดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนที่กำหนดไว้
ทบทวนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำสำรอง ทั้งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และในพื้นที่อื่นๆ เช่น พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติม ทั้งอ่างเก็บน้ำและจากแหล่งน้ำบาดาล และการนำน้ำ Recycle จากน้ำเสียชุมชนมาใช้ในพื้นที่อุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียง เช่น น้ำเสียที่ผ่านบำบัดจาก เมืองพัทยามาใช้ในนิคมแหลมฉบัง เป็นต้น
5.การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business
ส.อ.ท. ระบุว่า จากการศึกษาของ World Bank และ OECD พบว่ากฎหมายที่ล้าสมัยเป็นต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจ โดยกฎหมายที่ล้าสมัยดังกล่าว นอกจากจะจำกัดกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้ว ยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนา ,เป็นต้นทุนของประเทศไม่ต่ำกว่า 10-20% ของ GDP ,บั่นทอนประสิทธิภาพ ,เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางธุรกิจ และก่อให้เกิดการคอร์รัปชัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายมากว่า 1 แสนฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. และ พ.ร.ก. จำนวน 1,400 ฉบับ อนุบัญญัติอีก 100,000 ฉบับ และระเบียบหรือข้อกำหนดในการขอใบอนุญาต 2,155 ฉบับ ในขณะที่กฎหมายดังกล่าว พบว่ากฎหมายหรือระเบียบเป็นจำนวนมาก มีปัญหาล้าสมัย ,มีปัญหาในเรื่องการบังคับใช้ ,มีปัญหาเรื่องการใช้อำนาจดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ,ไม่เป็นมิตร (not user-friendly) และมีประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มค่า
ดังนั้น ส.อ.ท.เสนอว่า รัฐควรจัดให้มีการกระบวนการปฏิรูปกฎหมายล้าสมัย ,มีกระบวนการในการออกกฎหมายที่ดี เช่น มีเป้าหมาย มีกลยุทธ มีการรับฟังความเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบ หรือ RI และมีการทบทวนกฎหมายเป็นระยะ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business
"การเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยวิธีการปฏิรูปกฎหมายนั้น เป็นวิธีที่มีต้นทุนต่ำสุด และมีโอกาสสำเร็จได้ง่าย เมื่อเทียบกับเครื่องมือทางการเงินการคลัง" ส.อ.ท.ระบุ