‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เดินสายพบภาคเอกชน เริ่มที่ ส.อ.ท. ก่อนเผยภาคอุตฯห่วงขึ้นค่าแรงแบบกระชากเหมือนปี 56 ย้ำค่าแรงขึ้นแน่นอน แต่มีแพคเกจช่วยผู้ประกอบการร่วมด้วย ส่วนตัวเลขรอถกพรรคร่วมเคาะระหว่าง 400-450 บ./วัน ส่วน MOU ย้ำอีกรอบเป็นข้อตกลงขั้นต่ำสุด เรื่องที่ไม่ได้อยู่ใน MOU ผลักดันต่อ 3 รูปแบบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ที่ทำการพรรคก้าวไกล ซ.หัวหมาก 12 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเช้านี้ ตนพร้อมคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของ 8 พรรคร่วม เดินทางไปพบสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายจากภาคอุตสาหกรรมพร้อมทั้งรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อกังวลของตัวแทนภาคอุตสาหกรรม
โดยวาระสำคัญที่ได้หารือคือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตลอดจนความสม่ำเสมอในการขึ้นค่าแรงตามเงินเฟ้อและตามอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ยืนยันว่า พรรคจะขึ้นค่าแรงแน่นอน โดยพรรคเสนอที่ 450 บาท/วัน ส่วนพรรคเพื่อไทยเสนอในปีแรก 400 บาท/วัน
และต้องคิดถึงเหรียญอีกด้านในฝั่งผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจ ซึ่งพรรคก้าวไกลมีมาตรการเสนอ อาทิ การสมทบจ่ายเงินประกันสังคมใน 6 เดือนแรก, กรณีขึ้นค่าแรง 2 เท่า 2 ปี สามารถนำไปหักภาษี, ลดภาษีให้ธุรกิจ SMEs จาก 20% เป็น 15% และจาก 15% เป็น 10% ซึ่งมีการประชุมกันในวันนี้
“กระแสข่าวที่ออกมาว่า ค่าแรง 450 บาท/วัน พอเป็นรัฐบาลผสมยังทำไม่ได้ทันที อันนี้ไม่เป็นความจริง ตอนนี้เรากำลังเดินสายรับฟังหน่วยงานต่างๆ ศุกร์นี้ (26 พ.ค.66) จะเข้าไปรับฟังความเห็นสภาอุตฯที่รุ่นที่เด็กลงมาหน่อย หอการค้า สภาแรงงาน สภา SMEs จะรับฟังให้รอบคอบ แต่ยืนยันกับผู้ใช้แรงงานว่า ค่าแรงขั้นต่ำยังไงก็ต้องขึ้น และขึ้นสม่ำเสมอ แต่ต้องเป็นประโยชน์กับสองฝั่งทั้งนายจ้างและลูกจ้าง” นายพิธากล่าว
@ตัวเลขค่าแรงยังมีเวลาคิด
เมื่อถามว่า ข้อกังวลของ ส.อ.ท. ที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงแบบกระชากหมายถึงอะไรนั้น นายพิธาตอบว่า เป็นการอธิบายถึงหลักการและเหตุผลในการคิด ตอนยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคบขึ้นทีเดียว 300 บาท/วันทั่วประเทศ มาวันนี้ต้องคิดอีกมุมหนึ่ง เพราะในพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันเสนอระหว่าง 400-450 บาท/วัน ที่พรรคก้าวไกลเสนอ 450 บาท เพราะเมื่อคำนวณถึงอัตราเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) หรือแม้แต่กระทั่งประสิทธิภาพแรงงานก็ดี ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะคิดตามอะไรก็ตาม การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรอยู่ที่ 400-450 บาท/วัน
“ขอเรียนว่าพรรคไม่ได้จะขึ้นค่าแรงตามใจตัวเอง แต่ขึ้นอย่างมีหลักการ หลักสากล แต่ตอนนี้ต้องรอ กกต.รับรองผล, การเปิดสภาเลือกประธาน-รองประธาน และเลือกนายกรัฐมนตรี ตอนนี้ยังมีเวลาอีก 1-2 เดือน ดังนั้น ใน 2 เดือนนี้จะเดินสายรับฟังความเห็นให้รอบคอบ ตั้งแต่สภาอุตฯ หอการค้า สภา SMEs สภาแรงงาน กลุ่มทุน กลุ่มธนาคาร เพื่อจะได้ความเข้าใจ เมื่อขึ้นแล้วจะได้ช่วยกันบริหารไม่ให้มีปัญหา รวมถึงมาตรการต่างๆที่คิดไว้แล้ว หรือแม้แต่มาตรการเมื่อปี 2556 ก็จะเอามาทำใ้เกิดผลดีให้ได้มากที่สุด” นายพิธาระบุ
@ย้ำ MOU แค่ข้อตกลงขั้นต่ำ
นอกจากนี้ นายพิธายังย้ำถึงการทำ MOU ร่วมกับพรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคว่า MOU ดังกล่าวเป็นแค่การทำงานร่วมกันภายใต้ข้อตกลงขั้นต่ำ พรรคก้าวไกลเองที่มี 300 นโยบายที่หาเสียงไว้ ก็จะผลักดันให้สำเร็จได้มากที่สุด ส่วนวาระของพรรคที่ไม่ได้อยู่ใน MOU จะผลักดันผ่าน 2 กลไกสำคัญคือ 1. วาระฝ่ายบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการบริหารจัดการ และ 2. วาระในฐานะรัฐมนตรีของพรรคที่กระจายไปตามกระทรวงต่างๆ และ 3. วาระในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล โดยไปเจรจากับรัฐมนตรีที่พรรคอื่นดำรงตำแหน่ง เพื่อผลักดันวาระของพรรค
และที่สำคัญคือ วาระของนิติบัญญัติ โดยเฉพาะ 45 ร่างกฎหมายที่จะผลักดันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยกฎหมายที่อยู่ใน 45 ฉบับ และไม่ได้อยู่ใน MOU เช่น ร่าง พ.ร.บ.น้ำสะอาด, ร่างพ.ร.บ.คำนำหน้าอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นต้น ดังนั้น MOU 23 ข้อจึงเป็นวาระร่วมในขั้นต่ำเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ออกมาร่วมแถลงกันล่าช้าวานนี้ (22 พ.ค. 66) เพราะมีการขอตัดบางถ้อยคำออก โดบเฉพาะการนิรโทษกรรมใช่หรือไม่ นายพิธาระบุว่า คงไม่ใช่แค่นั้น ส่วนหนึ่งก็มีบางคนมาไม่ตรงเวลาบ้าง หรือการแก้อะไรหลายๆอย่าง ทั้งกัญชา สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม แต่ภาพรวมออกมาด้วยดี
เมื่อถามอีกถึงกรณีหลังลงนาม MOU มีขั้นตอนต่อไปไหม นายพิธาตอบว่า หลังจากนี้ก็จะเดินสายพบประชาชนมากกว่า คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ก็จะเชิญพรรคร่วมมารับฟังกันมากขึ้น ไปคุยกับผู้ได้รับผลกระทบมากขึ้น เพราะในท้ายที่สุดก็ต้องมาร่วมจัดทำนโยบายเพื่อแถลงต่อรัฐสภา ส่วนโควต้ารัฐมนตรี รับประกันว่า จะเอาคนที่เหมาะกับงานและคนที่รู้จริงกับกระทรวงนั้นมาทำหน้าที่แน่นอน
กับคำถามว่ากระทรวงที่เกี่ยวกับการเงินการคลัง จะสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดเงินตลาดทุนได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการก็กำลังจับตามอง นายพิธาระบุว่า ต้องรอฟัง รับประกันว่าจะมีคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ และสิ่งที่นักลงทุนกังวลเป็นเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองมากกว่า เพราะระบบการเมืองในปัจจุบัน เอื้อให้คนที่ชนะเลือกตั้งอาจไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องศักยภาพของประเทศ
อ่านประกอบ