บอร์ดรถไฟ เห็นชอบ จัดซื้อแคร่รถขนสินค้าจำนวน 946 คัน วงเงิน 2,459.97 ล้านบาทแล้ว หลังถูก ‘คมนาคม’ ตีกลับให้ศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง ‘เช่า/ซื้อ/ใช้เอาท์ซอร์ซ’ เปิดไทม์ไลน์ได้ ครมใหม่ จ่อเสนอทันที คาดใช้เวลา 6-7 เดือนหลังจากนั้นในการประกวดราคา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.มีมติเห็นชอบการจัดซื้อรถโบกี้บรรทุกสินค้า (บทต.) โดยกำหนดให้นำชิ้นส่วนภายในประเทศและต่างประเทศมาประกอบภายในประเทศ จำนวน 946 คัน วงเงิน 2,459.97 ล้านบาท
จากเดิมที่โครงการนี้ถูกตีกลับให้ไปศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการซื้อ การเช่า และให้หน่วยงานภายนอก (เอาท์ซอร์ซ) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่ง รฟท.ศึกษาแล้วและได้รายงานกลับไปว่า การซื้อมีความคุ้มค่ามากกว่า โดยคำนึงถึงจำนวนเส้นทางรถไฟหทางคู่ที่กำลังขยายเส้นทางมากขึ้น, จุดศูนย์กลางในการกระจายสินค้า ซึ่งศูนย์กลางอยู่ที่สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD: Inland Container Depot) ลาดกระบัง ก่อนจะมีการกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ และที่สำคัญ ยังอยู่ในมาตรการส่งเสริมการใช้สินค้าภายในประเทศ ( Local content) ของกระทรวงคมนาคมด้วย ซึ่งระบุให้ใช้ไม่น้อยกว่า 40% โดยมีการใช้ของต่างประเทศเพียงแค่การผลิตโบกี้รองรับน้ำหนักสินค้าเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังประหยัดต้นทุนในการทำศูนย์ซ่อมบำรุงด้วย เพราะ รฟท.มีศูนย์ซ่อมที่ได้รับมาตรฐานอยู่แล้ว
หลังจากนี้ จะส่งเรื่องกลับที่กระทรวงคมนาคม ก่อนจะไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในท้ายที่สุด ซึ่งคาดว่าในการฟอร์มคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ช่วง 2-3 เดือนนี้น่าจะไม่มีปัญหาอะไร โดยหากมีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกเมื่อไหร่ ก็น่าจะเสนอได้ทันที หลังจาก ครม.เห็นชอบก็จะเข้าสู่ขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 6-77 เดือน ก็ได้ตัวผู้รับจ้าง