เผยคำสั่ง อคส. รับตัว ผอ.สำนักเกษตร ที่เคยถูกลงโทษไล่ออกจากคดีจำนำข้าวเสียหาย 908 ล้าน ตามรายงานสอบสวน ป.ป.ท. กลับเข้ามาทำงานใหม่ หลังแพ้คดีศาลแรงงาน ต้องจ่ายเงินย้อนหลังเดือนละ 46,930 บาท ตั้งแต่ พ.ค.65 ด้วย - 'เกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต' ยันดำเนินการด้วยความรอบคอบแล้ว อุทธรณ์สู้ต่อไม่เป็นผลดี
นายขําหิรัญ หรือ นายชวนากร ลอยเจริญ นักบริหาร 4 รักษาการในตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักเกษตร องค์การคลังสินค้า (อคส.) ที่เคยถูก อคส. ลงโทษไล่ออกจากคดีโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลที่ ทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 908 ล้านบาท ตามรายงานผลการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ปท.) ในช่วงปี 2565 ได้กลับเข้ามาทำงานที่ อคส. อีกครั้งแล้ว
หลังจาก นายขําหิรัญ หรือ นายชวนากร ยื่นฟ้องร้องคดีต่อศาลแรงงานภาค 1 (สระบุรี) และศาลฯ มีคำพิพากษาว่า นายขําหิรัญ หรือ นายชวนากร ไม่ได้กระทําความผิดทางวินัยตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานองค์การคลังสินค้า และมีคำสั่งให้ อคส. รับตัวกลับเข้ามาทำงาน และให้จ่ายเงินในอัตราเดือนละ 46,930 บาท นับตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ให้กลับเข้าทํางานด้วย
แหล่งข่าวจาก อคส. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อํานวย อคส. ได้ลงนามในคำสั่งให้ นายขําหิรัญ หรือ นายชวนากร ลอยเจริญ กลับเข้าทำงานใน อคส.
ระบุว่า ตามคําสั่งองค์การคลังสินค้า ที่ 53/2565 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ 54/2565 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ 55/2565 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ 56/2565 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ 5๗/2565 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 และ ที่ 58/2565 ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ได้สั่งลงโทษไล่ออก นายหิรัญ หรือ นายชวนากร ลอยเจริญ นักบริหาร 4 รักษาการในตําแหน่งผู้อํานวยการสํานักเกษตร ออกจาก การเป็นพนักงานองค์การคลังสินค้า ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. วินิจฉัยชี้มูลความผิดแล้วตามพระราชบัญญัติ มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 มาตรา 40 และมาตรา 41 ประกอบ ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2516 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 28 (2) และ (3) ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2565
ต่อมา นายขําหิรัญ หรือ นายชวนากร ลอยเจริญ ได้ยื่นฟ้ององค์การคลังสินค้าต่อ ศาลแรงงานภาค 1 (สระบุรี) บัดนี้ศาลแรงงานภาค 1 (สระบุรี) ได้มีคําวินิจฉัยประกอบคําพิพากษา สรุปว่า นายขําหิรัญ หรือ นายชวนากร ลอยเจริญ ไม่ได้กระทําความผิดทางวินัยตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานองค์การคลังสินค้า (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2516 และได้มีคําพิพากษาโดยคดีถึงที่สุดตามคดีหมายเลขดําที่ 2415/2565 คดีหมายเลขแดงที่ ร223/2560 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ให้องค์การคลังสินค้ารับนายขําหิรัญ หรือ นายชวนากร ลอยเจริญ กลับเข้าทํางานในตําแหน่งหน้าที่ อัตราค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์เดิมหรือเทียบเท่าตําแหน่งเดิม และให้จ่ายเงินแก่ นายขําหิรัญ หรือ นายชวนากร ลอยเจริญ ในอัตราเดือนละ 46,930 บาท นับตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ให้กลับเข้าทํางาน
ฉะนั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 24 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. 2498 จึงให้ดําเนินการ ดังนี้
1.ให้นายขําหิรัญ หรือ นายชวนากร ลอยเจริญ กลับเข้าทํางานในองค์การคลังสินค้าในตําแหน่ง นักบริหาร 8 ปฏิบัติงานตามที่ผู้อํานวยการองค์การคลังสินค้ามอบหมาย
2. ให้จ่ายเงินแก่นายหิรัญ หรือ นายชวนากร ลอยเจริญ ในอัตราเดือนละ 46,930 บาท นับตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ให้กลับเข้าทํางานตามคําสั่งนี้
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 (ดูประกาศ)
นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อํานวย อคส. ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ว่า การรับตัวนายหิรัญ หรือ นายชวนากร กลับเข้ามาทำงานเป็นไปตามคำสั่งศาลแรงงาน ขณะที่คดีอาญา อัยการสูงสุดก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว และฝ่ายกฎหมายของ อคส.ก็กลั่นกรองเรื่องนี้ดีแล้ว เห็นว่าหากมีการอุทธรณ์คดีนี้ต่อ จะไม่เป็นผลดีต่อ อคส. เพราะคำสั่งศาลแรงงานที่ออกมาถือว่าเป็นคุณกับอคส.แล้ว จ่ายแค่เงินเดือนย้อนหลัง ไม่ต้องจ่ายค่าตกใจ กรณีนี้จึงยืนยันได้ว่าการพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบดีแล้ว
@ เกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต
"การลงโทษไล่ออกพนักงานรายนี้ อคส.ดำเนินการตามผลการชี้มูลของ ป.ป.ท. ที่มีการชี้มูลทั้งความผิดทางอาญาและวินัย ซึ่งในส่วนวินัยเราก็ดำเนินการลงโทษโดยยึดผลสอบ ป.ป.ท.แล้ว ส่วนคดีอาญา ปรากฏว่าอัยการสูงสุดไม่สั่งฟ้องคดีก็จบไป ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษหลายราย ก็ไปยื่นเรื่องฟ้องศาลแรงงาน เมื่อศาลมีคำพิพากษาตัดสินคดีออกมาเราก็ต้องปฏิบัติตาม" นายเกรียงศักดิ์กล่าว
เมื่อถามว่า แต่กรณีนี้ ถูกระบุว่าทำให้รัฐเสียหายเป็นจำนวนเงินหลายร้อยล้านบาท
นายเกรียงศักดิ์ ตอบว่า "เรื่องความเสียหายยังไม่จบ คุณชวนากร ดูแลหลายคลังสินค้า ความเสียหายก็มากตามไปด้วย ตอนนี้มีการยื่นฟ้องคดีทางแพ่งกันอยู่ ต้องรอดูผลการพิจารณาคดีของศาล ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องการรับตัวกลับเข้ามาทำงาน เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ซึ่งยืนยันว่ากรณีนี้ อคส. ได้พิจารณาอย่างรอบคอบดีแล้ว"