ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ ‘พรรครักษ์ผืนป่าไทย’ นำเอกชนที่ได้รับความเสียหาย ยื่นหนังสือต่อ ‘ป.ป.ช.’ ขอให้ตรวจสอบการประมูล มิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ‘กฟภ.’ 3.4 พันล้าน หลังพบมีการกำหนดเงื่อนไขกีดกันเอกชน 9 ราย ไม่ให้เข้าร่วมประมูล
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 พ.ค. นายณัชพล สุพัฒนะ หรือ ‘มาร์ค พิทบูล’ ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรครักษ์ผืนป่าไทย เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการประมูลจัดซื้อจัดจ้างมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ในการสับเปลี่ยนทดแทนมิเตอร์จานหมุนฯ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ราคากลาง 3,430.2 ล้านบาท
นายณัชพล กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเอกชนเข้ามาร้องเรียนกับทางพรรคฯ ว่า การประมูลจัดซื้อและติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ของ กฟภ. ส่อไปในทางกีดกันการแข่งขันและอาจมีการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนบางราย เนื่องจากการประมูลครั้งนี้ มีการกำหนดเงื่อนไขให้เอกชนที่เข้าร่วมประมูลต้องผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าได้ทั้งแบบ 1 เฟสและแบบ 3 เฟส ทำให้มีเอกชนเพียง 7 ราย ที่เข้าประมูลได้ ขณะที่เอกชนที่ผลิตมิเตอร์ฯแบบ 1 เฟส อย่างเดียว ซึ่งมี 7 ราย เข้าร่วมประมูลไม่ได้
“การประมูลไม่จำเป็นต้องประมูลรวมกันเป็นก้อนเดิม แต่สามารถแยกประมูลได้ โดยใครก็ได้ที่มีสเปค และผลิตได้ในราคาดีที่สุด ก็ควรจะได้งานไป แต่โครงการฯกลับกำหนดเงื่อนไขว่า ให้ประมูลพร้อมกัน ทำให้ผู้ผลิตที่มีมิเตอร์ไฟฟ้าทั้งแบบ 1 เฟสและ 3 เฟส 7 รายเท่านั้น ที่เข้าประมูลได้ ส่วนอีก 9 รายที่ผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าแบบ 1 เฟสอย่างเดียว ถูกตัดออกจากการประมูล จึงมีเพียง 7 บริษัทที่ได้งานนี้ไป ซึ่งบริษัทที่ได้รับผลกระทบก็มายื่นข้อมูลให้กับ ป.ป.ช.ในครั้งนี้ด้วย
อีกทั้งเมื่อเราได้ไปตรวจสอบราคามิเตอร์ไฟฟ้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ในท้องตลาด พบว่าราคาปัจจุบันอยู่ที่ 600-700 บาท/ตัวเท่านั้น แต่ราคาที่ กฟภ.ประมูลได้อยู่ที่ 1,600-1,700 บาท/ตัว ราคาแพงกว่า 3 เท่า ซึ่งเราดูแล้ว ทำไมต้องมีเงื่อนไขประหลาดพิสดารด้วย และถ้าเปิดประมูลแบบปกติแล้วแยกประมูล การประมูลมิเตอร์แบบ 1 เฟส จะมีผู้ยื่นถึง 16 บริษัท และทุกคนจะแข่งราคากัน ก็จะได้ของที่มีคุณภาพและราคาถูก แต่การที่ให้คนผลิตมิเตอร์ทั้ง 2 อย่างเท่านั้น ที่เข้าประมูลได้ จึงเหมือนเป็นการเอื้อ เราจึงอยากให้มีการตรวจสอบ และเราได้พาเจ้าทุกข์ ผู้เสียหายมายื่น” นายณัชพล กล่าว
นายณัชพล กล่าวด้วยว่า พรรคฯยังยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบกรณีที่เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2566 ศาลปกครองนครราชสีมา ได้พิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดิน 32 แปลง แปลงเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ตั้งโครงการวายุวินด์ฟาร์ม ของบริษัทย่อยของ บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เพราะออกโฉนดทับพื้นที่ป่าสงวน เนื่องจากเห็นว่าการออกโฉนดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว น่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมรู้เห็นเป็นใจในการออกโฉนดด้วย
“เราคงไม่ไปยุ่งกับเอกชน แต่เรามายื่นขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่า โฉนดที่ออกมาแล้วทับพื้นที่ป่าสงวน ออกมาได้อย่างไร เป็นการออกโดยชอบหรือไม่ชอบ ถ้าออกโดยไม่ชอบ เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบไป” นายณัชพล กล่าว
อ่านประกอบ :
กีดกันแข่งขัน! เอกชนร้อง‘บิ๊กตู่-รมว.มท.’สอบประมูลมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์‘กฟภ.’ 3.4 พันล.