‘กรมราง’ ศึกษาแผนแม่บท M-MAP 2 ชี้อยู่ขั้นตอนทำแบบจำลอง ก่อนรวบรวมความเห็นจากหลากหลายหน่วยงาน - อบจ. - เอกชน เพื่อเอาเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมดมาพิจารณา ก่อนคัดเลือกรอบสุดท้าย คาดใช้เวลา 1 ปี เห็นแน่ว่า M-MAP 2 มีกี่สายทาง ไปไหนบ้าง ส่วนแผนพัฒนาสมบูรณ์ยังไม่แน่นอน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า กรมอยู่ระหว่างพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฉบับใหม่ หรือ M-MAP 2 เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งราง ให้เป็นทางเลือกในการเดินทาง เพื่อให้ประชาชนให้มีคุณภาพในการเดินทางดียิ่งขึ้น
โดการจัดทำแผน M-MAP 2 นี้ กรมได้รับการช่วยเหลือจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JICA ในการให้รับคำปรึกษา โดยปัจจุบัน การจัดทำร่างแผนแม่บท M-MAP2 อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการทำแผนแม่บท M-MAP 2
@เร่งจัดทำแบบจำลอง ก่อนทำแผนแม่บท
สำหรับแบบจำลองดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการวางแผน โดยจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มรูปแบบการเดินทางในเมืองและการขยายตัวของเมือง เพื่อกำหนดประเด็น ความจำเป็นและความเหมาะสม รวมถึงการเสนอแนะโครงข่ายที่เหมาะสม และการนำไปสู่การวิเคราะห์และจัดลำดับความสำคัญ ก่อนจะนำไปสู่การจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นรอบที่ 3
เมื่อจัดสัมมนารอบที่ 3 แล้ว ต่อไปจะเป็นของการจัดทำผลสรุปการศึกษา ซึ่งจะประกอบไปด้วย
1.แบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง และแบบจำลองความต้องการเดินทางด้วยระบบรางเชิงกิจกรรม
2.แผนแม่บท M-MAP2
3.ข้อเสนอแนะมาตรการทางด้านกฎหมาย และประเมินความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการทางด้านภาษี
4.การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ของเส้นทางใหม่ที่มีการเสนอแนะ
เมื่อสรุปผลการศึกษาแล้ว ก็จะนำไปสู่การจัดสัมมนาสรุปผลอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจะมีการนำไปจัดทำแผนแม่บท M-MAP 2 ต่อไป
พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.)
@M-MAP 2 เปลี่ยนธีม ‘ไม่เน้นสายรอง’
เมื่อถามว่า ในสมัยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีแนวคิดให้ M-MAP 2 เป็นโครงข่ายสายรองเพื่อเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้า หรือเส้นทางสายหลัก ที่อยู่ในแผนแม่บทฯระยะที่ 1 (M-MAP 1) ตอนนี้ยังเป็นแบบนั้นหรือไม่ นายพิเชฐตอบว่า ไม่แล้ว หลังจากหารือกับไจก้า แนวคิดการพัฒนาแผนแม่บท M-MAP 2 ตอนนี้จะเน้นไปที่การเติมเต็มเส้นทางที่หายไป เส้นทางที่ทางกรมอาจมองข้ามไปมากขึ้น ซึ่งจากการรับฟังความเห็นในการจัดสัมมนาคร่าวๆ พบว่ามีการเสนอเส้นทางที่ไม่อยู่ในแผนแม่บทเดิมมากมาย
@ดึง อบจ.ร่วมวงร่าง M-MAP 2
นอกจากการเสนอเส้นทางขนส่งสาธารณะของภาคส่วนต่างๆแล้ว ทางไจก้ายังแนะนำว่า ให้เชิญองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่อยู่รอบๆกรุงเทพฯ ทั้ง นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา เป็นต้น มาร่วมในการจัดทำแผนแม่บทด้วย เพราะ อบจ.เหล่านี้เริ่มมีแผนทำระบบขนส่งสาธารณะของตัวเองแล้ว
“อย่างใน จ.ปทุมธานี ที่มีพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เป็นนายกอบจ. มีแผนเสนอรถไฟฟ้าโมโนเรล 4 เส้นทาง หรือในจ.สมุทรปราการ ที่มีแผนเสนอรถไฟฟ้าโมโนเรลเช่นกัน ดังนั้น ไจก้าจึงแนะนำว่าให้เชิญอบจ.ที่อยู่รอบๆกทม.มาร่วมให้ความเห็นด้วย” อธิบดีกรมรางกล่าว
@รวบรวมโปรเจ็กต์เอกชน ออกแบบเส้นทางใหม่
นอกจากตัว อบจ.แล้ว อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ระบุว่า จะเชิญเอกชนที่มีแผนพัฒนาโครงการระดับบิ๊กโปรเจ็กต์ตามจุดต่างๆบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล มาให้ข้อมูลด้วยว่า ในอนาคตจะมีโครงการพัฒนาอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า การเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาเหล่านี้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของประชากรที่จะเดินทางไปไหนมาไหนมากขึ้น และที่ผ่านมา โครงการเหล่านี้ก็ทำให้รถไฟฟ้ามีคนใช้งานมากขึ้น เช่น เซ็นทรัล เวสต์เกต และอีเกีย บางใหญ่บนรถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นต้น
“ต้องยอมรับว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีโครงการพัฒนาของเอกชนหลายๆโครงการเกิดขึ้น อาทิ โครงการ Bangkok Mall บางนา ของกลุ่มเดอะมอลล์, โครงการ ONE BANGKOK พระราม 4 ของกลุ่มบริษัทของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ของกลุ่มเซ็นทรัลร่วมกับเครือโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งโครงการเหล่านี้จะช่วยเพิ่มทราฟฟิคให้ระบบขนส่งมวลชนในอนาคตได้ ดังนั้น กรมจึงอยู่ระหว่างรวบรวมโครงการพัฒนาเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การออกแบบเส้นทางที่เหมาะสมต่อไป” นายพิเชฐกล่าวอีก
@ปี 67 เห็นเส้นทางในแผน
ช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวถามว่า เส้นทางในแผนแม่บท M-MAP 2 จะเห็นแนวเส้นทางคร่าวๆเมื่อไหร่ อธิบดี ขร.กล่าวว่า จากนี้ต้องใช้เวลาศึกษาทำแบบจำลองให้เสร็จก่อน จากนั้นจึงจะนำเส้นทางที่รวบรวมมาคัดเลือกกันอีกครั้งตามแบบจำลอง คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1 ปีหรือประมาณต้นปี 2567 จึงจะพอเห็นภาพชัดว่าแผนแม่บท M-MAP 2 จะมีเส้นทางใดบ้าง
ส่วนแผนแม่บทฉบับสมบูรณ์ ยังมีเวลาจัดทำเพราะแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 (M-MAP 1) จะหมดอายุในปี 2572 ซึ่งเหลืออีก 6 ปี