รัฐรับข้อเสนอแนะ ‘กสม.’ ชงแก้ปัญหาโรงเรียนเอกชน ‘ฟ้องปิดปาก’ ผู้ปกครอง ขณะที่ ‘ศธ.’ เดินหน้ายกร่างระเบียบว่าด้วยจรรยามารยาทฯ ‘ผู้รับใบอนุญาต-ผู้อำนวยการ-ผู้บริหาร-บุคลากรทางการศึกษา’
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะ กรณีการบังคับให้นักเรียนลาออกจากโรงเรียนและกลั่นแกล้งดำเนินคดีอาญากับผู้ปกครอง ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เสนอ และแจ้งให้ผลการพิจารณาดังกล่าวให้ กสม.รับทราบต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ กสม.ได้รับเรื่องเรียนจากผู้กล่าวอ้างว่า โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งได้บังคับให้นักเรียน ซึ่งเป็นบุตรสาวของผู้ร้องลาออกจากโรงเรียน และแจ้งความดำเนินคดีในลักษณะที่เป็นการกลั่นแกล้งผู้ร้อง หลังจากผู้ร้อง ซึ่งเป็นผู้ปกครองได้จัดตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นช่องทางในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ปกอครอง อันสืบเนื่องจากกรณีครูพี่เลี้ยงของโรงเรียนดังกล่าวทำร้ายร่างการเด็กนักเรียนเมื่อเดือน ก.ย.2563
ทั้งนี้ กสม.ได้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามหน้าที่และอำนาจเห็นว่า การที่โรงเรียนดังกล่าวบังคับให้นักเรียนซึ่งเป็นบุตรสาวของผู้ร้องลาออกจากโรงเรียน และแจ้งความดำเนินคดีผู้ร้องต่อพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรกาญจนดิษฐ์ สถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์ และสถานีตำรวจอีกหลายท้องที่ ในประเด็นเดิมและข้อกล่าวหาเดิมแต่ช่วงเวลาต่างกัน ที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็น ‘การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะ’
หรือ ‘การฟ้องข่มขู่หรือคุกคาม’ ซึ่งทำให้ผู้ร้องได้รับความเดือดร้อนจนเกินแก่เหตุอันสมควร และยับยั้งการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีหรือการโต้เถียงในประเด็นประโยชน์สาธารณะ อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม.จึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในกรณีโรงเรียนเอกชนบังคับให้นักเรียนลาออกจากโรงเรียน และกลั่นแกล้งดำเนินคดีกับผู้ปกครอง ใน 2 ประเด็น ได้แก่
1.มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนและข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ต่อโรงเรียนเอกชนผู้ถูกร้องสถานีตำรวจภูธรกาญจนดิษฐ์ สถานีตำรวจภูธรชัยพฤกษ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ซึ่ง กสม. ได้แจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวพิจารณาดำเนินการต่อไปแล้ว
2.ในส่วนของคณะรัฐมนตรี กสม.เห็นควรมีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ต่อคณะรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยขอให้เร่งดำเนินการออกกฎหมายที่มีหลักการป้องกันการฟ้องปิดปาก หรือการดำเนินคดีโดยไม่สุจริต เพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยให้ครอบคลุมถึงกรณีการฟ้องคดีโดยเอกชนด้วย
จากนั้น กสม. โดย น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธาน กสม. ได้ทำหนังสือ เรื่อง ข้อเสนอแนะกรณีการบังคับให้นักเรียนลาออกจากโรงเรียน และกลั่นแกล้งดำเนินคดีกับผู้ปกครอง ลงวันที่ 15 ส.ค.2565 ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาดำเนินการ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกฯโดยมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักรับข้อเสนอแนะกรณีดังกล่าวไปหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
ต่อมาวันที่ 14 ธ.ค.2565 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักนิติกร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของ กสม.ในประเด็นขอให้เร่งดำเนินการออกกฎหมายที่มีหลักการป้องกันการฟ้องปิดปากหรือการดำเนินคดีโดยไม่สุจริต เพื่อปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประขาชน โดยให้ครอบคลุมถึงกรณีการฟ้องร้องโดยเอกชนด้วย
สรุปได้ว่า ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2565 อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ.... ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว
เห็นว่า ในการมีกฎหมายเพื่อคุ้มครอง ช่วยเหลือ และส่งเสริมให้ประชาชนชี้เบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตในเรื่องนี้สมควรแก้ไขเพิ่มเติมเป็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... เพื่อกำหนดกลไก็ในการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือเฉพาะแก่บุคคลผู้ให้ถ้อยคำแจ้งข้อมูลหรือเบาะแส หรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวถูกร้องทุกข์ ถูกกล่าวโทษ ถูกฟ้องคดีหรือถูกดำเนินการทางวินัยจากการดำเนินการดังกล่าวเท่านั้น
โดยยังไม่สมควรเปิดกว้างให้การคุ้มครองไปถึงบุคคลที่เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะหรือการเปิดเผยข้อมูลในลักษณะอื่นๆ เนื่องจากอาจมีผลเป็นการสนับสนุนให้มีการกล่าวหาบุคคลอื่น อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและกระทบสิทธิของบุคคลที่ถูกกล่าวหา ในชั้นนี้ จึงสมควรพิจารณาให้ความคุ้มครองเฉพาะการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตอันเป็นกลไกที่ใด้รับการรับรองไว้ในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นเบื้องต้นเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้ของร่างกฎหมายในเรื่องนี้ จะสามารถใช้เป็นข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพิจารณาเสนอกฎหมายเพื่อคุ้มครองบุคคลซึ่งถูกฟ้องคดี จากการแจ้งเบาะแสหรือเปิดเผยข้อมูลในกรณีอื่นๆได้ต่อไป โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ...) พ.ศ... ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการต่อไปแล้ว
และที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการดำเนินการดังกล่าว ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำคู่มือการคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนเอกชน และอยู่ระหว่างการดำเนินการยกร่างเพื่อออกระเบียบว่าด้วยจรรยามารยาท วินัย และหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตผู้อำนวยการ ผู้บริหาร ผู้จัดการและบุคลากรทางการศึกษา
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอรายงานผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะ กรณีการบังคับให้นักเรียนลาออกจากโรงเรียนและกลั่นแกล้งดำเนินคดีอาญากับผู้ปกครอง ของ กสม. ให้นายวิษณุ และเสนอให้ที่ประชุม ครม. รับทราบไปเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2566 ดังกล่าว