บอร์ดรถไฟ เห็นชอบรายงานผลบริการสาธารณะของ รฟท.ปี 65 พบ รฟท.ขออุดหนุนบริการสาธารณะถึง 7,587 ล้านบาท ‘คลัง’อุ้มแค่ 3,278 ล้านบาท เผยปี 66 เตรียมขอเพิ่มเป็น 7,823 ล้านบาท ก่อน สคร.ประเมินให้ 4,166 ล้านบาท ด้านผู้โดยสารทั้งปี 65 อยู่ที่ 12 ล้านคน ขณะที่ช่วง 5 เดือนแรกปีงบ 66 อยู่ที่ 9 ล้านคน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2566 เห็นชอบรายงานผลการให้บริการสาธารณะ (Public Obligation Service: PSO) ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยหลังจากเห็นชอบแล้วจะต้องส่งผล PSO นี้ จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อนำส่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ภายในวันที่ 15 พ.ค. 2566
สำหรับการรายงานผล PSO ของ รฟท. หมายถึงการให้บริการรถไฟเชิงสังคม หรือรถไฟชั้น 3 ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65 - มี.ค.66) มีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งหมด 9,062,648 คน และในปี 2565 มีผู้โดยสาร 12.372 ล้านคน ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 24.222 ล้านคนที่ 11.849 ล้านคน สาเหตุมาจากเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
@ปี 65 ขอ 7.5 พันล้าน ได้จริง 3.2 พันล้าน
ส่วนรายงานผลการให้บริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 64 - ก.ย. 65) รฟท.ยื่นข้อเสนอขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะที่ 7,587.52 ล้านบาท เป็นการจัดทำข้อเสนอตามคู่มือในการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ 2554 สำหรับ รฟท. ที่ 4,246.74 ล้านบาท และ วงเงินที่สคร.ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) การให้บริการสาธารณะที่ 3,278.86 ล้านบาท
ซึ่งวงเงิน 3,278.86 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติแล้ว 2 งวด งวดแรก 1,639.43 ล้านบาท หรือ 50% ของวงเงินที่อนุมัติ, งวดที่ 2 ได้รับ 655.7 ล้านบาท หรือ 20% ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติ ส่วนงวดสุดท้ายที่จะต้องได้รับอีก 30% ของวงเงินที่ได้รับอนุมัตินั้น อยู่ระหว่างจัดทำผลดำเนินงานเต็มปี
สำหรับการอนุมัติวงเงินในแต่ละงวดนั้น มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
งวดที่ 1 อนุมัติภายหลังจากการลงนามในบันทึกข้อตกลง
งวดที่ 2 อนุมัติภายหลังจากคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะให้ความเห็นชอบ ผลการดำเนินงานประจำงวดครึ่งปี โดยให้ รฟท. จัดทำรายงานผลการให้บริการสาธารณะประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ 2565 ตามที่คณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะกำหนด เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะภายใน 60 วัน หลังสิ้นสุดรอบการดำเนินงานงวดครึ่งปีงบประมาณ
และงวดที่ 3 อนุมัติภายหลังจัดทำรายงานผลการให้บริการสาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่คณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะกำหนด เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะภายใน 45 วัน
หลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบงบการเงินประมาณ 2565 แล้วเสร็จ หาก รฟท. ไม่สามารถนำส่งรายงานผลการให้บริการสาธารณะประจำปีได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด คณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะมีสิทธิที่จะพิจารณาไม่จ่ายเงินอุดหนุนสำหรับงวดที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายที่เหลือได้
@ปี 66-67 แบกเพิ่มพุ่ง 7,800-8,000 ล้านบาท
ส่วนในปี 2566 รฟท.ยื่นข้อเสนอขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะที่ 7,823.74 ล้านบาท เป็นการจัดทำข้อเสนอตามคู่มือในการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ 2554 สำหรับ รฟท. ที่ 4,166.82 ล้านบาท ส่วนการนำวงเงินพิจารณาเพื่อทำ MOU สคร.กำลังนำเข้าหลักเกณฑ์ชดเชยตามกฎหมาย
ขณะที่ปี 2567 รฟท.ยื่นข้อเสนอขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะที่ 8,450.93 ล้านบาท เป็นการจัดทำข้อเสนอตามคู่มือในการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ 2554 สำหรับ รฟท. ที่ 4,732.79 ล้านบาท
ทั้งนี้ เงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) นั้น คำนวณจากส่วนต่างของรายได้และต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้บริการ ที่รฟท.ไม่สามารถปรับค่าโดยสารได้ตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งที่มาของรายได้จาก ระยะทางในการให้บริการ ปริมาณขบวนรถไฟต่อวัน รวมไปถึงจำนวนผู้โดยสาร เป็นต้น ส่วนต้นทุนมีทั้ง ต้นทุนคงที่ เช่น ค่าซ่อมแซม ซ่อมบำรุง ค่าเบี้ยประกัน ค่าใช้จ่ายบุคลากร ฯลฯ และต้นทุนผันแปร เช่น ค่าเชื้อเพลิง ฯลฯ และยังมีต้นทุนทางอ้อมอีก เช่น ค่าโครงสร้างพื้นฐาน ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น
ที่มาภาพ: การรถไฟแห่งประเทศไทย