ป.ป.ช. มุ่งสร้างความเข้าใจภาคเอกชนงดให้สินบน มีความผิดทั้งผู้ให้-ผู้รับ ปัญหาเรื้อรังที่นำไปสู่การทุจริตระดับประเทศ เตือนจ่ายค่าอำนวยความสะดวกมีความเสี่ยงเข้าข่าย เสียต้นทุนโดยไม่จำเป็น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ การแก้ไขปัญหาการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐของภาคเอกชน โดยเน้นย้ำว่า นิติบุคคลหรือภาคธุรกิจเอกชน ไม่ควรจ่ายค่าอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะด้วยกรณีใด เนื่องจากการยอมจ่ายค่าอำนวยความสะดวกจะเข้าข่ายการให้สินบนได้
โดย นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า การให้สินบนนับว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นทั้งในระดับประเทศ และโยงใยไปถึงการให้สินบนเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจระหว่างประเทศที่ส่งผลกระทบกับความน่าเชื่อถือ และขัดขวางประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อการบริหารประเทศ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบที่เป็นบ่อนทำลายชาติ เน้นย้ำหลักธรรมาภิบาลให้กับเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐ เกิดเป็นวัฒนธรรม “ไม่ให้ - ไม่รับ ของขวัญ” หรือ No Gift Policy
อย่างไรก็ตามปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นทั้งจาก ผู้ให้สินบน คือ เอกชน กับ ผู้รับ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น การป้องกันปัญหาสินบนที่มีประสิทธิภาพที่สุดต้องป้องกันทั้งสองฝ่าย เพราะ “เมื่อไม่มีผู้ให้ก็ไม่มีผู้รับ” จึงได้มีการบัญญัติกฎหมายไว้เอาผิดกับเอกชนหรือนิติบุคคลที่พร้อมหยิบยื่น “สินบน” ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 176 ได้กำหนดความรับผิดสำหรับบุคคลที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งได้กำหนดความรับผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน ได้กำหนดโทษปรับที่มีมูลค่าสูง เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด
นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ยังได้กำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติสำหรับนิติบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกี่ยวข้องกับการให้สินบน เช่น การให้นิติบุคคลมีการประเมินความเสี่ยงในการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับหน่วยงานรัฐ เช่น ค่าของขวัญ ค่ารับรอง การบริจาค ค่าอำนวยความสะดวก ฯลฯ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นการให้สินบน นิติบุคคลจึงต้องกำหนดแนวทางในการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายประเภทนี้อย่างชัดเจน ว่ารายการใดเบิกได้ และประเภทใดไม่สามารถเบิกจ่ายได้ ตลอดจนต้องมีมาตรการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้
นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 128 ได้กำหนดมูลค่าทรัพย์สินไว้ ไม่ว่าจะเป็นค่ารับรอง ค่าของขวัญ ฯลฯ ต้องมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท เว้นจะมีอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นที่กำหนด ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา
ทั้งนี้ นิติบุคคลหรือภาคธุรกิจเอกชน ไม่ควรจ่ายค่าอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะด้วยกรณีใด เนื่องจากการยอมจ่ายค่าอำนวยความสะดวกจะเข้าข่ายการให้สินบนได้
ภาคธุรกิจไม่ต้องเสียต้นทุนไปกับการให้ที่ไม่จำเป็น นอกจากจะเป็นการลดต้นทุนบริษัทแล้ว ยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการประกอบธุรกิจบนความโปร่งใส ที่ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย