เผยมติ ป.ป.ช. เอกฉันท์ตีตกข้อกล่าวหา 'กาญจนา สมวงศ์' อดีตเลขาฯ สภากรุงเทพมหานคร - พวก 5 ราย รวม 'พรเทพ เตชะไพบูลย์' รองผู้ว่าฯ จัดซื้อตั๋วเครื่องบินยกคณะศึกษาดูงานตปท.ผ่านตัวแทนจำหน่าย ไม่มีระเบียบ-แพงกว่าปกติ เหตุไต่สวนพบไม่มีมูล ฟังไม่ได้ว่ากระทำความผิดทุจริตต่อหน้าที่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหา นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร , นางสาวกาญจนา สมวงศ์ ข้าราชการบำนาญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร , นายหรรษารมย์ โกมุทผล ข้าราชการบำนาญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร , นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ข้าราชการบำนาญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร , นายทวีศักดิ์ เดชเดโช ข้าราชการบำนาญ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองปลัดกรุงเทพมหานคร และ นายพิรกร วีรกุลสุนทร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินจากสายการบินศรีลังกันแอร์ไลน์ ผ่านห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามแปซิฟิก เอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่าย โดยไม่มีระเบียบและหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ให้ซื้อบัตรโดยสาร ของสายการบินอื่นผ่านตัวแทนจำหน่ายได้ โดยแพงกว่าซื้อจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และไม่มีการเปรียบเทียบราคา เนื่องจากผลการไต่สวนเบื้องต้น
ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป
โดยคดีนี้ มีจุดเริ่มต้น จากสภากรุงเทพมหานครได้อนุมัติโครงการอบรม สัมมนา ดูงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร ประจำปี 2554 โดยสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานครได้จัดทำโครงการอบรมสัมมนาดูงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร งบประมาณจำนวน 53,854,211 บาท มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกสภาเขต จำนวน 362 คน ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 244 คน และเจ้าหน้าที่ดำเนินการ จำนวน 33 คน รวมทั้งสิ้น 639 คน เข้ารับการอบรมและศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการเมือง ฯลฯ ระหว่างวันที่ 6 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2554 โดยหลักสูตรสมาชิกสภาเขต ศึกษาดูงานณ ประเทศในทวีปยุโรป จำนวน 6 รุ่น หลักสูตรผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ศึกษาดูงาน ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 5 รุ่น และประธานสภากรุงเทพมหานคร เห็นชอบให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 11 คน เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปศึกษาดูงานร่วมกับสมาชิกสภาเขตและผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร โดยนางสาวกาญจนา สมวงศ์ ได้มีหนังสือ ที่ กท 1111/3292 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ถึงปลัดกรุงเทพมหานคร เรื่อง ขออนุมัติโครงการและค่าใช้จ่ายโครงการอบรม สัมมนา ดูงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร และได้แจ้งรายละเอียดว่าได้จัดอบรมและศึกษาดูงานเป็นสองหลักสูตร ดังนี้
1. หลักสูตร "เสริมสร้างวิสัยทัศน์ที่ดีสำหรับสมาชิกสภาเขต" เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ สาธารณรัฐอิตาลี สมาพันธรัฐสวิสและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จำนวน 6 รุ่น รุ่นละ 8 วัน 7 คืนประกอบด้วย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 6 คน สมาชิกสภาเขต จำนวน 362 คน ข้าราชการและลูกจ้างสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 18 คน ค่าใช้จ่ายจำนวน 33,843,611 บาท
2. หลักสูตร "เสริมสร้างวิสัยทัศน์ที่ดีสำหรับผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร" เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 6 วัน 5 คืน ประกอบด้วย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 5 คน ผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 244 คน ข้าราชการและลูกจ้างสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร จำนวน 15 คน ค่าใช้จ่ายจำนวน 18,143,711 บาท โดยขออนุมัติให้ซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินสายการบินศรีลังกันแอร์ไลน์ เส้นทางกรุงเทพ - โคลัมโบ -มิลาน และแฟรงค์เฟิร์ต - โคลัมโบ โคลัมโบ -กรุงเทพ ชั้นธุรกิจ ราคา 123,111 บาท ชั้นประหยัด ราคา 39,111 บาท และเส้นทางกรุงเทพ - ปักกิ่ง - กรุงเทพ ชั้นธุรกิจ ราคา 52,811 บาท ชั้นประหยัด ราคา 21,111 บาท จากห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามแปซิฟิก เอ็กซ์เพรส เนื่องจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถจัดหาบัตรโดยสารเครื่องบินให้ได้
นายหรรษารมย์ โกมุทผล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักงานปลัดกรุงเทพมหานคร ได้เสนอบันทึกผ่านนายทวีศักดิ์ เดชเดโช รองปลัดกรุงเทพมหานคร และนายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่ออนุมัติโครงการและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้อนุมัติตามที่เสนอและอนุมัติให้ซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินจากสายการบินศรีลังกันแอร์ไลน์ โดยซื้อผ่านห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามแปซิฟิกเอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารเครื่องบินและประกอบธุรกิจท่องเที่ยว โดยไม่มีระเบียบและหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง ให้ซื้อบัตรโดยสารของสายการบินอื่นผ่านตัวแทนจำหน่ายได้
ทั้งเป็นการซื้อในราคาแพงผิดปกติ โดยแพงกว่าซื้อจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และแพงกว่าซื้อจากสายการบินศรีลังกันแอร์ไลน์โดยตรง โดยไม่มีการเปรียบเทียบราคา
จึงเป็นการอนุมัติให้ซื้อบัตรโดยสารผ่านตัวแทนจำหน่ายโดยมิชอบ และจงใจที่จะหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยใช้บริการ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของสายการบินอื่นจากตัวแทนจำหน่ายอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลัง ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 1526.5/ว 113 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2542 เรื่อง การซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ และเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 1418.2/ว 112 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 เรื่อง การซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินในการเดินทางไปต่างประเทศจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเหตุให้กรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ต้องปฏิบัติตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม พ.ศ. 2541 และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 ที่กำหนดให้ ค่ายานพาหนะ ก่อน ระหว่างและหลังการฝึกอบรม หรือการดูงานในลักษณะเหมา ให้เบิกจ่ายได้ตามที่จ่ายจริงตามความจำเป็นและประหยัด โดยให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานผู้จัดการฝึกอบรม ทั้งนี้ ถ้าใช้เครื่องบินโดยสารเป็นยานพาหนะในการเดินทางไปฝึกอบรมในต่างประเทศ ให้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและหนังสือกระทรวงการคลังที่กำหนดในเรื่องดังกล่าวด้วย ดังนั้น การซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินในการเดินทางไปต่างประเทศ ยังต้องปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 1526.5/ว 113 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2542 เรื่อง การซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินในการเดินทางไปต่างประเทศ และหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 1418.2/ว 112 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2546 เรื่อง การซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินในการเดินทางไปต่างประเทศ จากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งวางแนวทางปฏิบัติไว้โดยสรุป กล่าวคือ ให้ข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการตลอดจนพนักงานของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่จะเดินทางไปต่างประเทศ หรือเดินทางกลับประเทศไทยซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แต่เพียงแห่งเดียว
แต่หากในกรณีที่มีความจำเป็นต้องซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของสายการบินอื่นนอกจากสายการบินที่ร่วมมือให้ส่วนลดกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เปรียบเทียบราคาค่าบัตรโดยสารเครื่องบินที่ซื้อจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับราคาค่าบัตรโดยสารเครื่องบินของสายการบินอื่น หากราคาค่าบัตรโดยสารของสายการบินดังกล่าวมีราคาต่ำกว่าราคาค่าบัตรโดยสารที่ซื้อจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ให้ซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินของสายการบินอื่นได้ โดยในการดำเนินการให้มีหนังสือสอบถามราคาค่าบัตรโดยสารเครื่องบินจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก่อน ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จะมีหนังสือแจ้งให้ทราบภายใน 3 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับการสอบถาม อย่างไรก็ดี หากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถแจ้งให้ทราบภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือแจ้งว่าไม่สามารถจัดหาบัตรโดยสารให้ได้ ก็ให้ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ สามารถจัดซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินจากสายการบินอื่นได้ โดยให้อยู่ ในดุลพินิจของหัวหน้าส่วนราชการ
ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถจัดหาบัตรโดยสารสำหรับโครงการอบรม สัมมนา ดูงาน ตามยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานครให้แก่สมาชิกสภาเขต และผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร รวม 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรเสริมสร้างวิสัยทัศน์ที่ดีสำหรับสมาชิกสภาเขต และหลักสูตรเสริมสร้างวิสัยทัศน์ที่ดีสำหรับผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ได้ครบในทุกรุ่นการเดินทาง สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานครจึงต้องซื้อบัตรโดยสารจากสายการบินอื่นเฉพาะในรุ่นการเดินทางที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถจัดหาให้ได้
แต่ความกลับปรากฏว่า มีการอนุมัติเปลี่ยนแปลงกำหนดการเดินทางของโครงการอบรมสัมมนาในทั้ง 2 หลักสูตรดังกล่าว ส่งผลให้สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานครต้องมีหนังสือสอบถามเกี่ยวกับกำหนดการเดินทางและบัตรโดยสารไปยังบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อีกครั้งหนึ่ง
แต่ก็มิได้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสอบถามในเรื่องดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร คงปรากฏแต่เพียงการกล่าวอ้างด้วยวาจาว่าได้มีการติดต่อกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แล้ว ซึ่งบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถจัดหาบัตรโดยสารให้ได้ในทุกรุ่นการเดินทาง จึงได้มีหนังสือเสนอความเห็นตามลำดับเพื่อให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครพิจารณาอนุมัติให้จัดซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินจากสายการบินศรีลังกันแอร์ไลน์ เพียงสายการบินเดียวผ่านห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามแปซิฟิกเอ็กซ์เพรส กรณีจึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่า การดำเนินการเช่นว่านั้นเป็นการดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามแปซิฟิกเอ็กซ์เพรส หรือไม่ อย่างไร
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานแล้ว ปรากฏว่า สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานครได้มีหนังสือสอบถามราคาบัตรโดยสารและที่นั่งไปยังสายการบินต่าง ๆ และห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามแปซิฟิกเอ็กซ์เพรส ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารแล้ว กับทั้งราคาบัตรโดยสารที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามแปซิฟิกเอ็กซ์เพรส จัดหาให้แก่สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร ก็มีราคาถูกกว่าราคาบัตรโดยสารที่ซื้อจากบริษัท ศรีลังกันแอร์ไลน์ จำกัด โดยตรง แม้จะมีราคาแพงกว่าบัตรโดยสารของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก็ตาม ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในภายหลังจากการมีหนังสือสอบถามไปยังบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ปรากฏว่าบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถจัดหาบัตรโดยสารให้ได้ในทุกรุ่นการเดินทาง ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมศึกษาดูงานในโครงการดังกล่าว ขอเปลี่ยนแปลงรุ่นในการศึกษาดูงาน ส่งผลให้การซื้อบัตรโดยสารของสายการบินมากกว่า 1 สายการบินขึ้นไป จะต้องดำเนินการขออนุมัติจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมในรุ่นที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถจัดหาบัตรโดยสารให้ได้ สามารถใช้สายการบินอื่นนอกจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ทำให้การขอย้ายรุ่นการอบรมไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากกรณีย่อมไม่เป็นไปตามที่ได้ขออนุมัติไว้
อีกทั้งหากมีการเปลี่ยนแปลงที่นั่งระหว่างสายการบิน 2 สายการบิน อาจไม่สามารถจัดหาบัตรโดยสารได้ทันตามกำหนดการในโครงการดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่สำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานครมีเหตุผลความจำเป็นในการเสนอขออนุมัติจัดซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินจากสายการบินเดียว และเป็นกรณีที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครใช้ดุลพินิจในการอนุมัติซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินจากสายการบินศรีลังกันแอร์ไลน์ จำกัดเพียงสายการบินเดียว ผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งมีราคาถูกกว่าการซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินจากบริษัท ศรีลังกันแอร์ไลน์ จำกัด โดยตรง ซึ่งการซื้อบัตรโดยสารผ่านตัวแทนจำหน่าย ก็มีหนังสือของกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 1419.7/ว.25 ลงวันที่ 22 มกราคม 2547 เรื่อง การใช้ใบเสร็จรับเงินของบริษัททัวร์เป็นหลักฐานประกอบการเบิกจ่าย ที่กำหนดแนวทางในกรณีที่บริษัททัวร์เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวแก่การซื้อบัตรโดยสารได้ โดยให้ใช้ใบเสร็จรับเงินของบริษัททัวร์เป็นหลักฐานประกอบ การเบิกจ่าย เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามแปซิฟิกเอ็กซ์เพรส มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเป็นการจัดหาบัตรโดยสารเครื่องบิน
จึงสามารถซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินผ่านห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวได้ ประกอบกับการจ่ายเงินค่าบัตรโดยสารตามสำเนาเอกสารการเบิกจ่ายในโครงการดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามแปซิฟิกเอ็กซ์เพรส ก็เป็นการจ่ายค่าบัตรโดยสารไปตามอัตราที่ห้างดังกล่าวแจ้งยืนยันราคาบัตรโดยสารต่อสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร
ดังนั้น การดำเนินการของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย นางสาวกาญจนา สมวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร นายหรรษารมย์ โกมุทผล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร นายทวีศักดิ์ เดชเดโช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกรุงเทพมหานคร และนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
@ พรเทพ เตชะไพบูลย์
จึงเป็นการพิจารณาให้ความเห็นเกี่ยวกับการซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินและอนุมัติให้ซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินผ่านตัวแทนจำหน่ายตามอำนาจหน้าที่ของทางราชการเท่านั้น แม้กรณีจะเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบและหนังสือของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการซื้อบัตรโดยสาร เฉพาะในรุ่นการเดินทางที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สามารถจัดหาบัตรโดยสารให้ได้
แต่ก็เป็นกรณีที่ไม่ปรากฏเจตนาทุจริตที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามแปซิฟิกเอ็กซ์เพรส ได้รับประโยชน์จากการซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินให้แก่กรุงเทพมหานครดังกล่าวและไม่ปรากฏเจตนาที่แสดงถึงลักษณะของการมุ่งประสงค์ให้ทางราชการได้รับความเสียหายแต่อย่างใด สำหรับกรณีของนายพิรกร วีรกุลสุนทร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนปรากฏว่า นายพิรกร วีรกุลสุนทร เป็นแต่เพียงผู้ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานภายใต้โครงการที่กรุงเทพมหานครอนุมัติ ซึ่งระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินการนำส่งเงิน และการตรวจเงิน พ.ศ. 2531 กำหนดหลักเกณฑ์ไว้แต่เพียงให้จ่ายเงินยืมได้ในกรณีที่ผู้ยืมได้ทำสัญญาการยืมเงินและรับรองว่าจะปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับของทางราชการ และจะนำใบสำคัญคู่จ่ายที่ถูกต้องรวมทั้งเงินเหลือจ่ายส่งใช้คืนตามที่กำหนด เท่านั้น นายพิรกรจึงมีเพียงหน้าที่ตามสัญญายืมเงินที่จะต้องชดใช้เงินเหลือจ่ายภายในเวลาที่ปรากฏในสัญญายืมเงินเท่านั้น
และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายพิรกร วีรกุลสุนทร มิได้เป็นผู้รับเงินยืมดังกล่าวเนื่องจากได้มีการส่งมอบเงินยืมเป็นเช็คให้แก่คณะกรรมการรับเงินในแต่ละรุ่นการเดินทาง รวมทั้งมิได้มีอำนาจหน้าที่ประการใดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบัตรโดยสารเครื่องบิน กรณีจึงไม่อาจกล่าวได้ว่านายพิรกร วีรกุลสุนทร ผู้ถูกกล่าวหาที่ 6 ได้ร่วมกระทำการจัดซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินโดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อมุ่งประสงค์ให้ทางราชการได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ด้วยเหตุและผลตามที่ได้พิจารณาแล้ว
คณะผู้ไต่สวนเบื้องต้น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนยังฟังไม่ได้ว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหกมีมูลเป็นความผิดอาญาตามข้อกล่าวหา ข้อกล่าวหาจึงไม่มีมูลตามที่กล่าวหา เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของคณะไต่สวนเบื้องต้น จากการไต่สวนเบื้องต้น ขอเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป