ผ่าแนวถนนวงแหวนรอบที่ 3 ระยะทางรวม 262 กม. แบ่ง 3 ด้าน เหนือ-ใต้-ตะวันตก อธิบดีคาดสิ้นปี 2566 ศึกษาแล้วเสร็จชัวร์ ชี้แบ่งสร้าง 6 ส่วนครอบคลุม 5 จังหวัด ‘ปทุมฯ-กทม.-สมุทรปราการ-สมุทรสาคร-นครปฐม’ พลิกผลศึกษาเดิมปี 2552 ใช้เงินทุ่มกว่า 1.5 แสนล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 เมษายน 2566 หลังจากที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะเปิดให้มีการซื้อซอง TOR งานโยธาโครงการทางด่วนฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.21 กม. วงเงิน 24,060.04 ล้านบาทในช่วงเดือนพ.ค. 2566 นี้
โดยงานก่อสร้างแบ่งเป็น 4 สัญญา แต่สัญญาที่ 4 ยังติดปัญหาการเชื่อมต่อช่วงปลายทางกับโครงการถนนวงแหวนรอบที่ 3 (MR10) ของกรมทางหลวง (ทล.) ทำให้ กทพ. มีแนวทางดำเนินการ 2 ทางคือ 1. ประมูลพร้อมกันทั้ง 4 สัญญา โดยสัญญาที่ 4 จะประมูลแบบมีเงื่อนไข เนื่องจากมีแนวคิดที่จะปรับแนวเส้นทางจากมติครม.ที่ไปเชื่อมที่ ถ.ลำลูกกา กม.ที่ 16.210 ไปเป็นเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งออกแบบให้ไปสิ้นสุดที่ ถ.ลำลูกกา กม.ที่ 19+250 โดยสถานะปัจจุบันของการปรับแนว กำลังทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และจะเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) พิจารณาอีก 2 เดือน และ 2. รอรายงาน EIA พิจารณาแล้วเสร็จ และะเสนอที่ประชุม ครม. ชุดใหม่พิจารณาปรับแนวเส้นทางใหม่ไปเชื่อมกับถ.วงแหวนรอบที่ 3 ก่อน
ซึ่งจะได้ข้อสรุปในอีก 2-3 เดือนต่อจากนี้
ล่าสุด นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า เนื่องจากโครงการวงแหวนรอบที่ 3 ถูกบรรจุลงในแผนพัฒนาโครงการข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองร่วมกับระบบราง (MR-Map) ซึ่งถูกเรียกในชื่อใหม่ว่า แนวเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (MR10) ปัจจุบันโครงการนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยตามผลการศึกษาเมื่อปี 2552 มีมูลค่าโครงการอยู่ที่ 157,700 ล้านบาท
เบื้องต้น วงแหวนรอบที่ 3 ที่กำลังศึกษานี้จะมีระยะทางรวม 330 กม. แบ่งได้ 6 ส่วนและแต่ละส่วนมีสถานะการดำเนินโครงการ ดังนี้
1.วงแหวนรอบที่ 3 ด้านเหนือ ช่วงสุพรรณบุรี - ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ทล.32) บริเวณทางรถไฟบ้านภาชี อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 33 กม. อยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) ของโครงการ หลังจากนั้น จะเป็นขั้นตอนการออกแบบในรายละเอียดของโครงการ (Detail Design) พร้อมไปกับการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในขั้นนี้คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการระหว่างปี 2570-2571 คาดว่าจะได้เริ่มก่อสร้างในปี 2574-2577 เปิดให้บริการ 2578
แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอ ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี 1 อำเภอ คือ อ.เมืองสุพรรณบุรี, จ.อ่างทอง 1 อำเภอ คือ อ.ป่าโมก และจ.พระนครศรีอยุธยา 2 คือ อ.ผักไห่ และ อ.บางปะหัน
จุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางอยู่บริเวณต.ดอนตาล อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ตัดกับถนนทางหลวงหมายเลข 33 (นาคู-ป่าโมก) บริเวณต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตัดกับถนนทางหลวงหมายเลข 3454 (หน้าโคก-เสนา) และตัดข้ามแม่น้ำน้อย บริเวณต.อมฤต อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
จากนั้นตัดกับถนนทางหลวงหมายเลข 3501 (อ่างทอง-บางหลวงโดด) และข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต. ป่าโมก อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง มุ่งหน้าต่อทางทิศตะวันออกตัดผ่านถนนทางหลวงหมายเลข 309 (บางเสด็จ-แยกที่ดิน) ที่ต.บางปลากด อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง จากนั้นมุ่งหน้าสู่ทิศ ตะวันออกเฉียงเหนือ จนไปสิ้นสุดที่ถนนทางหลวงหมายเลข 32 (นครหลวง-อ่างทอง) ต.หันสัง อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา
2. วงแหวนรอบที่ 3 ด้านตะวันออก ระยะที่ 1 ช่วงทล.32-ทล.305 ระยะทาง 70 กม. ปัจจุบันศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเสร็จแล้ว กำลังออกแบบในรายละเอียดและจัดทำรายงาน EIA ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2566 นี้ วางกำหนดการก่อสร้างไว้ระหว่างปี 2569 - 2572 และน่าจะเปิดให้บริการในปี 2573
แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด 8 อำเภอ ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บางปะหัน อ.นครหลวง อ.ภาชี อ.อุทัย และ อ.วังน้อย , จ.สระบุรี 1 อำเภอ คือ อ.หนองแค และจ.ปทุมธานี 2 อำเภอ ประกอบด้วย อ.หนองเสือ และ อ.ธัญบุรี
จุดเริ่มต้น อยู่บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 32 (นครหลวง-อ่างทอง) ที่ต.หันสัง อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา มุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออกไปตัดกับถนนทางหลวงหมายเลข 347 (บางปะหัน-เจ้าปลุก) แล้วมุ่งสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อยจนตัดกับถนนหมายเลข 3013 (ทล.347-นครหลวง) และถนนทางหลวงหมายเลข 3467 (นครหลวง-ท่าเรือ) และตัดข้ามแม่น้ำป่าสัก บริเวณต.แม่ลา อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ตัดกับ ถนนหมายเลข 2008 (ทล.33-บ้านปากแรด) และถนนหมายเลข 5026 (ทช.3008-บ้านตลาด)
ก่อนที่แนวเส้นทางจะเบี่ยงลงใต้เล็กน้อยและตัดกับทางหลวงหมายเลข 33 (บางปะหัน-โคกแดง) ที่ต.ภาชี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา มุ่งหน้าต่อทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตัดผ่านถนนหมายเลข 3027 (ทล.329-บ้านดอนข่อย) และหมายเลข 3012 (บ้านชายสิงห์-บ้านท่าหิน) ก่อนจะเปลี่ยนทิศทางไปยังทิศใต้เล็กน้อยและตัดกับถนนทางหลวงหมายเลข 3043 (อุทัย-หนองตาโล่) และถนนทางหลวงหมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) ที่ ต.โพธิ์สาวหาญ อ.อุทัย และมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ จ.สระบุรี ผ่านอ.หนองแค และเข้าสู่ จ.พระนครศรีอยุธยาอีกครั้งที่ อำเภอวังน้อย ก่อนตัด กับถนนทางหลวงหมายเลข 1 (ต่างระดับบางปะอิน-หนองแค) ที่ต.สนับทึบ อ.วังน้อย
จากนั้นมุ่ง หน้าสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ จ.ปทุมธานี ตัดกับถนนหมายเลข 1021 (ทล.1-ทล.3261) และ หมายเลข 3261 (คลอง 10-หนองเสือ) ก่อนที่จะเปลี่ยนทิศทางไปทางทิศใต้ จนไปสิ้นสุดแนวเส้นทางที่ ถนนทางหลวงหมายเลข 305 (วัดนาบุญ-คลอง14) ที่ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี
3.วงแหวนรอบที่ 3 ด้านตะวันออก ระยะที่ 2 ช่วง ทล.305-ทล.34 ระยะทาง 52 กม. ปัจจุบันศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเสร็จแล้ว และได้บรรจุลงในแผนความต้องการเงินกู้ 5 ปี (2566 - 2570) เรียบร้อยแล้ว มีมูลค่าโครงการรวม 69,950 ล้านบาท คาดว่าในปี 2567 จะจัดจ้างที่ปรึกษา วงเงิน 34.62 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงงานออกแบบในรายละเอียดและทบทวนการจัดทำรายงาน EIA ก่อนที่ระหว่างปี 2568-2570 จะเป็นช่วงของการจัดทำและเสนอร่างพ.ร.ฎ.จัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเวนคืนสิ่งปลูกสร้าง และเริ่มต้นก่อสร้างปี 2570
แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด 2 เขต 3 อำเภอ ได้แก่ จ.ปทุมธานี 2 อำเภอ คือ อ.ธัญบุรี และ อ.ลำลูกกา, จ.สมุทรปราการ 1 อำเภอ คือ อ.บางเสาธง และกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2 เขตคือ เขตหนองจอกและเขตลาดกระบัง
จุดเริ่มต้น อยู่บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 305 (วัดนาบุญ-คลอง14) ที่ต.บึงสนั่น อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี มุ่งหน้าสู่ทิศใต้จนตัดกับถนนทางหลวงหมายเลข 3312 (ลำลูกกา-คลอง16) และมุ่งหน้าสู่ทิศใต้เข้าสู่ กรุงเทพมหานคร ตัดผ่านถนนมิตรไมตรีและถนนเลียบวารี บริเวณแขวงคู้ฝั่งเหนือ เขตหนองจอก แล้วมุ่งหน้าสู่ทิศใต้ค่อนไปทางทิศตะวันออก เล็กน้อยตัดถนนทางหลวงหมายเลข 304 (แยกเข้ามีนบุรี-คลองหลวงแพ่ง) และตัดผ่านถนนฉลองกรุง
จากนั้นมุ่งหน้าลงทิศใต้ค่อนไปทางตะวันออกผ่านเขตหนองจอก ก่อนแนวเส้นทางจะเปลี่ยนไปทางทิศใต้ บริเวณแขวงขุมทอง เขตลาดกระบัง และมาตัดกับถนนหลวงแพ่ง ก่อนเข้าสู่ จ.สมุทรปราการ และ เข้าตัดกับถนนทางหลวงหมายเลข 7 (แขวงคลองสองต้นนุ่น-พิมพา) ที่ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ จากนั้นมุ่งหน้าสู่ทางทิศใต้ จนไปสิ้นสุดแนวเส้นทางที่ถนนทางหลวงหมายเลข 34 (ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-บางวัว) ที่ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ
4.วงแหวนรอบที่ 3 ด้านใต้ ช่วงทล.34-ทล.35 ระยะทาง 77 กม. เนื่องจากโครงการนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาและถนนเชื่อมต่อบริเวณ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ-จ.สมุทรสาคร ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 96,600 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเดือน ก.ค. 2565 มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โอนโครงการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการไปแล้ว
โดยจะมีการปรับแนวเส้นทางบางช่วง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน รวมทั้งพิจารณาการออกแบบแนวเส้นทางช่วงสะพานข้ามแม่น้ำ เจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน เพื่อรองรับทั้งทางมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ
สถานะปัจจุบัน กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ศึกษาความเป็นไปได้และแนวเส้นทางไว้เรียบร้อยแล้ว ทาง กทพ.ที่รับมอบโครงการมาอีกทีหนึ่ง กำลังศึกษาต่อในรายละเอียด พร้อมไปกับการจัดทำรายงาน EIA ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 นี้ วางไทม์ไลนเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2569 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2573
แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 1 เขต 6 อำเภอ ได้แก่ จ.สมุทรปราการ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บางเสาธง อ.บางบ่อ อ.บางพลี อ.เมืองสมุทรปราการ และ อ.พระสมุทรเจดีย์ , กรุงเทพมหานคร 1 เขต คือ เขตบางขุนเทียน และจ.สมุทรสาคร 1 อำเภอ คือ อ.เมืองสมุทรสาคร
จุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางอยู่บริเวณทางหลวงหมายเลข 34 (ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-บางวัว) ที่ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ โดยแนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ตัดกับ ทางหลวงหมายเลข 3268 (บางพลี-บางบ่อ) จากนั้นแนวเส้นทางเข้าสู่เขตพื้นที่ อ.บางบ่อ ต.บางเพรียง แล้วเปลี่ยนทิศทางไปทางทิศตะวันตก เข้าสู่เขตพื้นที่ อ.บางพลี ที่ต.บางปลา แนวเส้นทางตัดกับทางหลวงหมายเลข 3256 (บางปู-บางพลี) ที่ต.บางปลา
จากนั้นแนวเส้นทางเข้าสู่อ.เมืองสมุทรปราการ โดยแนวเส้นทางมุ่งขนานกับถนนท้องถิ่น สป.ก. 16-001 (ถนนแพรกษา) ที่ต.แพรกษาใหม่ แนวเส้นทางเบี่ยงไปมุ่งหน้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ผ่านต.แพรกษา จากนั้น แนวเส้นทางตัดกับทางหลวงหมายเลข 3 (แบริ่ง-ท้ายบ้าน) ที่ต.ท้ายบ้านใหม่ แนวเส้นทางเบี่ยงไป ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ต.ท้ายบ้าน แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เข้าสู่อ.พระสมุทรเจดีย์ โดยแนวเส้นทางขนานกับทางหลวงหมาย 3243 (ทางเข้าวัดแหลมฟ้าผ่า) ผ่านต.แหลมฟ้าผ่า ต.นาเกลือ
จากนั้นแนวเส้นทางผ่านแขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร แนวเส้นทางเข้าสู่อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร โดยแนวเส้นทางผ่าน ต.พันท้ายนรสิงห์ ต.โคกขาม ต.บางหญ้าแพรก และข้ามแม่น้ำท่าจีน ผ่านตำบลท่าจีน ต.บางกระเจ้า ต.บ้านบ่อ จากนั้นแนวเส้นทางเบี่ยงมุ่งสู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่ต.บางโทรัด และสิ้นสุดเส้นทางที่แนวเส้นทางที่ทางหลวงหมายเลข 35 (สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนฝั่งตะวันตก-นาโคก) ที่ต.บางโทรัด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร
5.วงแหวนรอบที่ 3 ด้านตะวันตก ระยะที่ 1 ช่วง ทล.35-นครปฐม ระยะทาง 23 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษาและแนวเส้นทางที่ชัดเจน และคาดว่าจะเริ่มออกแบบในรายละเอียด พร้อมไปกับจัดทำรายงาน EIA ในปี 2567
แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 4 อำเภอ ได้แก่ จ.สมุทรสาคร 2 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองสมุทรสาคร และ อ.บ้านแพ้ว และจ.นครปฐม 2 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สามพราน และ อ.นครชัยศรี
จุดเริ่มต้นของแนวเส้นทาง อยู่บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 (ดาวคะนอง-วังมะนาว) ที่ต.บางโทรัด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร มุ่งหน้าไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือผ่านคลองท่าแร้ง ก่อนที่ แนวเส้นทางจะเปลี่ยนไปทางทิศเหนือตัดกับถนนทางหลวงหมายเลข 375 (บ้านบ่อ-ลำลูกบัว) ที่ต.หลักสาม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร มุ่งหน้าต่อไปทางทิศเหนือ ตัดกับถนนทางหลวง ชนบทหมายเลข 3011 (บ้านแพ้ว-กระทุ่มแบน) ต.หลักสาม อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร จากนั้นมุ่งหน้าต่อเข้าสู่ จ.นครปฐม ตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 1037 (ถนนคลองทางหลวง) จนไปสิ้นสุดที่บริเวณแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายเชียงราย-นราธิวาส MR1 ช่วงนครปฐมสุพรรณบุรี ที่ต.บางระกำ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
และ 6. วงแหวนรอบที่ 3 ด้านตะวันตก ระยะที่ 2 ช่วงนครปฐม-สุพรรณบุรี ระยะทาง 84 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษาและแนวเส้นทางที่ชัดเจน และคาดว่าจะเริ่มออกแบบในรายละเอียด พร้อมไปกับจัดทำรายงาน EIA ในปี 2567
แนวเส้นทางผ่านพื้นที่ 2 จังหวัด 5 อำเภอ ได้แก่ จ.นครปฐม 2 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บางเลน และ อ.นครชัยศรี และจ.สุพรรณบุรี 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองสุพรรณบุรี อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง
จุดเริ่มต้นที่จ.นครปฐม อ.นครชัยศรี บริเวณจุดตัดถนนกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่าง เมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ซึ่งเชื่อมต่อไปยังโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวเส้นทาง กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน)-สระแก้วได้ แนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือตัดผ่านถนนทางหลวง หมายเลข 346 และเข้าสู่อ.บางเลน ซึ่งผ่านพื้นที่ทางการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นแนวเส้นทาง เข้าสู่พื้นที่ จ.สุพรรณบุรี อ.สองพี่น้อง แนวเส้นทางคงต่อเนื่องผ่านพื้นที่การเกษตรและ เข้าสู่อ.บางปลาม้า ตัดถนนทางหลวงหมายเลข 340 และไปสิ้นสุดที่ถนนทางหลวงหมายเลข 33 บริเวณทิศตะวันตก ม.สวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี