‘การทางพิเศษแห่งประเทศไทย’ เตรียมประมูลสร้างด่วนฉลองรัช ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบ. ก่อนเผยสัญญาที่ 4 อาจติดหล่มหลัง ครม.ไม่เห็นชอบเชื่อมวงแหวนรอบ 3 เล็งออกแบบใหม่ให้เชื่อมติด ก่อนเสนอครม.ปรับแบบ เปิด 2 ทางออก ประมูลรวด 4 สัญญา หรือ รอออกแบบ-EIA เสร็จก่อน คาดทั้งโครงการแล้วเสร็จปี 2570
สำนักช่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 1 เมษายน 2566 นายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 อนุมัติให้ กทพ. ดำเนินโครงการ ทางด่วนฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ระยะทาง 16.21 กม. วงเงิน 24,060.04 ล้านบาท
ขณะนี้ อยู่ระหว่างที่คณะกรรมการร่างขอบเขตของงาน (TOR) กำลังสรุปรูปแบบของสัญญาโครงการ โดยคาดว่าจะแบ่งสัญญาออกเป็น 5 สัญญา เป็นงานก่อสร้างโยธา 4 สัญญา และงานติดตั้งระบบและบริหารจัดการจราจรอีก 1 สัญญา โดยคาดว่าจะเปิดให้มีการซื้อซอง TOR ในส่วนงานก่อสร้างก่อนประมาณเดือน พ.ค. 2566 นี้ ได้ตัวผู้รับจ้างในช่วงปลายปี 2566 และเริ่มก่อสร้างประมาณต้นปี2567 จะไปแล้วเสร็จประมาณปี 2570
สำหรับทั้ง 4 สัญญางานโยธา เบื้องต้น แต่ละสัญญาจะมีระยะทางประมาณ 3-4 กม.วงเงินสัญญาละ 4,000 ล้านบาท ส่วนการประมูลสัญญาที่ 5 วงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท จะต้องรอการประเมินผลการก่อสร้างทั้ง 4 สัญญาก่อนว่า แล้วเสร็จไปถึงขั้นไหนบ้าง หากก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ อาจจะประเมินให้มีการประมูลก็ได้
แนวเส้นทางทางด่วนฉลองรัช ช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา
(ภาพบน) แนวเส้นทางตามมติครม. 14 มี.ค. 2566
(ภาพล่าง) แนวเส้นทางตามมติครม. 14 มี.ค. 2566 และแสดงแนวเส้นทางที่จะต่อเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ของกรมทางหลวง (ทล.) ซึ่งในภาพจะเป็นเส้นสีชมพู
@ 2 แนวทางผ่าทางตัน สัญญาที่ 4
ทั้งนี้ รองผู้ว่ากทพ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นตั้งใจว่าจะประมูลพร้อมกันทั้ง 4 สัญญา แต่เนื่องจากสัญญาที่ 4 มีแนวคิดที่จะต่อขยายเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ของกรมทางหลวง
ทำให้ขณะนี้มีแนวทางดำเนินการ 2 ทางคือ 1. ประมูลพร้อมกันทั้ง 4 สัญญา โดยสัญญาที่ 4 จะประมูลแบบมีเงื่อนไข เนื่องจากมีแนวคิดที่จะปรับแนวเส้นทางจากมติครม.ที่ไปเชื่อมที่ ถ.ลำลูกกา กม.ที่ 16.210 ไปเป็นเชื่อมกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งออกแบบให้ไปสิ้นสุดที่ ถ.ลำลูกกา กม.ที่ 19+250 โดยสถานะปัจจุบันของการปรับแนว กำลังทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และจะเสนอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) พิจารณาอีก 2 เดือน
และ 2. รอรายงาน EIA พิจารณาแล้วเสร็จ และะเสนอที่ประชุม ครม. ชุดใหม่พิจารณาปรับแนวเส้นทางใหม่ไปเชื่อมกับถ.วงแหวนรอบที่ 3 ก่อน
@ 3 แหล่งเงินทุนหนุนโครงการ
ส่วนประเด็นแหล่งเงินทุนของโครงการ มาจาก 3 แหล่งสำคัญ ประกอบด้วย 1.เงินอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 3,726.81 ล้านบาท จากรัฐบาล 2.เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย(TFFIF) วงเงิน 14,374 ล้านบาท โดยโยกมาจากเงินลงทุนที่ใช้กับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือระยะที่ 1 (ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจเชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก) และ 3. ออกพันธบัตรเพิ่มเติมเบี้ยสมบทสำหรับวงเงินที่ขาดอีกประมาณ 5,960 ล้านบาท
ขณะที่อัตราค่าผ่านทาง แบ่งเป็น ปีที่ 1 รถ 4 ล้อ มีอัตราค่าแรกเข้า 20 บาท + 1.25 บาทต่อกิโลเมตร รถ 6 - 10 ล้อ มีอัตราค่าแรกเข้า 40 บาท + 2.50 บาทต่อกิโลเมตร และรถมากกว่า 10 ล้อ มีอัตราค่าแรกเข้า 60 บาท + 3.75 บาทต่อกิโลเมตร
โดยกำหนดปรับอัตราค่าผ่านทางทุก ๆ 5 ปี เป็นอัตราคงที่ ณ ปีนั้น ๆ อ้างอิงจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ร้อยละ 1.834 ซึ่งอ้างอิงค่า CPI เฉลี่ย 10 ปี ย้อนหลัง (ปี 2555 - 2564) ของจังหวัดในพื้นที่ศึกษา ได้แก่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นครนายก และสระบุรี และปัดตามหลักคณิตศาสตร์ คือ หากเกิน 2.5 บาท ให้ปัดขึ้นเป็น 5 บาท
โครงการนี้ มีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return) อยู่ที่ร้อยละ 4.29 มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return) อยู่ที่ร้อยละ 15.97 และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV) ณ อัตราคิดลดร้อยละ 12 อยู่ที่ 7,351.53 ล้านบาท
ส่วนงานเวนคืน 3,726.81 ล้านบาท มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน จำนวน 471 ไร่ 99 ตารางวา และมีอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 134 หลัง
@สัญญา 4 ต่อเชื่อวงแหวนรอบที่ 3 งบบาน 8,000 ล้าน
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับทางด่วนฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา ในสัญญาที่ 4 กทพ.เร่งรัดไปยัง ทล. ให้สรุปผลการศึกษาเบื้องต้นก่อน ซึ่ง ทล. ให้คำตอบว่า จะสรุปผลการศึกษาโครงการเพิ่มเติมในเบื้องต้นได้ประมาณ 2-3 เดือนหลังนี้
โดยสัญญาที่ 4 ตามการศึกษาเบื้องต้นหากไปเชื่อมกับถ.วงแหวนรอบที่ 3 จะมีระยะทางประมาณ 8-9 กม. วงเงินก่อสร้างประมาณ 8,000 - 9,000 ล้านบาท