‘ธปท.’ แจงปมข้อมูลประชาชน 55 ล้านรายถูกแฮกฯ ไม่ได้รั่วไหลจาก ‘ธนาคาร’ ยันข้อมูลที่ได้ไปไม่สามารถใช้ทำ 'ธุรกรรมการเงิน' ได้ เพราะต้องมีการยืนยันตัวตน
....................................
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงกรณีข่าวข้อมูลประชาชนรั่วไหลว่า ธปท. ร่วมกับศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (TB-CERT) ภายใต้สมาคมธนาคารไทย (TBA) ในการตรวจสอบระบบของธนาคารแล้ว ไม่พบข้อมูลรั่วไหลจากธนาคาร
นอกจากนี้ ข้อมูลที่รั่วไหลออกไปดังกล่าว ไม่สามารถนำไปใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่าน mobile banking ได้ เนื่องจากยังต้องใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการ ซึ่งต้องมีรหัสส่วนตัวในการเข้าใช้ รวมทั้งจะต้องยืนยันตัวตนอีกครั้งในการทำธุรกรรม
ทั้งนี้ สถาบันการเงิน (สง.) มีระบบป้องกันข้อมูลของลูกค้าอย่างเข้มงวด และมีระบบตรวจจับความผิดปกติเพื่อให้การให้บริการทางการเงินมีความมั่นคงปลอดภัย ซึ่งล่าสุดสถาบันการเงินได้ยกระดับการเฝ้าระวังและติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน ธปท. ได้เน้นย้ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งดำเนินการตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 อย่างเคร่งครัด โดยหากตรวจสอบและพิสูจน์พบว่าเป็นความผิดพลาดหรือข้อบกพร่องของ สง. ให้ สง. ต้องพิจารณาช่วยเหลือและดูแลความเสียหายให้กับผู้ใช้บริการโดยเร็ว
อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อภัยการเงิน ประชาชนสามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกันภัยเบื้องต้นได้ ดังนี้
1.ระมัดระวังมิจฉาชีพที่อาจใช้ข้อมูลที่รั่วไหลออกไป เช่น หมายเลขบัตรประชาชน หรือที่อยู่ ในการหลอกลวงให้ทำธุรกรรมทางการเงิน
2.หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงินกับบุคคลอื่น ผ่านโทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ หรืออีเมล ที่ไม่น่าเชื่อถือ
3.หากถูกหลอกลวงในการให้ข้อมูลส่วนตัว หรือพบความผิดปกติของการทำธุรกรรมให้เปลี่ยนรหัสผ่าน mobile banking ทันที และติดต่อธนาคารที่ใช้บริการผ่านช่องทาง hotline โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ ในช่วงค่ำวันที่ 30 มี.ค.2566 มีรายงานข่าวว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทย จำนวน 55 ล้านคน เช่น เลขบัตรประชาชน 13 หลัก, วันเดือนปีเกิด, ที่อยู่, เบอร์มือถือ ได้หลุดไปอยู่ในมือกลุ่มแฮกเกอร์ 9Near (ไนน์เนียร์) และกลุ่มแฮกเกอร์ดังกล่าว ประกาศว่าถ้าหน่วยงานที่ทำข้อมูลเหล่านี้หลุดไม่ติดต่อทางกลุ่มภายในวันที่ 5 เม.ย. 2566 เวลา 16.00 น. ตามเวลาไทย 9Near จะประกาศว่าหน่วยงานไหนทำข้อมูลเหล่านี้หลุด และวิธีการที่ทำให้กลุ่มแฮกได้ข้อมูลเหล่านี้มา
อ่านประกอบ :
ไม่ต้องกังวล! 'รมว.ดีอีเอส'แจงข้อมูลคนไทย55 ล้านถูกแฮกสืบสวนอยู่-แกะรอยพบมือส่ง smsแล้ว
DESจัดการเอง! 'อนุทิน' สั่งสอบแฮกเกอร์ขู่แฉข้อมูลไทย 55 ล้านชื่อ-คนในสธ.ชี้เป้าหมอพร้อม