สำนักงานอัยการสูงสุด แจ้งเวียนแนวทางตรวจสอบข้อมูลบัตรปชช.ผู้ต้องหาใหม่ หลังกรณีส่งฟ้อง 'ผิดตัว' ศาลแพ่งฯ สั่ง'สตช.-อส.' ร่วมกันชดใช้ 20 ล. ระบุให้นำข้อมูลทะเบียนราษฎรปค.มาแสดงเป็นหลักฐานด้วย พนง.อัยการ ต้องเปรียบเทียบให้ชัดเป็นบุคคลเดียวกันจริงก่อนยื่นฟ้องคดี
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำพิพากษาตัดสินคดีความแพ่ง ให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จำเลยที่ 1 และสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) จำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ให้แก่ นางสาวพุทธชาติ เพิ่มพูล โจทก์ จากกรณีการส่งฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาลักทรัพย์ "ผิดตัว"
หลังผู้ต้องหาตัวจริงในคดีได้แอบอ้าง นางสาวพุทธชาติ เป็นผู้ต้องหาแทน ทำให้ได้รับความเสียหายจากการถูกหมายจับ เสื่อมเสียชื่อเสียงและจิตใจที่ต้องตกมาเป็นจำเลย ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด
- สั่งร่วมกันชดใช้ 20 ล.! ศาลแพ่งฯ พิพากษา 'สตช.-อส.' แพ้คดีส่งฟ้องผู้ต้องหา 'ผิดตัว'
- ฉบับเต็ม! คำฟ้องคดีส่งฟ้องผู้ต้องหา 'ผิดตัว' ศาลแพ่งฯ สั่ง'สตช.-อส.' ร่วมกันชดใช้ 20 ล.
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบข้อมูลของผู้ต้องหาในการฟ้องคดี เพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องหาแอบอ้างชื่อและ/หรือนามสกุล เลขประจำตัวประชาชน หรือข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่นมาเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องหา อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันมีให้มีการสับเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา และเพื่อมิให้บุคคลอื่นมารับสมอ้างเป็นผู้ต้องหา อันอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมและผู้เกี่ยวข้อง
โดยสำนักงานอัยการสูงสุด ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบข้อมูลของผู้ต้องหาในการฟ้องคดีเพิ่มเติมดังนี้
1. ในการรับสำนวนการสอบสวนหรือไต่สวนคดีอาญาหรือบันทึกคำให้การรับสารภาพของผู้ต้องหาในคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อหาต่อพนักงานสอบสวนที่จะต้องมีการยื่นฟ้องผู้ต้องหาด้วยวาจาต่อศาลนั้น นอกจากพนักงานสอบสวนจะต้องจัดส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งผู้ต้องหาลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องมาในสำนวนการสอบสวนหรือไต่สวนคดีอาญาหรือบันทึกคำให้การรับสารภาพของผู้ต้องหาแล้ว
พนักงานสอบสวนต้องจัดส่งสำเนาข้อมูลรายการบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาข้อมูลทะเบียนราษฎรซึ่งพิมพ์จากฐานข้อมูลทะเบียนกลางด้วยระบบคอมพิวเตอร์ของกรมการปกครองมาแสดงเป็นหลักฐานพร้อมสำนวนการสอบสวนหรือไต่สวนคดีอาญาหรือบันทึกคำให้การรับสารภาพของผู้ต้องหาด้วย
2.ในกรณีที่มีการส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนการสอบสวนหรือไต่สวนคดีอาญาหรือบันทึกคำให้การรับสารภาพของผู้ต้องหา ให้หัวหน้าพนักงานอัยการมอบหมายพนักงานอัยการหรือข้าราชการธุรการตรวจเปรียบเทียบว่า ผู้ต้องหาที่มีการส่งตัวมายังพนักงานอัยการนั้นเป็นบุคคลเดียวกันตามข้อมูลที่ปรากฏในข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชนที่นำมาแสดงหรือไม่ หากเห็นว่าเป็นบุคคลเดียวกันจึงดำเนินการยื่นฟ้องคดีตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ในกรณีที่มีข้อพิรุธหรือสงสัยว่าจะมิใช่บุคคลเดียวกันให้แจ้งพนักงานสอบสวนตรวจสอบและยืนยันตัวตนที่แท้จริงของผู้ต้องหาเพื่อประกอบการยื่นฟ้องคดีด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า แนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบข้อมูลของผู้ต้องหาในการฟ้องคดีดังกล่าว ได้มีการแจ้งเวียนไปยังรองอัยการสูงสุด ผู้ตรวจการอัยการ อธิบดีอัยการ อธิบตีอัยการภาค อัยการพิเศษฝ่าย เลขานุการอัยการสูงสุด เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ อัยการจังหวัด ผู้อำนวยการสถาบัน เลขาธิการสำนักงานอัยการสูงสุด และผู้อำนวยการสำนักงาน เพื่อให้ทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด
ลงนามโดยนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานวิชาการ รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด (ดูหนังสือประกอบ)