เผยมติ ป.ป.ช. เห็นชอบให้แจ้งข้อกล่าวหา 'จักรทิพย์-พวก' 46 ราย คดีจัดซื้อรถไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ 900 ล. เป็นทางการแล้ว หลังตั้งองค์คณะใหญ่ไต่สวน ช่วงเดือน พ.ค.65 ที่ผ่านมา
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาพล.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก 46 ราย กรณีกล่าวหาการดำเนินงานโครงการรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ (SMART PATROL CAR : SPC) จำนวน 260 คัน วงเงินงบประมาณ 900 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2560และ2561 เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้สิทธิชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามขั้นตอนทางกฎหมายเป็นทางการ
หลังจากในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาประจำสำนักไต่สวนการทุจริตภาครรัฐ 1 เสนอให้มีการตั้งแต่งองค์คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้รับผิดชอบ
สำหรับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอไปแล้วว่า โครงการรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ (SMART PATROL CAR : SPC) จำนวน 260 คัน ดังกล่าว เคยปรากฏเป็นข่าวในช่วงเดือนม.ค.2563 ว่าเป็นโครงการที่สอง ต่อจาก โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยเทคโนโลยี Biometrics (ลายพิมพ์นิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า) ระยะที่ 1 วงเงิน 2.1 พันล้าน ที่ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ออกมารับลูก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ'บิ๊กโจ๊ก' เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน กรณีถูกคนร้ายลอบยิงรถยนต์ เมื่อคืนวันที่ 7 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยเชื่อว่าเกิดจากสมัยตนดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) และสั่งการให้มีการตรวจสอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์บุคคลแบบลายพิมพ์นิ้วมือและภาพถ่ายใบหน้า (ไบโอเมตริกซ์) พร้อมกับมีหนังสือถึง ผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ขอให้ยกเลิกโครงการนี้ เนื่องจากเกิดความล่าช้าและส่งงานไม่ทัน ยื่นเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช.ตรวจสอบ
โดยนายษิทรา กล่าวอ้างว่า เมื่อปี พ.ศ. 2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีโครงการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ พร้อมติดตั้งระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ จำนวน 260 คัน วงเงินงบประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งรถยนต์ดังกล่าวจะวิ่งได้ระยะทาง 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง และใช้เวลาในการชาร์จประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ประมาณ 6 ชั่วโมง แต่ในข้อเท็จจริงปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังไม่มีสถานที่ไว้สำหรับชาร์จประจุไฟฟ้าของรถยนต์ ส่อให้เห็นว่าการดำเนินงานโครงการนี้ ส่อว่าจะมีปัญหาในขั้นตอนปฏิบัติงาน
ขณะที่ พล.ต.ท. ติณภัทร ภุมรินทร์ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า การดำเนินงานโครงการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ ไม่มีปัญหาอะไร และขั้นตอนการตรวจรับส่งมอบงานก็ผ่านการรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แล้ว
โดยในการไต่สวนคดีนี้ ของ องค์คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีการกำหนดประเด็นข้อกล่าวหาอยู่ 4 เรื่อง ดังนี้
1. การอนุมัติให้ใช้วิธีจัดซื้อโดยวิธีการคัดเลือกชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือไม่
2. การจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือกเป็นเหตุให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่
3. การกำหนดราคากลางชอบหรือไม่ และการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ จำนวน 260 คัน มีราคาแพงเกินจริงหรือไม่
4. การไม่คิดค่าปรับและแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็ม (คู่สัญญา) หรือไม่
สำหรับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในข่ายถูกไต่สวนคดีนี้ ในเบื้องต้น มีจำนวน 46 ราย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก (ยศ/ตำแหน่งในขณะนั้น) คือ
1. กลุ่มผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จำนวน 5 ราย
ได้แก่ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พลตำรวจโท ติณภัทร ภุมรินทร์ ผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง, พลตำรวจตรี สุภธัช คำดี รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , พลตำรวจตรี สัญชัย สุนทรบุระ รองผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง และ พลตำรวจตรี ชูชาติ น้อยคนดี ผู้บังคับการอำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
2. กลุ่มคณะกรรมการพิจารณาคุณลักษณะเฉพาะพัสดุ จำนวน 7 ราย
ได้แก่ พลตำรวจตรีหญิง พอตา บุญปรีชา ผบก.อก.สกบ. , พันตำรวจเอก บันลือศักดิ์ ขลิปเงิน รอง ผบก.สส.ตม. , พันตำรวจเอก ภคยศ ทะนงศักดิ์ ผกก.ผอ.บก.ตม.ต.3 , พันตำรวจโทหญิง พรพิบูลย์ สว่างแผ้ว รอง ผกก.ฝอ.บก.ตม.1 , พันตำรวจโทหญิง ศุภาวีร์ สิริธีรศานต์ รอง ผกก.ตม.จว.ตาก.บก.ตม. , พันตำรวจโท อนุสรณ์ แก่งสันเที๊ย รอง ผกก.ฝอ.บก.ตม.6, พันตำรวจโท อัครเดช จันทร์ตระกูล รองผกก.กลุ่มงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ศทส.
3. กลุ่มคณะกรรมการร่างขอบเขตของงานกำหนดราคากลางรวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ และคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีการคัดเลือก จำนวน 3 ราย
ได้แก่ พันตำรวจเอก จักรทิพย์ ศตพิมลศักดิ์ รอง ผบก.สส.สตม., พันตำรวจโท วุฒิชัย ตุ๊คง รอง ผกก.ฝ่ายพลาธิการ 3 พธ. และพันตำรวจตรี พีรพงษ์ ทองย้อย สว.กทส.ศทส.ตม.
4. กลุ่มบริษัทเอกชน จำนวน 31 ราย
ได้แก่
4.1. บริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ชิสเต็ม จำกัด , นางมาทินี วันดีภิรมย์ กรรมการบริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็มจำกัด , นายบุญญา ตันติพานิชพันธ์ กรรมการบริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็ม จำกัด, นายพงษ์ชัย อมตานนท์ กรรมการบริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็ม จำกัด, นายสุทธิพงศ์ เจริญธรรมพจน์ ผู้รับมอบอำนาจบริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็ม จำกัด
4.2. บริษัท คอมพิวเตอร์ ยูเนี่ยน จำกัด , นางสาวดาวัลย์ ทรัพย์ทวีชัยกุล กรรมการบริษัทคอมพิวเตอร์ ยูเนี่ยน จำกัด , นายชุดตินธร ดารกานนท์ กรรมการบริษัทคอมพิวเตอร์ ยูเนี่ยน จำกัด , นายปรีชา ชุณหวาณิชย์ กรรมการบริษัทคอมพิวเตอร์ ยูเนี่ยน จำกัด , นางศรีนวล สมบัติไพรวัน กรรมการบริษัทคอมพิวเตอร์ ยูเนี่ยน จำกัด , นายศุภกิจ ติยะวัชรพงศ์ กรรมการบริษัทคอมพิวเตอร์ ยูเนี่ยน จำกัด , นางจันทรตรี ดารกานนท์ กรรมการบริษัทคอมพิวเตอร์ ยูเนี่ยน จำกัด , นายณัฐพล สมประสงค์ ผู้รับมอบอำนาจ บริษัทคอมพิวเตอร์ ยูเนี่ยน จำกัด
4.3. บริษัท พาวเวอร์ เมติค จำกัด , นายณัฐวุฒิ เทพหัสดิน ณ อยุธยา กรรมการบริษัท พาวเวอร์ เมติค จำกัด , นายศราวุธ เพียรพิทักษ์ กรรมการบริษัท พาวเวอร์ เมติค จำกัด , นายกนก โป้สมบุญ กรรมการบริษัท พาวเวอร์ เมติค จำกัด , นายสุชาติ มโนมยางกูร กรรมการบริษัท พาวเวอร์ เมติค จำกัด
4.4. บริษัท ชินโดม อิเล็กทรอนิค อินดัสทรี จำกัด , นายจักรกฤษณ์ เชิดชูวงศ์สันติ กรรมการบริษัท ซินโดม อิเล็กทรอนิค อินดัสทรี จำกัด, นายสาธิต นิลนัครา กรรมการบริษัท ซินโดม อิเล็กทรอนิค อินดัสทรี จำกัด
4.5. บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , นายพงษ์ชัย อมตานนท์ กรรมการบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , นายแกลิก อมตานนท์ กรรมการบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด, (มหาชน) , นางรังษี เลิศไตรภิญโญ กรรมการบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , นางมาทินี วันดีภิรมย์ กรรมการบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
4.6 บริษัท มิเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป จำกัด, นางรัตนา ธรรมชวนวิริยะ กรรมการบริษัท มิเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป จำกัด, นางสาวศุกลกานต์ ธรรมชวนวิริยะ กรรมการบริษัท มิเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป จำกัด, นางสาวเจิดนภางค์ ธรรมชวนวิริยะ กรรมการบริษัท มิเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป จำกัด, นายสัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ กรรมการบริษัท มิเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป จำกัด
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คดีนี้อยู่ในกระบวนการสอบสวนของป.ป.ช.เท่านั้น ยังไม่ได้มีการชี้มูลความผิดใครเป็นทางการ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผบ.ตร.และ พวก 46 ราย จึงถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และหากสามารถชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. ได้ ก็จะไม่ถูกชี้มูลความผิดแต่อย่างใด
- ป.ป.ช.ตั้งคณะใหญ่ไต่สวน 'จักรทิพย์'-พวก 46 ราย จัดซื้อรถไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ 900 ล.
- เปิดข้อกล่าวหา!ไต่สวน'จักรทิพย์'-พวก46รายคดีรถอัจฉริยะ900ล.-ตัวละครชุดเดียวไบโอแมทริกซ์
ภาพประกอบปกจาก : https://www.thairath.co.th/
อ่านประกอบ :
- ถึงคิว! ตรวจรถไฟฟ้าอัจฉริยะ 898 ล. บ.จีเนียส เครือ ฟอร์ท คู่สัญญา-'ติณภัทร' ยันโปร่งใส
- 'อิศรา' ถาม- 'พล.ต.ท. ติณภัทร' ตอบ! จัดซื้อไบโอเมตริกซ์ 2.1 พันล. มีปัญหาจริงหรือ?
- เผยโฉม บ.เอ็มเอสซี คู่สัญญาขายไบโอเมตริกซ์ 2.1 พันล.- จนท.แจงผู้ใหญ่ยังไม่เข้ารอติดต่อกลับ
- พบแล้ว! ข้อมูลสัญญาไบโอเมตริกซ์ 2.1 พันล.! สตช.จัดซื้อวิธีพิเศษ ชนะต่ำกว่าราคากลาง 10 ล.
- เผยโฉมประกาศซื้อคอมฯ ไบโอเมตริกซ์ สตช.1.7 พันล.-ชื่อ บ.เอ็มเอสซี หราสืบราคากลางด้วย
- เจาะปม 'บิ๊กโจ๊ก' แฉซื้อเครื่องไบโอเมตริกซ์ สตม 2.1 พันล. ป.ป.ช.ลุยสอบ-สะเทือน ผบ.ตร.?
- 10 ม.ค.‘บิ๊กโจ๊ก’มาให้ข้อมูล ป.ป.ช.ปมไบโอเมตริกซ์ สตม. 2.1 พันล.-บี้สอบ ผบ.ตร. ด้วย
- ป.ป.ช.ยังไม่เรียก‘บิ๊กโจ๊ก’ให้ข้อมูลโครงการไบโอแมทริกซ์ สตม. 2.1 พันล.-สอบคืบ 50%