‘รถไฟ’ เตรียมขายซอง TOR ซ่อมหัวรถจักรรุ่น Hitachi 21 คัน 14 มี.ค.นี้ คาด ส.ค.ได้ตัว ใช้เวลาซ่อม 2 ปี ขีดเส้นส่งมอบงาน 7 งวด จ่อซ่อมหัวรถจักร GEA วงเงิน 1.4 พันล้านต่อปีนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 13 มีนาคม 2566 จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เผยแพร่ร่างขอบเขตของงาน (TOR) ฉบับแรก โครงการจ้างซ่อมปรับปรุงรถจักร HID (HITACHI 8FA-36C) จำนวน 21 คัน ราคากลาง 777,000,000.00 บาท โดยได้ประกาศขึ้นเว็บไซต์เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 และปิดรับฟังคำวิจารณ์ TOR เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุด แหล่งข่าวจาก รฟท. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า จากการเปิดประชาพิจารณ์ร่าง TOR ระหว่างวันที่ 10-17 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไป ทาง รฟท. จะเปิดให้เอกชนเข้ามาซื้อเอกสารร่างขอบเขตของงาน (TOR) ในวันที่ 14 มี.ค. - 14 มิ.ย. 2566 นี้ โดยจะกำหนดให้ยื่นซองประมูลในวันที่ 15 ก.ค. 2566 นี้ จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 เดือน และน่าจะได้ตัวเอกชนประมาณเดือน ส.ค. 2566 และจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.รับทราบต่อไปตามขั้นตอน
โดยเอกชนที่จะเข้ามายื่นซอง สามารถรวมกลุ่มกันมาในลักษณะกิจการร่วมค้า (JV:Joint Venture) หรือมาแบบนิติบุคคลรายเดียวก็ได้ แต่จะต้องมีผลงานรถจักรดีเซลไฟฟ้า หรือซ่อมปรับปรุงรถจักรดีเซลไฟฟ้า หรือซ่อมหนักรถจักรดีเซลไฟฟ้าทั้งคันในวงเงินไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท ทั้งนี้ ผลงานที่จะนำมาประกอบเปิดกว้างทั้งผลงานในและต่างประเทศ แต่ต้องเป็นผลงานที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานเอกชนที่ รฟท. เชื่อถือ
@ส่งมอบ 7 งวด
สำหรับการซ่อมบำรุงหัวรถจักรทั้ง 21 คัน กำหนดกรอบเวลาดำเนินการไว้ 750 วันนับจากวันที่มีการส่งมอบหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) โดยแบ่งการส่งมอบงานเป็น 7 งวด ประกอบด้วย
งวดที่ 1 จะต้องซ่อมบำรุงหัวรถจักรให้เสร็จ 2 คันภายในระยะเวลา 180 วันนับจากวันที่ รฟท. ส่งมอบหัวรถจักรคันสุดท้ายของแต่ละงวดให้
งวดที่ 2 จะต้องซ่อมบำรุงหัวรถจักรให้เสร็จ 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน นับจากวันที่ รฟท. ส่งมอบหัวรถจักรคันสุดท้ายของแต่ละงวดให้
งวดที่ 3 จะต้องซ่อมบำรุงหัวรถจักรให้เสร็จ 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน นับจากวันที่ รฟท. ส่งมอบหัวรถจักรคันสุดท้ายของแต่ละงวดให้
งวดที่ 4 จะต้องซ่อมบำรุงหัวรถจักรให้เสร็จ 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน นับจากวันที่ รฟท. ส่งมอบหัวรถจักรคันสุดท้ายของแต่ละงวดให้
งวดที่ 5 จะต้องซ่อมบำรุงหัวรถจักรให้เสร็จ 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน นับจากวันที่ รฟท. ส่งมอบหัวรถจักรคันสุดท้ายของแต่ละงวดให้
งวดที่ 6 จะต้องซ่อมบำรุงหัวรถจักรให้เสร็จ 3 คันภายในระยะเวลา 90 วัน นับจากวันที่ รฟท. ส่งมอบหัวรถจักรคันสุดท้ายของแต่ละงวดให้
และงวดที่ 7 จะต้องซ่อมบำรุงหัวรถจักรให้เสร็จ 4 คันภายในระยะเวลา 120 วัน นับจากวันที่ รฟท. ส่งมอบหัวรถจักรคันสุดท้ายของแต่ละงวดให้
ทั้งนี้ หาก รฟท.ไม่สามารถส่งมอบหัวรถจักรให้ตามกำหนด เอกชนจะเรียกร้องค่าเสียหายใดๆไม่ได้ แต่ รฟท.จะพิจารณาขยายเวลาการส่งมอบให้ นอกจากนี้ เอกชนจะต้องหาพื้นที่สำหรับซ่อมหัวรถจักรดังกล่าวเอง โดยจะต้องไม่ใช่ที่ของ รฟท.และต้องเป็นสถานที่ภายในประเทศไทยเท่านั้น และเอกชนต้องวางหลักประกันในการนำหัวรถจักรทั้ง 21 คันไปซ่อมบำรุง หลักประกันอยู่ที่คันละ 700,000 บาท โดยหลักประกันนี้จะคืนให้ภายใน 15 วันหลังจากมีการส่งมอบหัวรถจักรที่ซ่อมบำรุงกลับมาแล้ว
ปัจจุบัน หัวรถจักรประเภทHID (HITACHI 8FA-36C) จำนวน 21 คัน อยู่ในสภาพพร้อมใช้ 80%
หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า GEA (General Electric CM22-7i) ที่มาภาพ: การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
นอกจากนี้ แหล่งข่าวจาก รฟท.กล่าวอีกว่า นอกจากการซ่อมบำรุงหัวรถจักร HID แล้ว รฟท.กำลังมีแผนจะซ่อมหัวรถจักร GEA (General Electric CM22-7i) จำนวน 37 คัน วงเงินประมาณ 1,480 ล่านบาท (เฉลี่ยคันละ 40 ล้านบาท) ต่อด้วย โดยอยู่ระหว่างร่าง TOR คาดว่าจะประมูลภายในปี 2566 นี้
สำหรับหัวรถจักร GEA ได้รับการจัดซื้อเข้ามาตั้งแต่ปี 2538 อายุการใช้งาน 28 ปี ปัจจุบันมีประจำการ 36 คัน ใช้งานได้ 29 คัน
ที่มาภาพปก: การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)