เผยมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ตั้งไต่สวน 'เอกราช ช่างเหลา' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย คดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องปัญหาทุจริตเงิน 431 ล้าน สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ปี 2562 เตรียมเปิดให้ใช้สิทธิคัดค้านรายชื่อคณะไต่สวน-ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา -เจ้าตัวเคยแจงเป็นเรื่องการเมืองโดนอำนาจไล่ล่า หลังย้ายจาก พปชร.
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ได้มีมติแต่งตั้งคณะไต่สวนคดีกล่าวหา นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กระทำความผิดฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการทุจริตเงินจำนวน 431 ล้านบาท ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น เมื่อปี 2562 ตามที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กมธ.ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมาให้
โดยตามขั้นตอนทางกฎหมาย ป.ป.ช.จะมีการส่งรายชื่อคณะไต่สวนให้ นายเอกราช ช่างเหลา ใช้สิทธิคัดค้านรายชื่อ และแจ้งให้รับทราบข้อกล่าวหา และใช้สิทธิชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อไป
สำหรับกรณีนี้ เคยปรากฏเป็นข่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2565 นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กมธ.ป.ป.ช.) พร้อมด้วย ส.ส.พรรคก้าวไกลจำนวนหนึ่ง ร่วมกันแถลงข่าวถึงกรณีประธานชมรมสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นยื่นหนังสือขอให้ตรวจสอบการทุจริตเงิน 431 ล้านบาท เมื่อปี 2562 โดยกล่าวอ้างว่า นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นผู้จัดการสหกรณ์ในขณะนั้น กับพวก 2 คน ร่วมกันถอนเงินดังกล่าวออกไป ซึ่งเบื้องต้นได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษข้อหาร่วมกันปลอมเอกสาร ร่วมกันใช้เอกสารปลอม และควาผิดตามกฎหมายฟอกเงิน แต่เกรงว่าจะมีการเตะถ่วงคดีจึงได้มาร้อง กมธ.ป.ป.ป.ช.ให้ช่วยตรวจสอบอีกทางหนึ่ง
นายธีรัจชัย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2562 การตรวจสอบของ กมธ.ไม่มีความคืบหน้า แต่จากข้อมูลพบว่าเมื่อปี 2554 นายเอกราช ซึ่งเป็นผู้จัดการสหกรณ์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด เช่น วันที่ 16 ส.ค.2554 ได้โอนเงิน 396 ล้านบาทออกจากบัญชีสหกรณ์ และไปเข้าอีกบัญชีหนึ่งซึ่งเป็นชื่อของนายเอกราช เช่นเดียวกับวันที่ 14 พ.ย.2556 ที่มีการโอนเงินออกจากบัญชีสหกรณ์ 9 ล้านบาทและไปเข้าบัญชีของนายเอกราชเช่นเดียวกัน
กมธ.ได้เชิญพนักงานสอบสวนมาให้ข้อมูล พบว่า มีการสั่งฟ้อง 2 คดี คดีแรก ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นวันที่ 4 ก.พ.2564 คดีหมายเลขดำ อ 89/2564 มีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องบุคคล 4 คน ส่วนคดีที่สองฟ้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่น วันที่ 1 เม.ย.2564 คดีหมายเลขดำ อ 258/2564 มีพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นโจทก์ ฟ้อง นายเอกราช ช่างเหลา จำเลย ความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ ร่วมกันปลอมเอกสาร และร่วมกันใช้เอกสารสิทธิ์ปลอม
ต่อมา กมธ.ป.ป.ช.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาติดตามความคืบหน้าคดีฟอกเงิน พบว่ามีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน กระทั่งวันที่ 5 ส.ค.2565 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษายึดทรัพย์นายเอกราชกับพวกไว้เรียบร้อยแล้ว นี่คือการดำเนินการของ กมธ.ป.ป.ช.ที่ดำเนินมาถึงครั้งนี้
ซี่งก่อนหน้านี้ นายเอกราชได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น ตกลงว่าจะคืนเงิน 431 ล้านบาทเศษภายในวันที่ 27 ธ.ค.2563 แต่ไม่ได้ชำระเงินตามที่กำหนดไว้
นายธีรัจชัย กล่าวว่า แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นความผิดที่เกิดขึ้นหลายปีต่อเนื่องก่อนที่นายเอกราชจะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น ส.ส. ประกอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นเรื่องทที่พฤติกรรมเกี่ยวเนื่องกับมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กมธ.ป.ป.ช.จะทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามความผิดมาตรฐานจริยธรรมอีกข้อหาหนึ่ง
“ขอยืนยันว่าการทำงานของ กมธ.ป.ป.ช. เราทำอย่างเข้มข้น ตรงไปตรงมา ตั้งแต่ปี 2562 เราจะทำให้ครบทุกคดี ทั้งคดีอาญา ฟอกเงิน และมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งเป็นผลงานที่ ส.ส.ก้าวไกล และผมผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ได้ติดตามทำมาอย่างต่อเนื่อง” นายธีรัจชัย กล่าว
ขณะที่ นายเอกราช ช่างเหลา เคยชี้แจงสื่อมวลชนถึงกรณีนี้ว่า ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องการเมืองอย่างแท้จริง ถ้าติดตามจะเห็นว่าข่าวยึดทรัพย์นายเอกราช ทำไมเพิ่งมายึด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อตนออกจากพรรคพลังประชารัฐ แล้วมาพรรคภูมิใจไทยเป็นเวลาไม่ถึงสัปดาห์ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องกรรมเก่าไล่ล่า แต่เป็นเรื่องอำนาจไล่ล่า อย่างไรก็ตาม ตนสามารถชี้แจงที่มาที่ไปได้ทั้งหมด ถ้าเป็นจริงแบบที่เป็นข่าว ตนคงไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ซึ่งต้องดูว่าถ้าตนลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เรื่องนี้ถือว่ามีเบื้องหลัง