‘คปต.’ ยื่น ‘ป.ป.ช.’ ตรวจสอบผู้บริหารระดับสูง ‘มสธ.’ กับพวก ออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่อมีผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีมีมติอนุมัติเงินลงทุน 5.5 พันล้าน
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบและไต่สวนกรณีเชื่อได้ว่าผู้บริหารระดับสูงของหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) รายหนึ่งกับพวก ได้กระทำการทุจริตด้วยการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย 3 ประเด็น ได้แก่
1.มีกรณีเชื่อว่าผู้บริหารระดับสูงของ มสธ. รายดังกล่าว มีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยได้ออกคำสั่งแต่งตั้งตนเองเป็นประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูป มสธ. หลายชุด โดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายรองรับ ซึ่งการกระทำดังกล่าว เชื่อว่ามีเจตนาที่จะทำให้ตนเองได้รับประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากการได้รับค่าตอบแทนจากเงินเบี้ยเลี้ยงการประชุมซ้ำๆ กันจำนวนมาก รวมเป็นเงินค่าเบี้ยเลี้ยงจำนวนหลายแสนบาท
จึงเข้าข่ายเป็นเจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 172 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
2.มีกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงของ มสธ. รายนี้ กับพวก ได้ออกข้อบังคับ มสธ. โอนอำนาจออกระเบียบการเงินซึ่งเป็นอำนาจของตน ตาม พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พ.ศ.2521 มาตรา 15(8) ไปให้คณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สินออกแทน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3.มีกรณีที่ผู้บริหารระดับสูงของ มสธ. รายนี้ กับพวก และคณะกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สิน มีมติเห็นชอบและดำเนินการนำเงินรายได้ของมหาวิทยาลัย 5,500 ล้านบาท ไปลงทุนกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จัดการกองทุน 3 แห่ง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต และอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน
กล่าวคือ เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2561 มสธ. เคยทำหนังสือหารือไปยังกรมบัญชีกลางเรื่องการนำเงินของ มสธ. ไปลงทุน และกรมบัญชีกลางได้ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2561 ว่า ในส่วนของการจ้างบริษัทเงินทุนจัดการเงินทุนของ มสธ. ย่อมที่จะขอความเห็นชอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาก่อนดำเนินการ แต่ มสธ.กลับไม่ดำเนินการตามหนังสือของกรมบัญชีกลาง เพื่อขอความเห็นชอบต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา แต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีกรรมการบริหารเงินรายได้และทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยรายหนึ่ง เคยทำงานและเกี่ยวพันกับบริษัททางธุรกิจหรือสถาบันการเงินหลายแห่งจนถึงปัจจุบัน ซึ่งความเกี่ยวพันนี้อาจมีผลทำให้กระบวนการพิจารณาตัดสินใจนำเงิน มสธ. จำนวน 5,500 ล้านบาทไปลงทุนโดยไม่เป็นกลาง และอาจมีลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่