‘ป.ป.ช.’ ไต่สวนข้อเท็จจริง คดี ‘อดีตผู้บริหารกรุงไทย-บอร์ดสินเชื่อ’ ช่วงปี 54-55 ร่วมกันทุจริตอนุมัติปล่อยสินเชื่อฯ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้ ‘เอกสารปลอม’ เผยไม่เคยลงพื้นที่ตรวจ ‘โรงงาน-สต็อกสินค้า’ แต่กลับอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทฯ
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ขณะนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง ในคดีที่อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยและอดีตคณะกรรมการสินเชื่อฯ ในช่วงราวปี 2554-55 ร่วมกันทุจริตอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย วงเงินเกือบ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 990 ล้านบาท ให้กับกลุ่มบริษัทเอกชนที่ใช้เอกสารปลอมมายื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
ทั้งนี้ ในการยื่นขอสินเชื่อในคดีนี้ แม้ว่าบริษัทเอกชนกลุ่มนี้ได้ยื่นเอกสารประกอบการขอสินเชื่อ เช่น ใบกำกับสินค้า/ใบแจ้งหนี้ และใบขนส่งสินค้า แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย และอดีตคณะกรรมการสินเชื่อฯชุดดังกล่าว ไม่ได้ลงไปตรวจสอบว่า บริษัทเอกชนมีโรงงานจริงหรือไม่ และมีการสต็อกสินค้าจริงหรือไม่ จึงทำให้เชื่อได้ว่าบริษัทเอกชนกลุ่มนี้ กับอดีตผู้บริหารกรุงไทยและอดีตคณะกรรมการสินเชื่อฯ น่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน
สำหรับคดีนี้ กลุ่มผู้กระทำผิดได้มีการจัดตั้งนิติบุคคล จำนวน 13 บริษัท และได้ยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย โดยมีการใช้เอกสารปลอมมาแสดงเพื่อประกอบการขอสินเชื่อ เช่น ใบกำกับสินค้า/ใบแจ้งหนี้ (Invoice) และใบตราส่งสินค้าทางเรือ (B/L) แล้วให้ธนาคารกรุงไทยโอนเงินเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อชำระค่าสินค้าที่นิติบุคคลกลุ่มนี้สั่งซื้อจากคู่ค้าในต่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่สิงคโปร์และฮ่องกง จำนวน 10 บริษัท โดยมีผู้ร่วมกระทำผิดหลายฝ่าย
แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า ก่อนหน้านี้ DSI ได้มีการสอบสวนกรณีมีกลุ่มบุคคลร่วมกันวางแผนให้นิติบุคคล 13 ราย หลอกลวงขอเบิกเงินสินเชื่อจากธนาคาร 2 แห่ง โดยใช้เอกสารปลอมมายื่นขอสินเชื่อ ซึ่งเป็นธนาคารเอกชน 1 แห่ง และเป็นธนาคารรัฐ 1 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ทั้งนี้ หลังจากสืบสวนเสร็จเรียบร้อยแล้ว DSI ได้สั่งฟ้องผู้ต้องหา ในคดีหลอกลวงขอเบิกสินเชื่อจากธนาคารเอกชน 1 แห่ง มีผู้ต้องหารวม 20 ราย (อ่านประกอบ : ดีเอสไอ ส่งสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหา 20 ราย ปลอมเอกสารหลอกขอสินเชื่อแบงก์ 826 ล.!)
ส่วนกรณีการหลอกลวงขอเบิกสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ และมีผู้กระทำความผิดเป็นกลุ่มเดียวกัน นั้น เนื่องจากคดีนี้ มีอดีตผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงไทยเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ทาง DSI จึงส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.รับไปดำเนินการต่อ ขณะที่ในชั้นการสืบสวนของ DSI นั้น มีการโต้แย้งว่า คดีหลอกลวงขอเบิกเงินสินเชื่อในส่วนของธนาคารกรุงไทย น่าจะเป็นคดีฉ้อโกงธนาคาร แต่ DSI ไม่เห็นด้วย และเห็นว่าอดีตผู้บริหารของธนาคารกรุงไทยน่าจะมีส่วนร่วมทุจริตด้วย ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502
“เดิมทีมีการโต้แย้งว่าคดีนี้ (คดีหลอกลวงขอเบิกเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทย) น่าจะเป็นคดีฉ้อโกงเท่านั้น แต่ DSI ไม่เห็นด้วย เพราะในขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อนั้น อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยรายนี้ และอดีตคณะกรรมการสินเชื่อฯ ไม่เคยลงไปตรวจสอบว่าเอกชนที่มาขอสินเชื่อนั้น มีโรงงานจริงหรือไม่ โรงงานเป็นอย่างไร และมีการสต็อกสินค้าจริงหรือไม่ เพียงแต่เห็นใบกำกับสินค้า/ใบแจ้งหนี้ และใบตราส่งสินค้าทางเรือ ก็อนุมัติสินเชื่อฯให้ จึงเชื่อได้ว่าอดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทยดังกล่าว น่าจะมีส่วนร่วมในการทุจริตด้วย” แหล่งข่าว กล่าว
อ่านประกอบ :
ดีเอสไอ ส่งสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหา 20 ราย ปลอมเอกสารหลอกขอสินเชื่อแบงก์ 826 ล.!