‘ศาลปกครองกลาง’ สั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวฯ เพิกถอน 'ประกาศฯ-ผลการประมูล' สิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯ ชี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ฟังไม่ได้ว่า ‘ไม่รักษาสมบัติชาติ-ทำให้เอกชนล่วงรู้ความลับของชาติ’ ทำให้ประเทศเสียหาย
......................................
จากกรณีที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กับพวก รวม 3 ราย (ผู้ถูกฟ้องคดี) ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ลงวันที่ 31 ต.ค.2565 เนื่องจาก กสทช. ใช้อำนาจในการออกประกาศฯไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 56 วรรคสอง และมาตรา 60 วรรคหนึ่ง
พร้อมทั้งขอให้ศาลฯเพิกถอนผลการประมูลวงโคจรดาวเทียม ชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 2 ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก (E) ผู้ชนะได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด ,ชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 3 ตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก (E) ผู้ชนะได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด และชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 4 ตำแหน่งวงโคจร 126 องศาตะวันออก (E) ผู้ชนะได้แก่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2566 ให้เป็น ‘โมฆะ’ ทั้งหมด
และขอให้ศาลฯมีพิพากษาหรือมีคำสั่งให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และหรือ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ดำเนินการหรือร่วมกันดำเนินการนำสิทธิการเข้าใช้ประโยชน์ในวงโคจรดาวเทียม ซึ่งเป็น ‘สมบัติของชาติ’ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน โดยบรรจุเข้าไปในนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ใช้ประโยชน์เสียก่อน ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาเช่าใช้ประโยชน์ในขั้นต่อไป
นอกจากนี้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาหรือทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดี หรือกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนระหว่างการพิจารณาคดี เนื่องจากเห็นว่าหาก สำนักงาน กสทช. หรือ กสทช. รับรองผลการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯ และลงนามสัญญากับเอกชนทั้ง 2 ราย จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาหรือทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดี หรือกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนระหว่างการพิจารณาคดี ลงวันที่ 18 ม.ค.2565 ของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย (ผู้ฟ้องคดี)
เนื่องจากศาลฯเห็นว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ลงวันที่ 31 ต.ค.2565 ไม่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 56 วรรคสอง และมาตรา 60 และไม่อาจรับฟังได้ว่า การที่ กสทช.จัดการประมูลวงโคจรดาวเทียมให้แก่เอกชนนั้น เป็นการไม่รักษาสมบัติของชาติ และทำให้เอกชนสามารถล่วงรู้ถึงความลับของชาติส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทำให้ประเทศชาติต้องเสียหาย
“คดีนี้ผู้ฟ้องคดี อ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กสทช.) จัดให้มีการประมูลวงโคจรดาวเทียมให้แก่เอกชนโดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเพียงเล็กน้อย เป็นการไม่รักษาสมบัติของชาติ และทำให้เอกชนสามารถล่วงรู้ถึงความลับของชาติส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทำให้ประเทศชาติต้องเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package) ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565
และขอทุเลาการบังคับตามประกาศฉบับดังกล่าว ซึ่งเห็นว่า ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดี 1 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 (14/1) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จึงมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
กรณีจึงมีปัญหาว่าคำสั่งทางปกครองทั้งสองฉบับดังกล่าวน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กสทช.) เป็นองค์กรอิสระตามกฎหมายมีหน้าที่รับผิดชอบและกำกับการเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยที่สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมดังกล่าวเป็นสิทธิที่ประเทศไทยมีอยู่หรือได้รับมา ซึ่งประเทศไทยมิได้เป็นเจ้าของโดยแท้ แต่เป็นสิทธิที่ต้องแจ้งจดทะเบียนและบันทึกไว้ในทะเบียนความถี่หลักระหว่างประเทศแห่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กสทช.) จึงมีอำนาจหน้าที่ในการสนับสนุนการดำเนินการของรัฐเพื่อให้มีดาวเทียมหรือให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยการดำเนินการให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาตินั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตค่าธรรมเนียมและการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาต รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องที่ผู้ขอรับอนุญาตหรือผู้รับอนุญาตจะต้องรับภาระโดยค่าธรรมเนียมการอนุญาตดังกล่าวเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการอนุญาตแล้วเหลือเท่าใดต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 (1) (14) และ (14/1) และมาตรา 50/1 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กสทช.) พิจารณาเห็นว่า ข่ายงานดาวเทียมประเภทวงโคจรประจำที่ (GSO) ที่ประเทศไทยมีสิทธิอยู่เดิมสำหรับใช้งาน ณ ตำแหน่งวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก 51 องศาตะวันออก 78.5 องศาตะวันออก 119.5 องศาตะวันออก 120 องศาตะวันออก 126 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก ซึ่งการอนุญาตกำลังจะสิ้นสุดลงหรือที่ไม่มีผู้ได้รับอนุญาต
จึงออกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package) ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการอนุญาตให้ใช้สิทธิชุดข่ายงานดาวเทียม ณ ตำแหน่งวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก 51 องศาตะวันออก 78.5 องศาตะวันออก 119.5 องศาตะวันออก 120 องศาตะวันออก 126 องศาตะวันออกและ 142 องศาตะวันออก
โดยกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตไว้แล้ว ซึ่งการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในแต่ละชุดข่ายดาวเทียมนั้น มิใช่การให้สิทธิโดยเด็ดขาดแก่เอกชน แต่เป็นเพียงการอนุญาตให้ใช้สิทธิซึ่งยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กสทช.) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามให้แก่ผู้ชนะการคัดเลือก
กรณีที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต หรือกรณีที่ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามอยู่แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมขอบเขตการอนุญาตภายใต้ใบอนุญาตที่ได้รับอยู่เดิมตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กสทช.) กำหนด
โดยต้องจัดให้มีช่องสัญญาณสำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐของดาวเทียมในแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียมที่ได้รับอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทยทุกประการ และต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านความมั่นคงของประเทศ ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงด้านความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์ หรือกฎระเบียบอื่นใดที่เหมาะสมและจำเป็นและต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ทั้งยังต้องรับผิดชอบแทนภาครัฐในกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายและมีพันธกรณีทางระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นวัตถุอวกาศตามที่กำหนดไว้ในความตกลงระหว่างประเทศตามข้อ 30 ข้อ 35 และข้อ 36 ของประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package) ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565
โดยผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในชุดงานข่ายดาวเทียมที่ได้รับอนุญาต ซึ่งนอกจากการชำระเงินตามเงื่อนไขการดำเนินการก่อนได้รับอนุญาตแล้ว หลังจากนั้นผู้ใด้รับอนุญาตยังต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี ร้อยละ 0.25 ของรายได้ก่อนการหักค่าใช้จ่ายจากการประกอบกิจการดาวเทียม ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ร้อยละ 1.5 ต่อปี
และจัดสรรรายได้ที่ได้รับจากการให้บริการโทรคมนาคมให้แก่กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระสายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ร้อยละ 2.ถ ต่อปี ทั้งนี้ ตามข้อ 34 และข้อ 35 ของประกาศฉบับดังกล่าว นอกจากนั้น ยังต้องปฏิบัติตามประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและกระบวนวิธีดำเนินการของข้อบังคับวิทยุแห่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
กรณีจึงเห็นได้ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปเพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิที่จะเข้าใช้งานวงโคจรดาวเทียมของประเทศไทย โดยการจัดให้เอกชนเข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะด้านการสื่อสารโทรคมนาคม จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 56 วรรคสอง และมาตรา 60
การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จัดให้มีการประมูลวงโคจรดาวเทียมให้แก่เอกชนโดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเพียงเล็กน้อย เป็นการไม่รักษาสมบัติของชาติ และทำให้เอกชนสามารถล่วงรู้ถึงความลับของชาติ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ทำให้ประเทศชาติต้องเสียหายนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้
อย่างไรก็ดี การใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กสทช.) ในการจัดสรรสิทธิวงโคจรดาวเทียม ก่อนการอนุญาตกำลังจะสิ้นสุดลง ยังถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 56 วรรคสอง และมาตรา 60 และมาตรา 27 (14/1) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติชาติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติและประชาชน
เพราะหากการอนุญาตสิ้นสุดลงและไม่มีการเข้าใช้งานหรือไม่มีผู้ได้รับอนุญาตอาจทำให้ตำแหน่งวงโคจรที่ประเทศไทยมีอยู่ต้องถูกรบกวนจากการใช้งานดาวเทียมของประเทศสมาชิกอื่น และอาจเป็นผลให้ประเทศไทยไม่ได้รับการคุ้มครองจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
เพราะสิทธิ์ในการได้มาซึ่งวงโคจรดาวเทียมนั้นมิใช่สิทธิถาวร รัฐจึงพึงที่จะรักษาซึ่งสิทธิไว้ให้เกิดประโยชน์ สิทธิในการเข้าใช้ดาวเทียมของประเทศไทยเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรภายใต้การควบคุมของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หากไม่มีการส่งดาวเทียมขึ้นไปตามเวลาที่กำหนด รัฐย่อมสูญเสียสิทธิที่จะรักษาวงโคจรดาวเทียมไว้ใด้
และโดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชี้แจงต่อศาลว่า ดาวเทียมไทยคม 4 (ตำแหน่งวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก) จะหมดอายุประมาณกลางปี 2566 จึงต้องเร่งดำเนินการให้มีผู้ได้รับอนุญาต และหากส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรไม่ทัน ผู้ได้รับอนุญาตต้องจัดทำแผนรองรับผู้ใช้บริการ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการ
ในชั้นนี้ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package) ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 และมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กสทช.) ในการประชุมครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 18มกราคม 2566 ที่รับรองผลการคัดเลือกสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด (Package) แจ้งตามประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง รายชื่อผู้ชนะการคัดเลือกสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ลงวันที่ 18 มกราคม 2566 น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย
กรณีจึงไม่ครบเงื่อนไขทั้งสามประการ ที่ศาลจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้ตามข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ฟ้องคดีตามข้อ 73 วรรคสองแห่งระเบียบดังกล่าว
สำหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอท้ายคำฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) และ หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ดำเนินการหรือร่วมกันดำเนินการนำสิทธิการเข้าใช้ประโยชน์ในวงโคจรดาวเทียม ซึ่งเป็น ‘สมบัติของชาติ’ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประซาชน โดยบรรจุเข้าไปในนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
เพื่อให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและหรือหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ใช้ประโยชน์เสียก่อน ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาเช่าใช้ประโยชน์ในขั้นต่อไป หรือผลักดันให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยกิจการอวกาศขึ้นมาใช้ได้โดยเฉพาะเสีย และมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในระหว่างพิจารณา นั้น
เห็นว่า คำขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาล โดยกล่าวหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายให้ต้องปฏิบัติ และโดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มิใช่เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองที่พิพาททั้งสองฉบับ สำหรับปัญหาว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายให้ต้องปฏิบัติหรือไม่เป็นปัญหาในเนื้อหาแห่งคดีที่ศาลจะต้องวินิจฉัยต่อไป
จึงมีคำสั่งยกคำขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาหรือทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีหรือกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในระหว่างการพิจารณา ลงวันที่ 18 มกราคม 2566 ของผู้ฟ้องคดี” คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 98/2566 ของศาลปกครองกลาง ลงวันที่ 20 ม.ค.2566 ระบุ
อ่านประกอบ :
‘กสทช.’ประกาศ‘สเปซ เทคฯ’ชนะประมูลสิทธิใช้วงโคจรฯ 2 ชุด 797 ล.-NT คว้า 1 ชุด 9 ล้านบาทเศษ
'ศรีสุวรรณ' ออกแถลงการณ์ค้านกสทช.เปิดให้เอกชนประมูลวงโคจรดาวเทียม ชี้ขัดรธน.มาตรา 60
‘กสทช.’เปิดเคาะประมูลสิทธิฯใช้วงโคจรดาวเทียม 8 ม.ค.66-‘ศาลปค.’รับฟ้องคดีควบ TRUE-DTAC
เข้าชิง 3 เจ้า! ‘สเปซเทคฯ-NT-พร้อมเทคนิคคอลฯ’ยื่นซองประมูลสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมฯ
เปิดแผนรัฐลุย‘ดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ’-‘บิ๊กป้อม’สั่ง‘NT’เจรจา‘กสทช.’ขอสิทธิใช้วงโคจรฯ
ครม.เห็นชอบแผนแม่บท ‘อวกาศ-ดาวเทียมแห่งชาติ’ ให้ NT เป็นแม่งาน
'กสทช.'เผย 5 เอกชนรับซองประมูลสิทธิวงโคจรดาวเทียมฯ'มิวสเปซ-NT'มาแล้ว-'ไทยคม'ส่งบ.ลูกชิง
‘กสทช.’เปิดเคาะประมูลสิทธิฯใช้วงโคจรดาวเทียม 8 ม.ค.66-‘ศาลปค.’รับฟ้องคดีควบ TRUE-DTAC
เอื้อให้เกิดรายใหม่! ‘กสทช.’เปิดฟังความเห็นร่างประกาศฯประมูลเข้าใช้‘วงโคจรดาวเทียม’