โค้งสุดท้ายรัฐบาลบิ๊กตู่ ‘ศักดิ์สยาม’ กางแผน 3 เดือนสุดท้าย ชงครม.ดัน 3 โปรเจ็กต์ใหญ่ วงเงิน 2.03 แสนล้านบาท จัดคิว ‘สายสีแดง-ทางคู่-ปรับวงเงินมอเตอร์เวย์’ พาเหรดเสนอครม.ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้ พร้อมอัพเดทไฮสปีดไทยจีนยังวุ่น ทั้งรับเหมาไม่ยืนราคา - ชาวบ้านค้านแรง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 14 มกราคม 2566 จากที่ได้รายงานไปว่าในปี 2566 กระทรวงคมนาคมมีแผนจะผลักดันโครงการที่มีความพร้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติจำนวน 5 โครงการในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 นี้นั้น
ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตอนนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เหลืออายุรัฐบาลอีกไม่ถึง 3 เดือนแล้ว กระทรวงได้จัดคิวโครงการสำคัญๆ เพื่อที่จะเสนอ ครม.พิจารณาภายในเดือน ก.พ.นี้ อย่างน้อย 3 โครงการ วงเงินรวม 203,867.32 ล้านบาท ได้แก่
1. โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 5 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 68,833.32 ล้านบาท คือ ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท, ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กม. ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 20.14 กม. ทั้ง 2 สายรวมวงเงิน 47,000 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงิน 4,694.36 ล้านบาท
@เสนอใหม่ เพราะมีการปรับกรอบวงเงิน
โดยทั้ง 5 เส้นทาง แม้จะผ่านการพิจารณาของที่ประชุม ครม.ไปแล้ว แต่มีบางสายทางที่มีการปรับกรอบวงเงินโครงการ ทำให้ต้องเสนอที่ประชุม ครม. พิจารณาอีกครั้ง โดยเส้นทางที่มีการปรับกรอบวงเงินประกอบด้วย
ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา มติ ครม.เดิมเมื่อ ก.พ. 2562 วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท ปรับเพิ่มเป็น 10,670.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 468.09 ล้านบาท ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 8,076.62 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 2,284.09 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท, CSC 271.98 ล้านบาท, ICE 30.19 ล้านบาท)
ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มติ ครม.เดิมเมื่อ มี.ค. 2562 วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท ปรับลดลงเหลือ 4,694.36 ล้านบาท ลดลง 1,950.67 ล้านบาท โดยตัดเนื้องานในส่วนการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าออก ซึ่งเนื้องานที่ตัดออกจะนำไปศึกษาเพื่อจัดทำ PPP โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงต่อไป
ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มติ ครม.เดิมเมื่อ ก.พ. 2562 วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ปรับลดลงเหลือ 6,468.69 ล้านบาท ลดลง 101.71 ล้านบาท เนื่องจากปรับลดจากค่าเวนคืนลงบางส่วน
และช่วงบางซื่อ - หัวหมาก, บางซื่อ - หัวลำโพง มติ ครม.เดิมเมื่อปี 2559 วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท เบื้องต้น อาจจะต้องปรับกรอบวงเงินใหม่เช่นกัน โดยคาดว่าวงเงินโครงการจะอยู่ที่ 47,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนสถานีรถไฟฟ้าบริเวณโรงพยาบาลรามาธิบดีใหม่ เพื่อให้การเชื่อมต่อง่ายขึ้น
ที่มาภาพ: ประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม
@ทางคู่ใหม่ 3 สายทาง
2. โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 3 เส้นทาง วงเงินรวม 130,134 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท เป็นค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 262.00 ล้านบาท หากครม.พิจารณาอนุมัติแล้ว คาดว่าจะเริ่มประกวดราคาในเดือน ส.ค. 2566 และจะเริ่มก่อสร้างก่อสร้างภายในปี 2566 ก่อสร้างประมาณ 4 ปี แล้วเสร็จในปี 2570 2. ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 37,527 ล้านบาท เป็นค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 2,277.80 ล้านบาท หลังจาก ครม. อนุมัติ คาดว่าจะเริ่มประกวดราคาและก่อสร้างภายในปี 2567 และจะเปิดให้บริการในปี 2570 และ 3.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 281 กม. วงเงิน 62,859 ล้านบาท เป็นค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 99.24 ล้านบาท หากครม. อนุมัติแล้ว คาดว่าจะเริ่มประกวดราคาและก่อสร้างภายในปี 2567 และจะเปิดให้บริการในปี 2571
@ปิดจบค่างานเพิ่มเติมมอเตอร์เวย์บางปะอิน 4.9 พันล้าน
นายศักดิ์สยามกล่าวต่อไปว่า นอกจากโครงการระบบรางแล้ว กรณีที่มีการปรับแบบก่อสร้างมอเตอร์เวย์ช่วงบางปะอิน - นครราชสีมา จำนวน 16 ตอน ซึ่งทำให้วงเงินเพิ่มขึ้นกว่า 6,000 ล้านบาทนั้น หลังจากมอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ตรวจสอบและสรุปรายละเอียดงานก่อสร้างเพิ่มเติมจากการปรับแบบดังกล่าว
ล่าสุดพบว่าวงเงินที่จะขอปรับเพิ่ม เหลือประมาณ 4,900 ล้านบาท เนื่องจากเป็นการขอเพิ่มวงเงินในส่วนของงานที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง ส่วนงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ประมาณ 1,700 ล้านบาท นั้น ไม่สามารถขอเพิ่มงบประมาณได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามขั้นตอนของงานเพิ่มเติม ซึ่งผู้รับเหมาหากต้องการได้ค่างานเพิ่ม ก็มีสิทธิ์ใช้กระบวนการทางศาลได้
ขณะนี้ กระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะเสนอบรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุมภายในเดือนม.ค.นี้
มอเตอร์เวย์บางปะอิน - นครราชสีมา ช่วง อ.ปากช่อง – อ.สีคิ้ว – อ.ขามทะเลสอ ที่มาภาพ: กรมทางหลวง
@จ่อนัด ‘อิตาเลี่ยนไทย-ไชน่าฯ’ เจรจาสัญญา 3-1 ‘ไทยจีน’
ส่วนความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงไทยจีน เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ที่ให้กิจการร่วมค้า BPHB-TIM SEKATA JV (ประกอบด้วย บจ.นภาก่อสร้าง, บจ.บิน่า พูรี่ เอสดิเอ็น บีเอชดี, นายชาตรี เขมาวชิรา) เป็นผู้ชนะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ – นครราชสีมา สัญญาที่ 3-1 งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก–บันไดม้า ระยะทาง 30 กม. โดยเสนอราคา 9,330 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 2,056 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้า ITD-CREC NO.10.JV (ประกอบด้วยบจ.ไชน่า เรลเวย์ นับเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป (CREC) และบมจ.อิตาเลียนไทยฯ) เป็นผู้ชนะโครงการแทนนั้น นายศักดิ์สยามระบุว่า ก็ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป เมื่อศาลพิพากษาจนสุดท้ายแล้วก็ทำตามคำพิพากษาศาล โดยหลังจากนี้ รฟท. จะเรียกผู้ที่ชนะโครงการมาเจรจาและลงนามในสัญญาต่อไป
ขณะที่การปรับแบบโครงสร้างร่วมช่วงบางซื่อ - ดอนเมืองที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้กระทรวงได้ทำข้อมูลและความเห็นตอบกลับไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แล้วว่า พร้อมจะดำเนินการปรับโครงสร้างร่วมให้รองรับความเร็วรถไฟฟ้าในเมืองที่ 160 กม./ชม.แล้ว โดยการเจรจากับทางการจีนในฐานะที่ปรึกษาด้านวิศวกรโครงการน่าจะไม่มีปัญหาอะไร ตอนนี้จึงรอเพียง สกพอ. พิจารณาเท่านั้น
ชาวบ้าน 300 คน เผาโลงศพค้าน รฟท. และรัฐบาลที่ไม่ยอมปรับรูปแบบทางรถไฟความเร็วสูงจากระดับดินเป็นยกระดับ ภาพเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2565
ที่มา: Facebook อีสานบิซ
@ไทยจีน ยังวุ่น ‘รับเหมาไม่ยืนราคา-ชาวบ้านค้านแรง’
ด้านแหล่งข่าวจาก รฟท. เปิดเผยว่า วันที่ 26 ม.ค. 2566 นี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.จะพิจารณาสั่งจ้าง บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด (เครือ บมจ.ซีวิลเอนจิเนียริ่ง) ในงานสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. หลังจาก บมจ.อิตาเลี่ยนไทยฯ ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 9,913 ล้านบาท ไม่ยืนราคาที่นำเสนอต่อ โดย บจ.บุญชัยพาณิชย์ เสนอราคาหลังการเจรจาไว้ที่ 1.03 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ในสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท ที่มีกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย) เป็นผู้ก่อสร้างที่คืบหน้าเพียง 2.89% เนื่องจากมีการร้องเรียนจากเทศบาลตำบลบ้านใหม่ จ.นครราชสีมา เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยขอให้ รฟท.ปรับรูปแบบการก่อสร้างจากคันดินเป็นทางรถไฟยกระดับ ระยะทางประมาณ 8 กม. โดยส่งผลให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้น 32 เดือน
โดยได้เสนอผู้ว่าฯ รฟท.พิจารณาแล้ว อยู่ระหว่างหารือกระทรวงคมนาคมเห็นชอบก่อน จึงเสนอบอร์ด รฟท.ขออนุมัติปรับแบบและเพิ่มวงเงินก่อสร้าง จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ส่วนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ในกรอบวงเงินรวมที่ 1.79 แสนล้านบาท โดยขณะนี้ยังเหลือวงเงินราว 1 หมื่นล้านบาท