“...ปี 2566 กระทรวงคมนาคม ได้รับจัดสรรงบประมาณวงเงิน 228,930.28 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น ราว 20,000 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของงบลงทุน 124,724 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ 35,38 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ 89,337 ล้านบาท…”
เข้าสู่ศักราชใหม่ 2566 กับเวลาของรัฐบาลที่เหลืออีก 3 เดือนเท่านั้น แต่ดูเหมือนการขับเคลื่อนงานนโยบายต่างๆดูจะชะงักลงไป แต่การขับเคลื่อนทางการเมืองดูจะคึกคักเป็นพิเศษ นักการเมืองทุกพรรคทุกค่ายเตรียมโหมโรง ตุนกระสุน สร้างกระแสกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจะทำให้กระแสเกิด กระสุนมา ก็ต้องสร้างผลงานให้ประชาชนประจักษ์
กล่าวถึงกระทรวงคมนาคมภายใต้การกำกับของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สังกัดพรรคภูมิใจไทย ที่นั่งกุมหางเสือกระทรวงหูกวางมา 3 ปีแล้ว ชื่อเสียงที่ดูลือลั่นคือ การเข้ามารื้อโครงการ และปิ๊งไอเดียหลากหลาย แต่การผลักดันเมกกะโปรเจ็กต์ต่างๆที่เป็นโครงการเด่นๆในปี 2565 มีเพียงการผลักดันโครงการมอเตอร์เวย์ช่วงบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ 2 โครงการเท่านั้น
ดังนั้น จึงน่าจับตาดูว่าปี 2566 ที่กำลังเหลืออีกเพียง 3 เดือนตามวาระของรัฐบาล กระทรวงคมนาคม จะสามารถผลักดันเมกกะโปรเจ็กต์อะไรได้บ้าง?
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
@เปิดโผ 5 โครงการ ชงครม.ต้นปี 66
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในปี 2566 ช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 มีแผนที่จะผลักดันโครงการที่มีความพร้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ ได้แก่
1. โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงินลงทุน 3.2 แสนล้านบาท
2. โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 5 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท คือ ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,468.69 ล้านบาท, ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กม. ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 20.14 กม. ทั้ง 2 สายรวมวงเงิน 47,000 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงิน 4,694.36 ล้านบาท และคาดว่าจะเปิดประกวดราคาในปี 2566
3. โครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. มูลค่าโครงการ 29,748 ล้านบาท เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กม. วงเงิน 59,399.80 ล้านบาท เส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 36,683 ล้านบาท
4. ปรับแบบและเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา จำนวน 16 ตอน ซึ่งขณะนี้กรมทางหลวง (ทล.) ได้สรุปรายละเอียดแล้ว กระทรวงคมนาคมจะตรวจสอบเพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป โดยค่างานที่เพิ่มขึ้นจะไม่เกิน 6,000 ล้านบาท
5. โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชุมพร-ระนอง คาดว่าจะนำเสนอ ครม.ได้ในเดือน ม.ค. 2566 เช่นกัน โดยอยู่ระหว่างทำตารางเปรียบเทียบการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์กับโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เห็นมูลค่าที่มีความเป็นไปได้ในการลงทุน
@เปิดงบลงทุนคมนาคมปี 66 วงเงิน 1.24 แสนล้านบ.
นอกจาก 5 โครงการที่ ‘ศักดิ์สยาม’ จะผลักดันแล้ว หากดูไส้ในของงบประมาณปี 2566 กระทรวงคมนาคม ได้รับจัดสรรงบประมาณวงเงิน 228,930.28 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น ราว 20,000 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของงบลงทุน 124,724 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณ 35,38 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ 89,337 ล้านบาท
ประเภทของแหล่งที่มาของงบประมาณ แบ่งเป็น เงินกู้ 49% วงเงิน 60,916.12 ล้านบาท, เงินงบประมาณ 28% วงเงิน 35,389.12 ล้านบาท, อื่นๆ วงเงิน 13,03.37 ล้านบาท, เอกชนร่วมลงทุน (PPP) 7% วงเงิน 8,162.07 ล้านบาท และรายได้จากรัฐวิสาหกิจ 6,356.31 ล้านบาท
และวงเงินดังกล่าว เป็นโครงการต่อเนื่อง 83.77% วงเงิน 104,527.30 ล้านบาท, โครงการร่วมลงทุน PPP 6.54% วงเงิน 8,162.07 ล้านบาท, โครงการใหม่ 5% วงเงิน 6,235.63 ล้านบาท และโครงการที่ใช้เงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFFIF) 4.69% วงเงิน 5,858 ล้านบาท
@เช็กโปรเจ็กต์ตามแผนปี 66
ส่วนโครงการตามแผนงานปี 2566 มีหลายโครงการ ดังนี้
1.โครงการถนน อาทิ ศึกษาความเหมาะสม ทางพิเศษช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.50 กม. วงเงินลงทุน 29,550 ล้านบาท, สรุปรูปแบบการร่วมลงทุน (M8) ช่วงนครปฐม - ปากท่อ วงเงิน 51,760 ล้านบาท. PPP (M5) ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต - บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 32,045 ล้านบาท และ PPP วงแหวนตะวัตก ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง (M9) ระยะทาง 36 กม. วงเงิน 56,035 ล้าน, สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อ.กระแสสินธุ์,เขาชัยสน จ.สงขลา,พัทลุง ระยะทาง 7 กม. วงเงิน 4,841 ล้านบาท และสะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง, เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ระยะทาง 2.2 กม. วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,854 ล้านบาท เป็นต้น
2.โครงการทางอากาศ อาทิ การพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 36,829.499 ล้านบาท ,การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่ 2 วงเงิน 6,211 ล้านบาท รองรับผู้โดยสาร 18 ล้านคน/ปีจากเดิม 12.5 ล้านคน/ปี , พัฒนาท่าอากาศยานระนอง ต่อความยาวทางวิ่ง เป็น 2,400 เมตร วงเงิน วงเงิน 750 ล้านบาท , พัฒนาท่าอากาศยานใหม่ จ.มุกดาหาร วงเงิน 41.0427 ล้านบาท และจ. บึงกาฬ วงเงิน 41.0427 ล้านบาท ที่ได้งบออกแบบศึกษาแล้ว เป็นต้น
3. โครงการทางน้ำ อาทิ แผนพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา อีก 3 แห่ง วงเงินรวม 79 ล้านบาท คือ ท่าเรือพระปิ่นเกล้า วงเงิน 20 ล้านบาท ท่าเรือพระราม 5 วงเงิน 24 ล้านบาท ท่าเรือปากเกร็ด วงเงิน 35 ล้านบาท เป็นต้น
เหล่านี้ คือ แผนงานเบื้องต้นของกระทรวงคมนาคม ในปี 2566 ส่วนจะผลักดันไปได้แค่ไหน ปีหน้ามาดูกัน!
ที่มาภาพ: กระทรวงคมนาคม