ป.ป.ช. มีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณา คดีกล่าวหา ‘กกพ.’ เอื้อประโยชน์เอกชน 7 กลุ่ม 40 ราย ประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน 150 เมกะวัตต์ แต่ตั้งข้อสังเกตกรณี ‘กรรมการบริษัทเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน’ อาจมีผลประโยชน์ร่วมกัน-เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ
..........................................
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) (ผู้ถูกร้องที่ 1) และคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) (ผู้ถูกร้องที่ 2) ว่า พิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าฯ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) โดยมิชอบ
โดยพิจารณาให้บริษัทฯต่างๆ ที่มีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลเดียวกันทั้งหมด เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มบริษัทดังกล่าว โดยไม่ได้ตรวจสอบการมีผลประโยชน์ร่วมกันของนิติบุคคลที่เป็นผู้สมัครรายต่างๆ และ กกพ. ละเว้นไม่ดำเนินการตรวจสอบและยกเลิกการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอราคาครั้งดังกล่าวหรือตัดสิทธิบริษัทดังกล่าวทั้งหมดไม่ให้เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติ เป็นผลให้มีหลายบริษัทที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติมีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลเดียวกันแบ่งได้เป็น 7 กลุ่ม รวม 40 ราย จากผู้ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 43 ราย
ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า กกพ. ผู้ถูกร้องที่ 1 มิได้มีหน้าที่หรือส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว ที่ได้มีการออกประกาศการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรื่อง รายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ลงวันที่ 9 ก.ค.2564 ตามที่กล่าวหา
ส่วนกรณีกล่าวหาคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ผู้ถูกร้องที่ 2 นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เรื่องนี้คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้ตอบข้อหารือสรุปได้ว่า
โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับการคัดเลือกหรือจัดหาและกำกับวิธีการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่การจัดซื้อจัดจ้างและการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุ ตามนัยมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ดังนั้น จึงมิต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ แต่อย่างใด
ดังนั้น ผู้ถูกร้องที่ 2 จึงมีหน้าที่ในการพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นข้อเสนอราคาโครงการดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564
เมื่อระเบียบดังกล่าวดังกล่าวมิได้กำหนดให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีหน้าที่ตรวจสอบการมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ที่ยื่นข้อเสนอและมิได้กำหนดให้กรณีผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าต่างรายที่มีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันเป็นลักษณะต้องห้ามที่ต้องตัดสิทธิผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ารายต่างๆ ที่มีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลเดียวกัน จึงเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 2 ดังกล่าว เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้ารายใดแต่อย่างใด
และจากการตรวจสอบไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนต่อไปได้ จึงมีมติไม่รับเรื่องไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 49 และระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 ข้อ 45 (1)
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อสังเกตว่าในกรณีที่บริษัทหลายบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) มีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ร่วมกัน และอาจจะทำให้เกิดการได้เปรียบและเสียเปรียบกันได้ จึงให้แจ้งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้ที่เกี่ยวข้องทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีนโยบายพลังงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว คือ ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่า และเปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่ โดย รมว.พลังงานในขณะนั้น จึงดำเนินแนวนโยบายการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จึงได้มีการจัดทำแนวนโยบายพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โรงไฟฟ้าชุมชน) โดยมีหลักการและเหตุผลเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้าอย่างยั่งยืน และเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้ โดยชุมชนได้รับผลตอบแทนจากการจำหน่ายเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนจากวัสดุทางการเกษตรและการจำหน่ายไฟฟ้า
โดยมีกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน ในส่วนของราคารับซื้อไฟฟ้า คือ ต้องไม่กระทบหรือกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าน้อยที่สุด และมีการกำหนดผลประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเกิดผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานราก คือ ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าของชุมชน และจากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน
ต่อมาเมื่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. ได้เห็นชอบกรอบนโยบายดังกล่าวแล้ว ในวันที่ 16 พ.ย.2565 กพช. จึงได้มีมติเห็นชอบกรอบหลักการและเงื่อนไขการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.มีเป้าหมายการรับซื้อ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น
-เชื้อเพลิงชีวมวล ปริมาณไฟฟ้าเสนอขาย ไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์
-เชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน ผสมน้ำเสีย/ของเสีย ≤ 25%) ปริมาณไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ เป้าหมายการรับซื้อ 75 เมกะวัตต์
2.เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)
3.สัญญารับซื้อไฟฟ้าเป็นสัญญาแบบ Non-Firm ระยะเวลา 20 ปี
4.วิธีการคัดเลือกโครงการ จะดำเนินการคัดเลือก โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ด้วยวิธีแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding)
5.โครงการที่ยื่นขอขายไฟฟ้า ต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ
โดยมอบหมายให้ กกพ. ไปดำเนินการออกระเบียบหรือประกาศการรับซื้อไฟฟ้าโครงการดังกล่าว และดำเนินการคัดเลือกตามขั้นตอนต่อไป กกพ. จึงได้ออกระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) พ.ศ. 2564 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดหาไฟฟ้าตามโครงการดังกล่าว โดยระเบียบดังกล่าวได้กำหนดวิธีการคัดเลือกแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 การพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค ผู้มีหน้าที่พิจารณา ในชั้นแรกคือ คณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติฯ ซึ่งเป็นคณะกรรมการฯที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้แต่งตั้ง เมื่อคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติฯ แจ้งผลการพิจารณาแล้ว ผู้ไม่ผ่านการพิจารณาดังกล่าวสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้
ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคา จะพิจารณาจากผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค และผู้มีอำนาจพิจารณาท้ายที่สุดคือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)
และปรากฏข้อเท็จจริงว่า โครงการดังกล่าว มีผู้ยื่นข้อเสนอเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 246 ราย โดยในชั้นการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค คณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ได้ตรวจสอบเอกสารต่างๆของบริษัทที่ยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว พบว่ามีบริษัทผู้ยื่นคำขอเสนอขายไฟฟ้าโครงการดังกล่าวหลายบริษัท มีกรรมการบริษัทเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันทั้งหมดตามที่กล่าวหาจริง
แต่เนื่องจากระเบียบดังกล่าว มิได้มีการกำหนดข้อห้ามในลักษณะดังกล่าวไว้ คณะอนุกรรมการฯ จึงทำความเห็นเสนอคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติฯ ว่าบริษัทดังกล่าวมีคุณสมบัติครบถ้วน จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติฯ ได้ให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิค จำนวน 95 โครงการ และมีผู้ไม่ผ่านจำนวน 151 โครงการ จากโครงการทั้งหมด 246 โครงการ
โดยนายเสกสรร เสริมพงศ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ มีประกาศการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ลงวันที่ 9 ก.ค. 2564 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคโครงการฯ ซึ่งเป็นประกาศที่ผู้กล่าวหาโต้แย้งว่ามีการพิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอโดยมิชอบ
จากนั้นผู้ที่ไม่ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติและเทคนิคฯ จำนวน 118 ราย ได้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณา ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และมีผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวจำนวน 74 ราย ทำให้ท้ายที่สุดแล้วมีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและความพร้อมด้านเทคนิค จำนวน 169 ราย
สำหรับการพิจารณาด้านราคาโครงการดังกล่าว ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดไว้ในระเบียบดังกล่าว ข้อ 15 โดยพิจารณาซองเสนอราคาของผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติดังกล่าวทั้ง 169 ราย โดยมีคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคาไม่ถูกต้อง จำนวน 10 ราย จึงนำคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านราคาที่ถูกต้อง จำนวน 159 ราย มาพิจารณา เรียงลำดับส่วนลดราคา (%) ศักยภาพระบบไฟฟ้า และเป้าหมายตามประเภทเชื้อเพลิงตามขั้นตอน จนได้ผู้รับการคัดเลือกรวมจำนวน 43 ราย ซึ่งมีบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกที่มีรายชื่อกรรมการและผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลเดียวกันทั้งหมด จำนวน 7 กลุ่ม รวม 40 ราย