‘ศาลอาญาคดีทุจริตฯ’ สั่งประทับฟ้อง ‘โสภณ ดำนุ้ย อดีตผอ.องค์กรสวนสัตว์-พวก’ คดีฮั้วประมูลระบบมวลชน ‘สวนสัตว์เชียงใหม่’ นัดสอบคำให้การจำเลย 14 ก.พ.66
....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำสั่งประทับฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ อท 190/2564 ระหว่าง องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (โจทก์) กับ นายโสภณ ดำนุ้ย อดีตผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์ฯ กับพวกรวม 10 คน (จำเลย) และกำหนดนัดสอบคำให้การจำเลยทั้งสิบ ในวันที่ 14 ก.พ.2566
“พิเคราะห์พยานหลักฐานที่ได้ความในชั้นนี้ฟังได้ว่า ก่อนที่โจทก์ (องค์การสวนสัตว์ฯ) จะเสนอโครงการระบบมวลชนภายในสวนสัตว์เชียงใหม่เข้าที่ประชุมคณะกรรมการโจทก์ ครั้งที่ 9/2546 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 นายมนตรี นาวิกผล ซึ่งเป็นประธานกรรมการโจทก์ขณะนั้น สั่งการให้จำเลยที่ 1 (นายโสภณ) ติดต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งมีทีมวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญในการทำโครงการระบบขนส่งมวลชน เพื่อศึกษารายละเอียดการออกแบบ ขั้นตอน และวิธีการเกี่ยวกับการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนภายในสวนสัตว์เชียงใหม่
ต่อมาจำเลยที่ 2 และที่ 3 เสนอว่า จำเลยที่ 2 กับพวก มีความสามารถที่จะดำเนินการให้ได้ตามข้อกำหนดใน TOR ทั้งหมด และจะไปจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 5 เพื่อมารับทำงานในโครงการดังกล่าว จากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการโจทก์ ครั้งที่ 9/2546 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 มีมติเห็นชอบในหลักการให้เชิญชวนเอกชนจัดทำระบบขนส่งมวลชนภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ และแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดและข้อกำหนด (TOR) และจัดหาผู้ทำระบบขนส่งมวลชนภายในสวนสัตว์เชียงใหม่
ครั้นวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ดำเนินการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ 5 โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2546 จำเลยที่ 1 (นายโสภณ) นำรายละเอียดและข้อกำหนดที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันออกแบบกำหนดเงื่อนไขมาประกาศใช้เป็น TOR โดยไม่ได้นำรายละเอียดและข้อกำหนดดังกล่าวเสนอให้คณะกรรมการโจทก์พิจารณา
แล้วจำเลยที่ 1 สั่งการให้จำเลยที่ 8 ถึงที่ 10 และคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาคนอื่นๆ พิจารณาเลือกจำเลยที่ 5 จากนั้นวันที่ 29 ธันวาคม 2546 คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาที่มีจำเลยที่ 8 ถึงที่ 10 นายธนภัทร พงษ์ภมร และนายอาคม มณีกุล เป็นกรรมการ ได้พิจารณาคัดเลือกให้จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคาและเข้าทำสัญญากับโจทก์เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2547
ในช่วงการบริหารสัญญามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 6 และที่ 7 เข้ามาเป็นผู้บริหารบริษัทจำเลยที่ 5 กระทั่งมีการบอกเลิกสัญญาและนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองกลาง คดีโจทก์จึงมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา จึงให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา” รายงานกระบวนพิจารณา คดีหมายเลขดำที่ อท 190/2564 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ลงวันที่ 23 ธ.ค.2565 ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2547 องค์การสวนสัตว์ฯ ลงนามสัญญาเลขที่ 1/254 ลว. 19 ม.ค.2547 ว่าจ้าง บริษัท บริษัท ไทยโมโนเรล จำกัด ให้ดำเนินการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนและดำเนินการให้บริการรถไฟฟ้าภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ แต่ต่อมาองค์การสวนสัตว์ฯ ทำหนังสือ ลว. 13 ต.ค.2557 บอกเลิกสัญญาว่าจ้าง บริษัท ไทยโมโนเรล จำกัด โดยอ้างว่าบริษัทฯทำผิดสัญญา เนื่องจากจัดพิมพ์และจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟฟ้ารางเดียวเกินราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา
บริษัท ไทยโมโนเรล จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) จึงยื่นฟ้ององค์การสวนสัตว์ฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลฯมีคำสั่งให้องค์การสวนสัตว์ฯ ชดใช้ค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาให้ดำเนินกิจการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางของบริษัท ไทยโมโนเรล จำกัด ดังกล่าว
ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้บริษัท ไทยโมโนเรล จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) รื้อถอน ขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ และทรัพย์สินต่างๆของผู้ฟ้องคดี ออกจากสวนสัตว์เชียงใหม่และปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพสะอาดเรียบร้อย ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้องค์การสวนสัตว์ฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) คืนเงินตามหลักประกันสัญญา จำนวน 319,704 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน
เนื่องจากศาลฯพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีจำหน่ายบัตรโดยสารควบคู่ไปกับการจำหน่ายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยทำรายการส่งเสริมการขายรถไฟฟ้ารางเดียวแบบพิเศษ (ไม่จำกัดรอบ) ในราคา 100 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใหญ่และให้สิทธิพิเศษสำหรับเด็กที่ซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้าประเภทนี้พร้อมผู้ใหญ่ในราคา 50 บาท จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากองค์การสวนสัตว์ฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ก่อน
ทั้งนี้ บริษัท ไทยโมโนเรล จำกัด ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และต่อมาในเดือน ต.ค.2565 ศาลปกครองสูงสูดพิพากษาให้บริษัท ไทยโมโนเรล จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) รื้อถอน ขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ และทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้ฟ้องคดีออกจากสวนสัตว์เชียงใหม่และปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพสะอาดเรียบร้อย ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้องค์การสวนสัตว์ฯคืนเงินตามหลักประกันสัญญา จำนวน 319,704 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
อ่านประกอบ :
จบศึก! ศาลปค.สูงสุด สั่งเอกชนรื้อถอนรถไฟฟ้าสวนสัตว์เชียงใหม่ภายใน 60 วัน