ศาลปค.สูงสุด พิพากษาให้ บ.ไทยโมโนเรล รื้อถอน ขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ รถไฟฟ้าในสวนสัตว์เชียงใหม่ พร้อมปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพสะอาดเรียบร้อย ภายใน 60 วัน หลังยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายถูกบอกเลิกสัญญา ส่วนองค์การสวนสัตว์ให้คืนเงินหลักประกันสัญญา 319,704 บาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลปกครอง ได้เผยแพร่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่บริษัท ไทยโมโนเรล จำกัด ฟ้องขอให้องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ชดใช้ค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาให้ดำเนินกิจการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเดียวภายในสวนสัตว์เชียงใหม่
โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้บริษัท ไทยโมโนเรล จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) รื้อถอน ขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ และทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้ฟ้องคดีออกจากสวนสัตว์เชียงใหม่และปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพสะอาดเรียบร้อย ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้องค์การสวนสัตว์คืนเงินตามหลักประกันสัญญา จำนวน 319,704 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากองค์การสวนสัตว์ไม่คืนเงินภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดี
สำหรับคดีนี้ บริษัท ไทย โมโนเรล จำกัด เป็นผู้ฟ้องคดี กองค์การสวนสัตว์ ที่ 1 กับพวกรวม 13 คน เป็นผู้ถูกฟ้องคดี และบริษัท วี.พี.แอสเซ็ทส์ จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ร้องสอด) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
โดยคดีดังกล่าว บริษัท ไทย โมโนเรลฯ ฟ้องว่าองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ 1 กับพวกรวม 13 คน ผิดสัญญาให้ดำเนินกิจการระบบขนส่งมวลชนภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ ตามสัญญาเลขที่ 1/254 ลว. 19 ม.ค.2547 กรณีบริษัท ไทย โมโนเรลฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนแล้วเสร็จและดำเนินการให้บริการรถไฟฟ้าภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ตามสัญญาแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีกลับกระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดในสัญญา และมีหนังสือ ลว. 13 ต.ค.2557 บอกเลิกสัญญา โดยอ้างว่า บริษัทฯ ผิดสัญญาเนื่องจากจัดพิมพ์และจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟฟ้ารางเดียวเกินราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา เป็นเหตุให้บริษัทฯ ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอน ขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ และทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้ฟ้องคดีออกจากสวนสัตว์เชียงใหม่และปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพสะอาดเรียบร้อย ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คืนเงินตามหลักประกันสัญญา จำนวน 319,704 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่คืนเงินภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้ฟ้องคดีจำหน่ายบัตรโดยสารควบคู่ไปกับการจำหน่ายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยทำรายการส่งเสริมการขายรถไฟฟ้ารางเดียวแบบพิเศษ (ไม่จำกัดรอบ) ในราคา 100 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใหญ่และให้สิทธิพิเศษสำหรับเด็กที่ซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้าประเภทนี้พร้อมผู้ใหญ่ในราคา 50 บาท จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก่อน
เมื่อปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญามิได้ตกลงยินยอมให้ผู้ฟ้องคดีจัดพิมพ์และจำหน่ายบัตรด้วยตนเอง การที่ผู้ฟ้องคดีจัดพิมพ์และจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟฟ้า เป็นเวลา 2 ปีเศษ และกำหนดอัตราค่าโดยสารแต่เพียงฝ่ายเดียวเกินจากราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา จึงเป็นการดำเนินกิจการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามสัญญาข้อ 10 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาดำเนินกิจการและริบหลักประกันสัญญาข้อ 18 ได้ทันที ดังนั้นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหนังสือบอกเลิกสัญญา จึงชอบด้วยกฎหมาย และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายย่อมต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามนัยมาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้สัญญาจะมีข้อกำหนดในข้อ 15 ว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีจัดทำระบบขนส่งมวลชนเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญาแล้ว ผู้ฟ้องคดียินยอมยกระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนควบคุมอื่น ๆ อุปกรณ์และงานระบบต่าง ๆ ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นับตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดให้ดำเนินกิจการตามสัญญา แต่ต้องเป็นกรณีที่คู่สัญญาปฏิบัติตามสัญญาจนสิ้นสุดการให้ดำเนินกิจการระบบขนส่งมวลชน แต่ผู้ฟ้องคดีดำเนินกิจการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามสัญญาข้อ 10 ระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนควบคุมอื่น ๆ อุปกรณ์และงานระบบต่าง ๆ จึงยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ประกอบกับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำขอให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ และทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้ฟ้องคดีออกจากสวนสัตว์เชียงใหม่ และปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพสะอาดเรียบร้อย ย่อมแสดงให้เห็นว่าระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนควบคุมอื่นๆ อุปกรณ์และงานระบบต่าง ๆ มิได้เป็นสิ่งสาธารณูปโภคหรือการบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีจึงต้องรื้อถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ และทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้ฟ้องคดีออกจากสวนสัตว์เชียงใหม่ และปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพสะอาดเรียบร้อยตามข้อ 20 ของสัญญา
ผู้ฟ้องคดี จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด
ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุด จะมีพิพากษาให้บริษัท ไทยโมโนเรล จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) รื้อถอน ขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ และทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้ฟ้องคดีออกจากสวนสัตว์เชียงใหม่และปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพสะอาดเรียบร้อย ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้องค์การสวนสัตว์คืนเงินตามหลักประกันสัญญา จำนวน 319,704 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี โดยชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ดังกล่าว