แรงงาน คือ ทรัพยากรมนุษย์ ที่ต้องได้รับการพัฒนาและดูแลด้วยความเป็นมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจที่ต้องอยู่ได้ หากรัฐยังมองแค่ว่า ค่าแรงขั้นต่ำเพียงพอต่อการสะท้อนราคาความเป็นแรงงาน นั่น คือ หายะนะที่กำลังปั่นทอนระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
ช่วงนี้ตั้งวงเถียงกัน เรื่อง ค่าแรงขั้นต่ำ จึงขอเสนอข้อถกเถียงถึงรัฐบาลบ้าง ว่าเขาวางระเบิดใส่ยังไม่รู้ตัวอีก
ความชอกซ้ำของแรงงานไทย คือ การทำมากได้น้อย ทำงานหนักได้ผลตอบแทนน้อย เป็นอย่างนี้มากว่า 60 ปี นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นภาพฝันของไทยที่ต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก (excess labour supply) ที่ในอดีตมีจำนวนมาก และภาครัฐเห็นว่าราคาค่าจ้างถูกมาก เพราะแรงงานไม่มีทางเลือกในการหาเงินจากระบบเศรษฐกิจแบบตลาด จึงใช้ค่าจ้างราคาถูกเป็นเครื่องมือดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ภาครัฐไทยหลงระเริงกับภาพฝันนี้มาจนถึงปัจจุบันและคิดต่อไปถึงอนาคตอีกยาวนาน ที่จะแข่งกับเวียดนาม เมียนร์มา กัมพูชา ลาว กลุ่มประเทศเอเซียใต้ เป็นต้น เลยลืมไปว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยตกหลุมดำมากว่า 20-30 ปีแล้ว นโยบายแรงงานราคาถูกไม่ได้ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอีกแล้ว ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่มาลงทุน คือ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานทักษะสูง (highly skill labour) ที่มีฝีมือดีเยี่ยมจริง ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มได้เป็นกอบเป็นกำ ไทยแข่งกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงค์โปร์ มาเลเซีย มูลค่าเพิ่มจากแรงงานประเทศคู่แข่งเหล่านั้นเติบโตไปไกลมาก ที่กำลังตามมา คือ เวียดนาม กับอินโดนีเซีย ที่ไล่มาติดหลัง
คนกำหนดค่าจ้างแรงงานคือใคร น่าสนใจว่า คนกำหนดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในหลุมดำมาตลอด และพยายามใช้ค่าจ้างราคาถูกเป็นยากล่อมประสาทรัฐไทยว่า อุตสาหกรรมไทยแข่งขันได้ภายใต้นโยบายค่าจ้างราคาถูก ขณะเดียวกัน กลุ่มเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมและแรงงานก็หลอกตัวเองว่าค่าจ้างแรงงานต้องมีราคาต่ำเพื่อตัวเลขผลิตภาพสูง (productivity) และประสิทธิภาพสูง (efficiency) ด้วยต้นทุนต่ำ แท้จริงแล้ว อุตสาหกรรมไทยกำลังแข่งกับอะไรกันแน่ ???
ประเด็นที่ไม่มีใครยอมออกมาถกเถียงกัน เลยตกหลุมดำกันทั้งระบบเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจทางเลือกได้รับการยกระดับให้มากขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำ หรือ ค่าจ้างเพื่อชีวิต จะไม่ใช่ข้อถกเถียงหลัก ว่าต้องเท่าไร แรงงานไทยจะมีทางเลือกที่จะไปสร้างมูลค่าในระบบเศรษฐกิจได้เอง แต่ ณ วันนี้ เถียงกันแค่ตัวเลขจำนวนหนึ่งเท่านั้น ว่าควรมีค่าเท่าไร สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการ กลับลืมกันไป รวมถึงผู้นำที่ขาดสมอง บอกจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย ซ้ำความโง่ของสังคมมากขึ้นไปอีก
เศรษฐกิจทางเลือกที่ต้องกำหนดกันให้ชัดกับจำนวนแรงงานไทย ที่มีอายุมากขึ้น จำนวนลดลง มีทักษะฝีมือมากกว่าคนอื่น ตัวอย่างเช่น
1. แรงงานไทยมีทักษะสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่มีค่าจ้างต่ำกว่า ราคาค่าแรงงานสะท้อนฝีมือแรงงาน ธุรกิจใดต้องการแรงงานฝีมือดี ก็ต้องมาลงทุนในไทย จะทำอย่างไรจะวางนโยบายดึงธุรกิจที่ใช้แรงงานทักษะสูงมาลงทุน
2. ค่าจ้างแรงงานควรถูกกำหนดโดยแต่ละพื้นที่ท้องถิ่น ไม่ใช่กำหนดโดยรัฐบาลกลาง ซึ่งใช้ฐานจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จ้างงานมากเป็นฐานกำหนดค่าจ้างแรงงาน แล้วลดหลั่นไปตามความเจริญของแต่ละพื้นที่ ถ้าให้พื้นที่ท้องถิ่นกำหนดราคาค่าจ้างได้เอง บางจังหวัดอาจจะมีราคาค่าจ้างไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้นทุนการดำรงชีวิตต่ำด้วย ย่อมทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่า แรงงานจำนวนมากจะไหลกลับไปอยู่ท้องถิ่น เมื่อนั้น พื้นที่จังหวัดอุตสาหกรรมจะต้องดีดค่าจ้างให้เพิ่มขึ้น เพื่อดึงดูดแรงงานให้มาทำงาน หรือถ้าอุตสาหกรรมใดจะจ้างแรงงานทำงานอยู่กับท้องถิ่น ก็ต้องจ่าย ค่าจ้างให้ได้เท่ากับจังหวัดใหญ่
3. รัฐบาลไม่คิดว่าการกระจายการพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการที่ต้องให้แต่ละพื้นที่กำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเอง ลงทุนได้เอง รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้แต่ละพื้นที่ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70-80 ของงบประมาณทั้งหมด รัฐบาลควรถือไว้เองร้อยละ 20-30 ก็เพียงพอ การที่แต่ละพื้นที่กำหนดทิศทางได้เอง ย่อมเกิดการแข่งขัน ภายใต้ขีดความสามารถของแต่ละจังหวัดเอง แรงงานแต่ละพื้นที่จะมีการเคลื่อนย้ายลดลง มีงานในพื้นที่ให้ทำมากขึ้น ณ วันนี้ รัฐบาลรวมศูนย์ทุกอย่างไว้เฉพาะพื้นที่ที่รัฐบาลอยากให้ลงทุน รัฐบาลและสภาพัฒน์ยังใช้ความคิดเดิม ๆ เหมือนในแผนฉบับ 1-3 ไม่เปลี่ยนแปลง
4. การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีแต่สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นสิ่งจำเป็นจริง ๆ ต่อการพัฒนา กลับไม่มีการลงทุนเพิ่ม อาทิ (1) การชลประทานขนาดเล็กเพื่อเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปที่ดิน จัดรูปที่ดิน และการยึดที่ดินคืนจากนายทุนที่รุกพื้นที่สาธารณะ (2) กิจการที่สร้างมูลค่าเศรษฐกิจไม่สูง แต่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมสูงมาก เช่น การลงทุนป่าชุมชน ป่าธรรมชาติ ป่าอนุรักษ์ โดยแรงงานชุมชน ไม่ใช่โดยหน่วยงานของรัฐ ชุมชนได้ผลประโยชน์จากผลผลิตจากป่า (3) การผลิตของชุมชน ที่โครงสร้างพื้นฐาน คือ การลดหรือยกเลิกข้อกำหนดของรัฐ การผลิตสุราพื้นบ้าน พืชสมุนไพร เป็นตัวอย่างที่ดี
5. ความล้มเหลวของการพัฒนาโดยรัฐบาลที่มีข้าราชการเป็นแรงงาน มีค่าจ้างสูง ผลผลิตต่ำ ผลิตภาพต่อแรงงานต่ำมาก เทียบกับตลาดแรงงานโดยรวม ที่สำคัญ ความล้มเหลวดังกล่าวล้วนมาจากการใช้ต้นแบบเศรษฐกิจคัดลอกตัดแปะ (copy and paste economy) คือ คิดทำอย่างเดียวใช้เหมือนกันทั้งประเทศ แบบจำลองดังกล่าวเกิดขึ้นจากฐานรวมศูนย์อำนวจของรัฐบาลกลาง ที่ไม่มีการกระจายความรับผิดรับชอบต่อสังคมแต่ละพื้นที่ (มากกว่าการกระจายอำนาจ) ข้าราชการไทยทำงานบนฐาน "นายสั่ง" มาอย่างไร ก็ทำตามสั่งอย่างนั้น ไม่ใช่ยึด "นาย คือ ประชาชน" แต่ "นาย คือ ผวจ. กรม กระทรวง นายก" แบบจำลองเศรษฐกิจคัดลอกตัดแปะจึงเป็นงานที่ง่าย เร็ว แสดงให้นายเห็นได้ และผลสำเร็จเพียงเห็นไม่เกิน 5 นาที เป็นพอ
ผลของความล้มเหลวจึงตกกับแรงงานในพื้นที่ที่ไม่มีทางจะพัฒนาอะไรได้มากไปกว่า การเคลื่อนย้ายออกไปแสวงหางานอื่นทำ
6. รัฐบาลท่องคาถาอย่างแม่นยำ ว่า แรงงานไทยทำได้เพียงอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ณ วันนี้ ถ้าเข้าไปดูรายละเอียดทักษะฝีมือแรงงานไทย ตั้งแต่ล่างสุดจนถึงแรงงานทักษะสร้างสรรค์ชั้นสูง ไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างมีทิศทาง ที่แบ่งฐานการพัฒนาแต่ละระดับทักษะในระยะยาวและยกระดับฝีมือให้สูงขึ้น ข้อสังเกตที่สะท้อนได้ชัดเจน คือ การฝึกฝืมือแรงงานไทย ทั้งประเทศใช้หลักสูตรเดียวกัน และคิดได้เพียงแรงงานพื้นฐาน เช่น ช่างปูน ช่างเชื่อม ช่างสี ช่างซ่อม ช่างตัดผม ซึ่งล้วนแต่ฝึกโดยใช้เทคโนโลยีเก่า ๆ เกือบทั้งหมด ขณะที่ เทคโนโลยีใหม่และล้ำสมัย รัฐบาลไม่ลงทุน ราชการไทยตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการปิดกลั้นการพัฒนา เช่น การติดตั้งและซ่อมแซมแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หัตถอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จากภูมิปัญญา ศิลปะไทยที่ถูกห้ามนำมาใช้ (ตัวโขน การแสดงชั้นสูง)
7. ประเทศไทยไม่มีแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นแผนพัฒนาที่กว้างและครอบคลุมมากกว่าแผนพัฒนาการศึกษาและแผนพัฒนาแรงงาน แผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มุ่งเป้าการพัฒนาตามศักยภาพ ความสามารถ ฐานความสนใจ ไม่ได้ขึ้นกับการกำหนดทิศทางโดยตลาดแรงงานที่อิงอุตสาหกรรม / ธุรกิจ ที่ใช้แรงงานเข้มข้น อีกทั้ง การกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศที่ไม่พ้นอุตสาหกรรมที่รัฐให้การส่งเสริมการใช้แรงงาน
8. การปิดกั้นการรับงานจากภาครัฐที่กำหนดผู้รับงานต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลเท่านั้น เช่น หน่วยงานราชการต้องการแม่บ้านทำความสะอาด / รปภ. ต้องจ้างแม่บ้าน / รปภ. ผ่านบริษัท บริษัทจ้างคนในท้องถิ่นมาทำงานอีกต่อหนึ่ง แทนที่จะให้ชุมชนรอบหน่วยงานสามารถรับงานได้โดยตรงผ่าน อปท. หรือเครือข่ายภายในชุมชน แรงงานในพื้นที่จะได้ค่าจ้างเต็มตามเพดานที่ราชการกำหนด ไม่ใช่ถูกหักค่าใช้จ่ายของบริษัทออกไปจากค่าจ้างที่รับจากหน่วยงานราชการ นอกจาก คุณสมบัติ นิติบุคคลแล้ว คุณสมบัติอื่น ๆ ที่กำหนดแบบล็อคตายตัวจากรัฐบาลและราชการส่วนกลางยังเป็นข้อจำกัดที่ไม่เอื้อให้แรงงานในพื้นที่เข้าไปทำงานกับรัฐได้โดยตรง เช่น การก่อสร้างขนาดเล็กในชุมชน ที่ช่างชุมชนทำได้ มีต้นทุนต่ำ ข้อกำหนด คือ ต้องประมูลแข่งขันราคา ไม่สามารถจ้างได้โดยตรง
ทั้งนี้ รวมไปถึง กลุ่มชุมชนรวมตัวกันพัฒนาอาชีพกันเอง โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาในระยะแรก เหมือน startup โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขของความล้มเหลวเชิงธุรกิจมาเป็นข้อกำหนดการใช้เงินรัฐ สิ่งที่กลุ่มชุมชนต้องการจริง ๆ คือ การใช้งบประมาณเพื่อลองผิดลองถูกและการล้ม รุก คลุกคลาน หาประสบการณ์ มาปรับกระบวนการทำงาน แต่รัฐกลับให้ข้าราชการมาสั่งสอนชาวบ้านให้ผลิตตามตลาดสินค้า และวัดผลให้ชุมชนต้องส่งเงินคืน
เศรษฐกิจแรงงานยังมีแง่มุมที่ต้องชำแหละอีกมาก ค่าแรงขั้นต่ำ ที่ภาครัฐกำหนดไม่ได้ช่วยให้แรงงานลืมตาอ้าปากได้เลย ภาครัฐเป็นตัวการกดขี่ขูดรีดเอง โดยสมคบคิดกับภาคอุตสาหกรรมที่ล้าสมัย ใช้แรงงานผลิตสินค้าคุณภาพต่ำแข่งขันในตลาดที่แข่งขันไม่ได้อีกแล้ว
มุมมองสำคัญ แรงงาน คือ ทรัพยากรมนุษย์ ที่ต้องได้รับการพัฒนาและดูแลด้วยความเป็นมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจที่ต้องอยู่ได้ หากรัฐยังมองแค่ว่า ค่าแรงขั้นต่ำเพียงพอต่อการสะท้อนราคาความเป็นแรงงาน นั่น คือ หายะนะที่กำลังปั่นทอนระบบเศรษฐกิจในระยะยาว ที่ยากจะแก้ไขได้ เชื่อมโยงต่อไปถึงคนจนในปัจจุบันที่จะส่งต่อความยากจนไปสู่คนรุ่นอนาคต ที่จะกลายเป็นคนจนปัจจุบันในอนาคต
สมบัติ เหสกุล